Lifestyle

เช็คร่างกายให้พร้อมก่อนวิ่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขา สพฉ.แนะนักวิ่งตรวจสภาพร่างกายตนเองให้พร้อมก่อนออกกำลังกาย หลังพบป่วยฉุกเฉินจากอาการหัวใจหยุดเต้นจากการแข่งวิ่งหลายราย ล่าสุดชายอายุ 54 ปีหมดสติแต่ช่วยทัน

       กรณีโลกออนไลน์แชร์คลิป พร้อมระบุข้อความ "นาทีชีวิต ทีมกู้ภัยและหมอล็อตช่วยกันทำ CPR" เพื่อช่วยเหลือชายคนหนึ่งซึ่งที่หมดสติและไม่หายใจ ในจุดเข้าเส้นชัย ขณะวิ่งมาราธอน โครงการเพื่อผู้พิทักษ์ปี 3 "ชีวิตของข้า เพื่อป่าของไทย"ระยะทาง10 กิโลเมตร ภายในสวนหลวง ร.9โดยชายคนดังกล่าวที่หมดสตินั้นทราบชื่อต่อมาคือ นายสรรเสริญ อ่อนน้อม อายุ 54 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ที่รอดชีวิตอย่างหวุดหวิด โดยขณะนี้นายสรรเสริญ อยู่ระหว่างพักฟื้นจากการสวนหัวใจเนื่องจากตรวจพบเส้นเลือดหัวใจตีบ และอาการดีขึ้นตามลำดับ

       พร้อมกันนี้ นายสรรเสริญ ได้กล่าวขอบคุณ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อตและแพทย์หญิง ณิชยา วัฒนกำธรกุล  หรือ หมอฝน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ และทีมเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ช่วยชีวิตไว้ในวันนั้นด้วย พร้อมระบุว่า ตนนั้นเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ถ้าไม่ได้ทีมแพทย์ ทำการช่วยเหลือด้วยวิธีการ CPR ตนคงเสียชีวิตไปแล้ว เพราะหลังจากตนล้มหมดสติ หัวใจได้หยุดเต้น

       ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  ได้แนะวิธีการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า  ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะมีสมรรถนะของร่างกายลดลง เพราะจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และการบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจแต่ละครั้งได้ปริมาณน้อยลง ทำให้ปริมาณเลือดที่หัวใจส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง เป็นผลให้ปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายนำไปใช้ลดลงด้วย

      พร้อมชี้ว่า โดยพื้นฐาน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะออกกำลังกายได้คล้ายๆ กับในคนปกติ เพียงแต่ควรจะเน้นไปที่การออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว ขี่จักรยาน วิ่งเหยาะๆ และว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่แนะนำ ได้แก่ ปิงปอง เทนนิสคู่ กอล์ฟ เป็นต้น

      ร.อ.นพ.อัจฉริยะ  กล่าวว่า ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาใดๆ ผู้ป่วยทุกคนควรปรึกษาแพทย์ และควรออกกำลังแต่พอเหมาะ ช่วงที่เริ่มออกกำลังกายระยะแรก ควรซ้อมเบาๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน และหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อย หรือแน่นหน้าอก หลังจากที่เริ่มเคยชินก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาของการออกกำลังกาย จนสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และทำเป็นประจำทุกวันที่สำคัญต้องไม่ลืมเตรียมร่างกาย (warming up and down) ก่อน และหลังการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และควรทำทุกครั้ง

       “สำหรับบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วน ไม่เคยออกกำลังกายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอาทิ  ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ท่านต้องปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย  และก่อนที่จะทำการวิ่งก็จะต้องมีการ Warmup ร่างกายอย่างเพียงพอ ไม่ใช่มาถึงก็โหมวิ่งเลยทันที และที่สำคัญต้องฟังสัญญาณร่างกายของตนเองเพราะหากร่างกายรู้สึกไม่ไหวจะฟ้องเราออกมาทันทีอาทิหากในระหว่างวิ่งมีอาการหน้ามืด เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายให้หยุดวิ่งและรีบปรึกษาแพทย์ทันที”เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

      ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต ที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือนายสรรเสริญที่หมดสติในงานวิ่งครั้งนี้ กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันนั้น ตนเข้าไปร่วมในการวิ่งมาราธอนด้วย ระหว่างวิ่ง มีเสียงประกาศตามสายว่า ใครเป็นหมอบ้าง ให้มาช่วยทำCPR เนื่องจากมีคนล้มหมดสติบริเวณก่อนถึงเส้นชัยไม่กี่เมตร  ด้วยความเป็นหมอที่เคยร่ำเรียนมา จึงเดินเข้าที่เกิดเหตุ และช่วยทำ CPR ให้ โดยทำการจับ ชีพจร ปั๊มหัวใจ และเตรียมที่จะผายปอดเพื่อทำการกระตุ้น ซึ่งระหว่างนี้รถพยาบาลฉุกเฉิน ก็มาถึงที่เกิดเหตุอย่างทันท่วงที และก็โชคดีที่ลุงคนนี้ก็รู้สึกตัวในที่สุด

      “แต่เรื่องนี้ผมไม่อยากให้มองว่า เป็นเรื่องโชคดี ดวงหรือโชคชะตา แต่เกิดจากการเตรียมความพร้อม อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งทีมงาน หน่วยกู้ภัย ทีมแพทย์ที่อยู่ในสนาม ซึ่งทุกคนน่ารักมาก มีการเตรียมตัว เตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี  และเรื่องนี้ผมไม่อยากให้มองว่า ผมเป็นฮีโร่ หรือมาเชิดชูอะไรในตัวผม แต่ผมทำตามหน้าที่ในความเป็นหมอ ตามหลักมนุษยธรรมที่ต้องการเชื่อเหลือเพื่อนมนุษย์”หมอล็อต กล่าวและว่าการเรียนรู้เรื่องการ CPR เป็นสิ่งที่ดีเพราะประชาชนทั่วไปก็สามารถฝึกในการทำ CPR ด้วยตนเองได้ เพราะหากเราสามารถทำการ CPR เป็นเราก็จะสามารถช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินคนอื่นๆ ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ