Lifestyle

สุดยอด! 2 ผู้พิการคนกล้า...แห่งอ.นาทวี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ใหม่ ศรีชำนุ”-“สีเขวน เหมนุ้ย”  ผู้พิการคนกล้า...แห่งอ.นาทวี 0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0

   “หลังเสียขาข้างหนึ่ง 1ปีเต็มที่ผมอยู่แต่ในห้อง ไม่ออกไปไหน ขี้เยี่ยวที่นั่น จนใกล้บ้า” ใหม่ ศรีชำนุ วัย 42 ปี เริ่มต้นเล่า“คมชัดลึก”เมื่อขอให้บอกถึงที่มาที่ไปที่ได้มาทำงานที่ รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา ก่อนจะออกตัวขึ้นก่อนว่าไม่ขอเล่าถึงเหตุการณ์สึนามิ เพราะทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า“สึนามิ”จะรู้สึกถึงภาพที่ติดอยู่ในใจเสมอ แต่เมื่อพูดคุยกันถึงเรื่องการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักกายภาพบำบัดได้สักระยะหนึ่ง “ใหม่”ก็เล่าเรื่องราวขึ้นเองด้วยสีหน้าที่ผ่อนคลายว่า

สุดยอด! 2 ผู้พิการคนกล้า...แห่งอ.นาทวี

        ใหม่ เป็นชาวจ.สมุทรปราการ ส่วนภรรยาเป็นคนอ.นาทวี จ.สงขลา 12 ปีก่อนทั้งคู่ทำงานเป็นพนักงานโรงแรมที่จ.ภูเก็ต ช่วงเวลาที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ใหม่ กอดลูกชายคนเล็กที่มีอายุได้เพียง 3 เดือนไว้ในอ้อมกอด แต่ขาข้างหนึ่งกลับถูกเรือที่พัดขึ้นกับคลื่นทับไว้ ทำให้ขยับไม่ได้ ลูกจึงหลุดออกไปจากมือ เขาต้องพยายามดึงขาออกจากเรือเพื่อจะช่วยลูก ทำให้ต้องสูญเสียขาข้างหนึ่งตั้งแต่ระดับหน้าขาลงไป

         หลังจากนั้นภรรยาจึงพาเขาและลูกคนโต กลับมาอยู่กับพ่อตาและแม่ยายที่บ้านเกิด อ.นาทวี โดยในเวลานั้น ใหม่ เหมือนคนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ซังกะตาย ใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้องแคบๆ จะกิน จะถ่ายหรือทำทุกสิ่งก็อยู่เฉพาะในห้อง ไม่พูดจากับใคร ส่วนภรรยาก็จะคอยนำข้าวมาให้กิน เก็บผ้าเปื้อนไปทิ้ง ทำความสะอาดห้องหลังกลับจากการไปกรีดยางตั้งแต่ตอนเช้ามืดเป็นแบบนี้อยู่นับปี

      กระทั่ง วันนึงได้ยินพ่อตาแม่ยายพูดกับภรรยาว่า “จะดูแลไปแบบนี้หรือ พิการ ใกล้บ้าแล้ว ต้องเลี้ยงตลอดชีวิต” จากประโยคนั้นทำให้คิดและตั้งคำถามกับตนเองว่า “เออ เรามัวทำอะไรอยู่ ทำไมเราทำตัวแบบนี้ ทั้งๆที่ลูกคนโตและภรรยาของเราก็ยังอยู่” จึงคลานออกจากห้องมาทำความสะอาดร่างกายตนเอง

       “ยังจำวินาทีนั้นได้ วินาทีที่แฟนกลับจากกรีดยางแล้วเห็นเราอยู่นอกห้องในสภาพที่สะอาดสะอ้าน เขายิ้มดีใจมาก ก็พูดว่ายังไม่ดี ออกมาทำไม แต่เราก็รู้ว่าเขาดีใจ” ใหม่บอกด้วยแววตาแฝงยิ้ม

สุดยอด! 2 ผู้พิการคนกล้า...แห่งอ.นาทวี

        จากนั้นเริ่มฝึกใช้ไม้ค้ำเดิน 2-3 วันออกไปกรีดยางกับแฟน โดยใช้ไม้ค้ำปักไว้กับดินแล้วสอดท่อนขาเข้าไปตรงกลางเพื่อพยุงตัวแล้วหัดตัดยาง ตัดยางช่วยแฟนอยู่ราว 2 ปี เจ้าหน้าที่รพ.สมเด็จฯก็เข้าไปบอกว่ามีโครงการไปอบรมทำขาเทียมที่จ.เชียงใหม่สนใจจะไปเรียนหรือไม่ ก็ตัดสินใจเดินทางไปโดยรถทัวร์มีไม้ค้ำช่วยเดินใช้เวลาอยู่ที่นั่น 3 เดือน ได้รับขาเทียมของตนเองและเรียนรู้วิธีการทำขาเทียมเพื่อนำมาทำบริการให้ประชาชนที่จำเป็นใส่ขาเทียมที่ศูนย์ขาเทียม มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ นาทวี เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว มีรายได้ประจำเลี้ยงครอบครัวและช่วยภรรยากรีดยางทุกเช้าก่อนมาทำงานที่รพ. และทุกปีจะร่วมออกหน่วยพระราชทานขาเทียมทั่วประเทศ

       ใหม่ บอกว่า การที่เขาได้ทำงานนี้ ภูมิใจมาก ช่วยให้คนที่ขาขาดกลับมามีขาและเดินได้อีกครั้ง เวลาที่คนไข้ยกมือไหว้ขอบคุณที่ช่วยเขาเดินได้ เป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย ที่สำคัญ เราเป็นคนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาเช่นนั้นมา จึงทำให้เข้าอกเข้าใจจิตใจของคนไข้ได้เป็นอย่างดี เวลาที่คนไข้บ่นท้อ เราก็พูดให้กำลังใจบอกเล่าเรื่องราวตนเอง เพื่อเป็นกำลังใจให้เขามีแรงสู้ ซึ่งในการลุกขึ้นมามีชีวิตได้อีกครั้ง หลังจากรับไม่ได้กับความพิการของตนเอง ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะดึงเราออกมาจากการจมอยู่กับทุกข์

       “คนพิการไม่ได้ต้องการให้เห็นพวกเขาแล้วสงสาร เพราะมันจะเกิดขึ้นแค่วันเดียว สิ่งที่ต้องการคือโอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการประกอบอาชีพ เพราะมันจะช่วยเขาได้ตลอดชีวิต คนพิการไม่ได้อยากขอทาน แต่เพราะเขาไม่มีโอกาสทำอาชีพอื่น เขาก็ต้องไปขอทาน หากมีโอกาสเขาก็ไม่อยากขอทาน” ใหม่ บอกกับ “คมชัดลึก”ก่อนสิ้นสุดการพูดคุย

     เรื่องราวความมุมานะ มุ่งมั่นเพื่อมีอาชีพของใหม่ ศรีชำนุไม่แตกต่างจาก สีเขวน เหมนุ้ย วัย47 ปี ที่พิการทางสายตา ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นหมอนวดแผนไทย รพ.สมเด็จฯนาทวีเช่นกัน

สุดยอด! 2 ผู้พิการคนกล้า...แห่งอ.นาทวี

        นายสีเขวน เล่าว่า เมื่อราวปี 2529 ได้ฟังจากวิทยุว่ามีการสอนคนตาบอดให้ประกอบอาชีพเป็นหมอนวดแผนไทยอยู่ที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงตั้งใจที่อยากจะไปเรียน แต่ในเวลานั้นครอบครัวไม่อนุญาตเพราะเป็นห่วงเรื่องความเป็นอยู่ที่อาจจะลำบาก เนื่องจากเป็นอิสลามหากใช้ชีวิตตามลำพังเกรงว่าจะมีปัญหาต่างๆและขาดปัจจัยทางด้านการเงิน ระหว่างนั้นก็ทำงานอยู่ที่บ้าน ทำสวน ตัดกล้วยส่งแม่ค้า รับปอกและขูดมะพร้าว รายได้หลักก็จะมอบให้ครอบครัว แต่จะเจียดส่วนที่ได้รับเกินจากคนว่าจ้างเก็บสะสมเป็นเงินส่วนตัว

      “ผมใช้เวลา 10 ปีในการสะสมเงิน ยังจำ จำนวนเงินได้อย่างแม่นยำว่าได้ 5,740 บาท ก็ตัดสินใจพูดกับครอบครัวอีกครั้ง อธิบายให้เข้าใจและขอให้ญาติที่เป็นครูมาช่วยพูดด้วยใช้เวลาเกลี้ยกล่อม 4-5 เดือน ในที่สุดผมก็ได้เดินทางมาเรียนนวดแผนไทยที่อ.ปากเกร็ดในปี 2539” สีเขวน กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

        มาเรียนที่ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด มูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่อ.ปากเกร็ด เริ่มจากเรียนรู้การใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป การเดินทาง การเคลื่อนไหว การช่วยเหลือตนเองในเรื่องต่างๆ และอักษรเบลล์ ควบคู่หลักสูตรแพทย์แผนไทยวิชาชีพประเภท ก ใช้เวลา 800 ชั่วโมง เป็นการเรียนนวดเบื้องต้น ใช้เวลา 2 ปี ปีแรกจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพและร่างกายมนุษย์ ส่วนปีหลังฝึกงานด้านการนวด

สุดยอด! 2 ผู้พิการคนกล้า...แห่งอ.นาทวี

    ช่วงเวลานั้นก็ได้เรียน จนจบกศน.ระดับม.ปลายด้วย จากนั้นตัดสินใจใช้วิชาชีพหมอนวดแผนไทยส่งตัวเองเรียนในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นคนพิการรุ่นแรกๆที่เข้าเรียน โดยสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนพิการในสมัยนั้นยังมีไม่มาก ใช้เวลา 3 ปีครึ่งก็สำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิตย์จากรั้วพ่อขุน แม้ตอนเรียนจะยาก แต่สีเขวน บอกว่า ถ้าตั้งใจก็ทำได้

     เขาใช้เวลาอยู่ในเมืองหลวงกว่า 6 ปี เก็บเงินได้ 1 แสนกว่าบ้าน นำกลับมาปลูกบ้านที่นาทวี สร้างครอบครัวมีลูก 2 คน โดยมีอาชีพหลักเป็นหมอนวด รับนวดอยู่ที่บ้าน มีรายได้ราว 9,000- 17,000 บาทต่อเดือน จนปี 2555 ได้เข้าเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ตำแหน่งนวดแพทย์แผนไทย ที่รพ.สมเด็จฯนาทวีทำงานจันทร์-ศุกร์ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็จะรับนวดที่บ้าน ปัจจุบันมีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ถือว่าทำตามฝันได้สำเร็จ

       “ที่ผมมุ่งมั่นอย่างมากให้ตัวเองมีอาชีพทำ ใช้เวลา 10 ปีเก็บเงินเพื่อไปเรียนนวดแผนไทย เพราะผมคิดว่าคนเราถ้าไม่มีอาชีพสุจริตทำ ก็ไม่ได้ใช้คุณค่าที่ตัวเองมีอยู่ และเชื่อว่าการนวดเป็นอาชีพที่เราจะทำได้ เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมาก” สีเขวน กล่าวทิ้งท้าย

       ปัจจุบันทั้ง 2 คนนับเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการให้กำลังใจและช่วยเหลือดูแลคนพิการและชาวบ้านในอ.นาทวี ร่วมกับประชาชนในพื้นที่อ.นาทวี ภายใต้เครือข่าย“คนนาทวีไม่ทอดทิ้งกัน” ซึ่งอ.นาทวีได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางการทำงานเพื่อประชาชน โดยมีการรวมกลุ่มคนในชุมชนที่เห็นปัญหาของตนเองแล้วหยับประเด็นนำมาสู่การวางแนวทางเพื่อแก้ปัญหา กลายเป็นการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่เข้มแข็ง ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ สร้างสังคมเข้มแข็งมีหน่วยงานราชการในพื้นที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงานของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ นาทวี”

0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ