Lifestyle

ตลาดต้องการแรงงานสายวิชาชีพสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สสค. จับมือ สพฐ. เปิดผลวิจัย “การศึกษา-ตลาดแรงงาน” สานฝันไทยแลนด์4.0 นักวิจัยชี้ต้องสร้างแรงงานฝีมือเพิ่มร้อยละ 50 ราว 12 ล้านคนภายใน 10 ปี

        ตลาดแรงงานไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือ-ป.ตรีล้นตลาด เหตุระบบการศึกษาไทยผลิตคนไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ต้องปูพื้นฐานทักษะวิชาชีพนักเรียนทุกช่วงวัย ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในปัจจุบัน คาดพร้อมก้าวสู่ยุค 4.0 เต็มตัวได้ในอีก 15 ปีข้างหน้า

         เพื่อสะท้อนภาพประเด็นดังกล่าวสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณgภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำเสนอผลวิจัย “การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน” โดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากการวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ภายใต้โครงการการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน พบว่า ตลาดแรงงานไทยในวันนี้มีความต้องการแรงงานในสายวิชาชีพที่จบ ปวช. ปวส. และ ม.6 ที่มีทักษะอาชีพพอที่จะไปทำงานได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ ใน 4-5 ปีข้างหน้า เพราะแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 ด้วยความรวดเร็ว ซึ่งข้อมูล Human Capital Report 2016 พบว่าสัดส่วนของแรงงานฝีมือของประเทศ สวีเดน เยอรมณี สิงค์โปร และฟินแลนด์ นั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 48 ส่วนประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 14.4 ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างค่อนข้างมาก

ตลาดต้องการแรงงานสายวิชาชีพสูง

       “โครงสร้างแรงงานที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ยุค 4.0ได้คือประเทศไทยจะต้องมีแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50  แต่ปัจจุบันกลับมีเพียงร้อยละ 20 และเมื่อดูข้อมูลจะพบว่า อัตราผู้เรียนจบปริญญาตรีในปี 2559 มีผู้ว่างงานถึง 1.79 แสนคน ซึ่งหลายๆ จังหวัดของไทยยังเป็นเศรษฐกิจในยุค 2.0 การจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ 3.0 และ 4.0 ได้ จะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานในสายวิชาชีพ แต่อีกหลายจังหวัดยังอยู่ที่ 2.0 หรือ 3.0ก็จะยิ่งสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการผลิตคนในสายอาชีพนั้นไม่จำเป็นจะต้องผลิตผู้เรียนที่จบอาชีวะเพียงอย่างเดียว แต่สามารถขยายสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา ให้นักเรียนได้เรียนวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่เป็นวิชาเสริมในการเรียนได้ ซึ่งก็จะช่วยให้เด็กมัธยมที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อสามารถหางานทำได้ และยังช่วยให้นักเรียนกลุ่มนี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อีกด้วย ดังนั้นเพื่อไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เราจึงต้องการแรงงานฝีมืออีกไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน ภายใน 10 ปี”

ดร.เกียรติอนันต์ ยังระบุอีกว่าวันนี้ภาคการศึกษาของไทยเริ่มขยับตัวบ้างแล้ว แต่หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น  สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องร่วมกันฝึกทักษะวิชาชีพให้กับเด็กนักเรียน รวมไปถึงคนที่อยู่ในวัยทำงานตอนต้นที่ออกไปทำงานแล้วในขณะนี้ให้มีทักษะวิชาชีพที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งหากสามารถทำควบคู่กันไปได้เชื่อว่าภายในระยะเวลา 5 ปีก็จะเริ่มเห็นภาพการขับเคลื่อนที่การพัฒนากำลังคนและเป้าหมายที่ชัดเจน และคาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้เต็มตัวในอีก 15 ปีข้างหน้าหรือในปี 2575

ขณะที่ ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล รองคณบดีด้านการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการวิจัย “การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา” โดยพบว่าในเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาจะมีทักษะชีวิต มีเข้าใจในเรื่องของครอบครัว แต่ความเข้าใจตรงนี้จะเริ่มลดลงไปเมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่สอนให้เด็กๆ มีรูปแบบและวิธีการคิดที่เหมือนๆ กัน เพราะข้อมูลที่ได้รับสะท้อนในเรื่องของความจำที่เหมือนกันทั้งหมด

“ถึงแม้ว่าเราจะมีการสอนในเรื่องของการงานอาชีพอยู่ในหลักสูตรแกนกลาง แต่ระบบการศึกษาของเราใส่เนื้อหาในลักษณะของการท่องจำเข้าไปเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้บอกว่าชีวิตจริงนั้นมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และการจัดการเรียนการสอนนั้นยังเป็นไปแบบการขาดความเข้าใจที่แท้จริงในปลูกฝังทักษะวิชาชีพเข้าไป ดังนั้นสิ่ง สสค. ทำซึ่งประกอบไปด้วย การวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงาน, การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ และการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้แต่ละจังหวัดได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น และมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรอย่างไรในการพัฒนาเด็กให้ตอบโจทย์ของพื้นที่ในเรื่องแรงงาน โดยใช้จังหวัดเป็นฐานกำหนดยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด ก็จะทำให้แต่ละจังหวัดก็จะสามารถประสบความสำเร็จในการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชนได้”

ตลาดต้องการแรงงานสายวิชาชีพสูง

       นอกจากนี้ในการนำเสนอผลการวิจัยฯ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ยังได้สรุปถอดบทเรียน “การศึกษา เศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน” จากการทำวิจัยครั้งนี้ โดยระบุว่าการจัดการศึกษาต้องดูนโยบายของประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อลงไปในระดับพื้นที่ จะต้องดูบริบทของพื้นที่นั้นๆ เป็นสำคัญ เพราะประเทศไทยไม่ใช่จังหวัด แต่ผลรวมของทั้ง 77 จังหวัดต่างหากที่คือประเทศ ดังนั้นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จึงต้องตอบโจทย์จังหวัดของตัวเองให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก

       “บทเรียนและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่พบจากการทำงานในครั้งนี้ คือการจัดการเรียนการสอนในโลกยุค 4.0 ดังนั้นสิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จึงมี 4เรื่องสำคัญคือ หนึ่งประเทศไทยไม่ใช่จังหวัด  แต่ผลรวมของทั้ง 77 จังหวัดคือประเทศ สองโรงเรียนไม่ใช่ศูนย์กลาง แต่จะเป็นระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ สามทุกภาคส่วนจะเป็นต้องเข้ามาร่วมเป็นขบวนการช่วยกันทำงาน และสุดท้ายคำว่าตอบโจทย์การพัฒนาจังหวัดหรือการพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักข้อมูลทุกๆ ด้านในจังหวัดของตนเอง”ดร.เกียรติอนันต์ระบุ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ