Lifestyle

เจาะหา“คนเสียรายได้”บัตรทอง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ใคร”คือ“คนเสียรายได้”จากการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายบัตรทอง และ “ใคร”คือ“เอ็นจีโอ”ที่พล.ท.สรรเสริญจับประเด็นผิดว่ารับเงินส่วนลดจากการจัดซื้อยาปริมาณมากของสปสช.กับอภ.

     “ใคร”คือ“คนเสียรายได้”จากการแก้ไขปรับปรุงพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือกฎหมายบัตรทอง ตามที่บุคลากรทางการแพทย์แชร์รูปพร้อมข้อความในโซเชียลมีเดียว่า “คนไข้บัตรทองไม่ต้องกลัวแก้กฎหมายบัตรทอง ถ้าบัตรทองห่วยลง หมอจะไปช่วยประท้วงด้วยคน ตอนนี้มีแต่พวกเสียรายได้ที่กลัวการแก้กฎหมาย” และ“ใคร”คือ“เอ็นจีโอ”ที่พล.ท.สรรเสริฐ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อยาที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ดำเนินการเมื่อซื้อขายยาปริมาณมากจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.)จะได้่รับส่วนลดและกันเงินที่เหลือมอบให้กลุ่มเอ็นจีโอไปทำภารกิจองค์กร ก่อนที่ต่อมาจะออกมาระบุว่า “เป็นการจับประเด็นผิด” 

      “คมชัดลึก"ได้พยายามสืบเสาะหา “ใคร”ที่ถูกกล่าวอ้างถึง โดยเริ่มจากเนื้อหาสาระในร่างกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่ว่ามี “บุคคล”ใดปรากฎชื่อบ้าง เพราะคนที่ถูกอ้างว่าเสียรายได้จากการแก้กฎหมายนี้  ก็น่าจะต้องเป็นคนที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาที่มีการแก้ไขในร่างกฎหมาย

        พบว่า มี 6 มาตราที่เกี่ยวข้องกับ “คน” โดยมาตรา 13 องค์ประกอบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) มีการเพิ่มให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นรองประธาน ผู้แทนหน่วยบริการ 7 คน และเพิ่มผู้แทนด้านคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 32 เรื่องคุณสมบัติเลขาธิการสปสช. มีการเพิ่มกรณีเป็นบุคคลใน 1 ปีต้องไม่เคยเป็นคู่สัญญาหรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวกับกิจการของสปสช. กรณีนิติบุคคล ภายใน 1 ปีไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียกับสปสช. เว้นแต่เป็นกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และไม่ได้แสวงหากำไร

       มาตรา 41 และ 42 เพิ่มให้มีการจ่ายเงินชดเชยเบื้องต้นให้กับผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการด้วยจากเดิมจ่ายให้เฉพาะผู้รับบริการ และให้ยกเลิกการไล่เบี้ยเอาแก่ผู้กระทำผิด มาตรา47/1 เรื่องการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร หรือเอ็นจีโอ ให้รับค่าใช้จ่ายได้จากหน่วยบริการหรือจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ จากเดิมไม่มีมาตรานี้ ที่ผ่านมาจึงรับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และมาตรา 48 องค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เพิ่มเช่นเดียวกับองค์ประกอบบอร์ดสปสช.

      กลุ่มบุคคลใน 6 มาตรานี้ จะมีกลุ่มไหนใช่ “คนเสียรายได้”ที่มีการระบุถึงหรือไม่??? 

      ก่อนหน้านี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้รายงานผลการตรวจสอบประเมินผลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ลชาติ(สปสช.) ปีงบประมาณ 2554  โดยส่วนหนึ่งระบุว่า จากการตรวจสอบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 พบว่า เลขาธิการสปสช.ได้อนุมัตินำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก จำนวน 95,325,000 บาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ(สถานพยาบาล) ถือว่าไม่เป็นไปตามที่พรบ.หลักประกันสุขภาพฯกำหนดไว้  

     และสตง.ระบุว่าในปีงบประมาณ 2551-2552 สปสช.มีการนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นเงิน 165,564,740 ล้านบาท และสปสช.ได้เบิกจ่ายไปจัดสวัสดิการ เช่น การจ่ายเพื่อประโยชน์แก่การสนับสนุนการปฏิบัติงานและการจัดทำโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศ เป็นต้น  ซึ่งสตง.เสนอแนะให้สปสช.นำเงินส่วนนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของหน่วยบริการ เพราะงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อเป็นเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

    ในเรื่องนี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินในส่วนนี้ต้องทำเรื่องเสนอโครงการเพื่อให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติ แต่ผู้อนุมัติปล่อยเงิน คือ ผู้อำนวยการอภ. สัดส่วนการจัดสรรเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐนี้ ร้อยละ 80 ตามโครงการหรือกิจกรรม เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยบริการและบุคลากรของหน่วยบริการ และอีกร้อยละ 20 เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานการพัฒนาระบบหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งกิจกรรมสาธารณประโยชน์  ตั้งแต่ปี 2557-2559 มีโครงการที่สนับสนุนเอ็นจีโอ 1 โครงการ คือ โครงการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย วงเงิน 1.5 แสนบาท

    ทว่า ผลของการตรวจสอบดังกล่าว ถูกอ้างถึงว่าเป็นเหตุผลหนึ่งในการนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพฯ

    นอกจากนี้ สตง.เคยรวบรวมชื่อโครงการและรายชื่อบุคคลที่รับสนับสนุนจากสปสช.โดยที่ไม่ใช่หน่วยบริการ(สถานพยาบาล) คือ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติปี 2553 จำนวน 4.7 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 10 ล้านบาทมูลนิธิแพทย์ชนบทปี 2552 จำนวน 9.2 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 2.1 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 3.5 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 4.5 ล้านบาท 

     โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(HITAP) ปี 2555 จำนวน 13.6 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 7.2 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 7.2 ล้านบาท มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพปี 2555 จำนวน 3 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 4 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 3 ล้านบาท มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคปี 2554 จำนวน 4.2 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 4.6 ล้านบาท และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ปี 2553 จำนวน 24.8 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 13.6 ล้านบาท

      ทั้งหมดทั้งมวล คงได้รับความกระจ่าง หากรัฐบาลจะมีการดำเนินการตรวจสอบเอ็นจีโอตามที่กลุ่มเอ็นจีโอ นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มแพทย์อย่าง พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการสาธารณสุข(กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ออกมาท้านายกรัฐมนตรีและจี้รัฐบาลให้เร่งตรวจสอบ 

          คงเป็นสิ่งที่รัฐบาลมิอาจเพิกเฉยไม่ตรวจสอบได้อีกต่อไป!!!

0 ทีมข่าวคุณภาพชีวิต 0 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ