Lifestyle

สาธิต จุฬาฯ ผนึกญี่ปุ่น เปิดโลกนร.จากประสบการณ์จริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โรงเรียนสาธิต จุฬาฯ ฝ่ายประถม จับมือเมือง KOGE , Fukuoka ประเทศญี่ปุ่น ลงนามโรงเรียนพี่น้อง แลกเปลี่ยนนักเรียน เรียนรู้วัฒนธรรม การใช้ชีวิตจากประสบการณ์จริง

      โลกของการเรียนรู้โดยใช้หูฟัง ตาดู เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพียงปลายนิ้วสัมผัสไปบนแป้นคอมพิวเตอร์ แต่บางครั้งการฟัง ดู โดยไม่ได้ไปสัมผัส เรียนรู้จากสถานการณ์จริง อาจทำให้เกิดการเรียนรู้แต่ไม่สามารถจดจำได้เท่ากับการรู้สึกได้ไปลงพื้นที่จริง   โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม  ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญในการเปิดโลกของการเรียนรู้เด็กๆ ผ่านสถานการณ์จริง ได้ร่วมมือกับเมืองKOGE, Fukuoka ประเทศญี่ปุ่น  ในการแลกเปลี่ยนนักเรียนระดับประถมศึกษา มาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี

      โดยล่าสุด คณะผู้บริหารและนักเรียน จากเมือง KOGE, FUKUOKA ประเทศญี่ปุ่น  ได้เดินทางมาเรียนรู้ ที่ประเทศไทย พร้อมจัดทำสัญญาความร่วมมือโครงการโรงเรียนพี่น้อง สาธิต จุฬาฯ ฝ่ายประถม ซึ่งมีนายชุนซุเกะ ซูโบเนะ นายกเทศมนตรี เมือง KOGE และผศ.ทินกร บัวพูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต จุฬาฯ ฝ่ายประถม ลงนาม

สาธิต จุฬาฯ ผนึกญี่ปุ่น เปิดโลกนร.จากประสบการณ์จริง

      ผศ.ทินกร กล่าวว่าโรงเรียนสาธิต จุฬาฯ ฝ่ายประถม ได้มีความร่วมมือกับทางเมือง KOGE ในการแลกเปลี่ยนนักเรียนให้ได้ไปเรียนรู้ในแต่ละประเทศ ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางคณะผู้บริหารและนักเรียนเมือง KOGE ได้มาเยี่ยมชมที่ประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้มีเพียงนักเรียนไทยไปที่นั้น เนื่องจากผู้ปกครองของนักเรียนประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยในขณะนั้นมีเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบกังวลว่าหากลูกหลานมาประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ แต่ขณะนี้ทางนายกเทศมนตรี เมือง KOGE เป็นผู้นำคณะมาด้วยตนเอง  และเดินทางมาเพียง 3 วัน ซึ่งทางโรงเรียนได้มีการจัดกิจกรรม ทั้งการเข้าร่วมชั้นเรียนดนตรี เล่นกีฬา  และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อต้อนรับคณะผู้บริหาร และนักเรียนแล้ว

       เมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ศ.กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ อดีตอาจารย์จุฬาฯ และเป็นประธานชมรมไทย-ฟูกูโอกะ ซึ่งอาจารย์เป็นคนทำคณะอาจารย์ไปเยี่ยมชมเมืองฟุกุโอกะ และมองว่าน่าจะมีการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทั้งด้านการศึกษา และวัฒนธรรม  ให้เด็กได้ไปเรียนรู้พื้นที่ในต่างประเทศ และเมือง KOGE เป็นได้มาหารือกับทางโรงเรียนสาธิต จุฬาฯ  ฝ่ายประถม จึงได้มีการแลกเปลี่ยนคณะครู นักเรียนร่วมกัน โดยใน2 ปี ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ได้มีโอกาสนำคณะครู และนักเรียนจำนวน 20 คน ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ เมือง KOGE แล้ว

สาธิต จุฬาฯ ผนึกญี่ปุ่น เปิดโลกนร.จากประสบการณ์จริง

       "การติดต่อสื่อสารขณะนี้ ไม่ใช่เพียงผู้คนในประเทศเท่านั้น แต่ต้องสร้างความสัมพันธ์ต่างประเทศด้วย ซึ่งการติดต่อสื่อสารเชิงประจักษ์ต้องเป็นการลงพื้นที่  เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึก มีความเข้าใจทั้งด้านวัฒนธรรม  เรียนรู้พฤติกรรมของเพื่อนๆ จากประเทศอื่น  มีความมั่นใจการสื่อสาร เพราะขณะนี้เรามีการสอนภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลี ให้เด็กได้เรียนรู้ แต่อาจจะไม่เกิดการซึมลึกเท่ากับการลงพื้นที่ได้ฟังสำเนียงเจ้าของภาษา อีกทั้งเด็กจะได้ปรับตัวอยู่ร่วมในสภาพแวดล้อมแตกต่างกันออกไป" ผศ.ทินกร  กล่าว

       ด้าน นายชุนซุเกะ กล่าวว่า 20 กว่า ทางเมือง KOGE ได้ทำการแลกเปลี่ยนกับทางวัฒนธรรมหลายประเทศ เช่น  ออสเตรเลีย โดยประเทศส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษและใช้เวลาในการเดินทางนาน แต่การเดินทางมาประเทศไทยใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งเป็นประเทศที่มีมิตรไมตรีกับญี่ปุ่นมากยาวนาน ทำให้สบายใจที่เลือกมาที่เมืองไทย นอกจากนั้น ตนเป็นนักการเมืองที่อยากทำงานเพื่อสังคม  เพื่อเด็กๆ หากมาเรียน หรือต้องมาเที่ยวที่เมืองไทย ก็อยากให้นักเรียนมาโรงเรียนที่ดีในประเทศไทย  จึงได้เลือกโรงเรียนสาธิต จุฬาฯ ฝ่ายประถม

สาธิต จุฬาฯ ผนึกญี่ปุ่น เปิดโลกนร.จากประสบการณ์จริง

      “การลงนามร่วมกันครั้งนี้ ผมรู้สึกประทับใจที่ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมต้อนรับอย่างดี และอยากทำให้โครงการนี้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งการพานักเรียนญี่ปุ่นมาที่นี้ จะทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และได้รับรู้มุมมองของชาวต่างชาติต่อประเทศญี่ปุ่น  อยากให้เด็กมีความรับผิดชอบ  สำนักรักบ้านเกิดของตนเองมากขึ้น ดังนั้น อยากให้นักเรียนญี่ปุ่นและไทยได้ค้นหาตัวเอง และมีความรับผิดชอบในชีวิตทุกด้าน อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ของเด็ก สิ่งที่จำเป็นอีกอย่าง คือ ต้องมีผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่ได้ศ.กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนโครงการดังกล่าว เปิดมุมมองการเรียนรู้แก่เด็กๆ” นายชุนซุเกะ กล่าว

      ศ.กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ กล่าวว่าโครงการนี้จะทำให้เด็กได้เห็นและรับรู้แนวปฏิบัติผ่านประสบการณ์จริง เพราะการที่พวกเขาได้เห็น รับฟังเรื่องราวผ่านสื่อต่างๆ แต่ไม่ได้เรียนรู้จากสถานที่จริง อาจทำไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เมื่อได้แลกเปลี่ยนไปญี่ปุ่น อยู่ในครอบครัว เห็นระเบียบวินัย ทานอาหาร การใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น ทำให้นักเรียนไทยได้เห็นว่าที่ได้ยิน ได้ฟังของสื่อ เรียนรู้จากสถานที่จริง  สัมผัสด้วยใจที่อยากจะทำให้บ้านเมืองสะอาดเป็นอย่างไร รวมถึงได้เห็นพ่อแม่ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแบบอย่างในการให้เด็กๆ พยายามช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม หลักการเรียนรู้ของประเทศญี่ปุ่นนั้น ต้องให้ความรู้ ประสบการณ์ สามัญสำนึกด้วยตนเอง และการตัดสินใจที่ถูกต้อง

สาธิต จุฬาฯ ผนึกญี่ปุ่น เปิดโลกนร.จากประสบการณ์จริง

       ตบท้ายด้วย ผศ.ทญ.ดร.อรพินท์ โคมิน ประธานหน่วยทันตกรรมผู้สูงอายุ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้ปกครอง กล่าวว่าการให้ลูกๆได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น การใช้ภาษาในการสื่อสาร และที่สำคัญทำให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ ดูแลตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ชั้นเรียนอย่างเดียว หรือตามสื่อต่างๆ อาจไม่เพียงพอ หากไม่ได้ลงไปสัมผัสจากสถานที่จริง ประสบการณ์จริง หน้าที่ของพ่อแม่ต้องคอยให้คำแนะนำ สนับสนุน และเปิดมุมมอง ประสบการณ์ชีวิตให้แก่ลูก อาจไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ ในประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้มากมายที่พ่อแม่จะช่วยเติมเต็มแก่ลูก

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ