Lifestyle

เรียนรู้จากวิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ไปกับ สสวท. 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยข้อเท็จจริงของสาเหตุวิกฤตน้ำท่วมภาคใต้แบบเข้าใจง่ายรวมทั้งวิธีการปฏิบัติขณะเกิดน้ำท่วม

   

    น้ำท่วม จัดเป็นธรณีพิบัติภัยประเภทหนึ่ง ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนอยู่ในรายวิชาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับ สาเหตุ กระบวนการเกิด พื้นที่เสี่ยงภัย การเฝ้าระวัง และป้องกัน รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากพิบัติภัยต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

   ว่าที่ร้อยตรีภูริวัจน์ จิราตันติพัฒน์ สาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาตอนปลาย สสวท. อธิบายว่าน้ำท่วมเป็นพิบัติภัยที่น้ำไหลบ่าท่วมพื้นดินที่ปกติจะแห้งโดยมี2รูปแบบ ได้แก่น้ำท่วมบริเวณต้นน้ำหรือที่เราเรียกว่า น้ำป่าไหลหลาก จะเกิดบริเวณภูเขาที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่ประกอบด้วยลำธารเล็ก ๆ จำนวนมาก เมื่อฝนตกหนักเป็นเวลานาน น้ำจะไหลซึมลงดินไม่ทัน ทำให้ล้นเอ่อมาตามลำธารบนภูเขา และไหลด้วยความเร็วค่อนข้างมาก น้ำจะพัดพาเศษดิน เศษหิน กิ่งไม้มาด้วย

เรียนรู้จากวิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ไปกับ สสวท. 

 ว่าที่ร้อยตรีภูริวัจน์ จิราตันติพัฒน์

    ซึ่งอาจจะทำให้เกิดดินถล่มตามมาได้และอีกรูปแบบหนึ่ง คือ น้ำท่วมบริเวณปลายน้ำ จะท่วมที่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงซึ่งมีความสูงของพื้นที่ใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเลมีปริมาณน้ำจากบริเวณต้นน้ำไหลลงมาจำนวนมาก จนไหลลงสู่ทะเลไม่ทันทำให้เกิดเป็นน้ำท่วมขังยาวนานหลายสัปดาห์

     สำหรับข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อประสบภัยน้ำท่วมนั้นเมื่อเราเป็นผู้ประสบภัย เราไม่ควรลงไปลุยน้ำ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟรั่ว เราควรหลีกเลี่ยงการลงไปเล่นน้ำหรือจับปลาที่มากับน้ำท่วม เพราะอาจทำให้จมน้ำได้ เมื่อต้องการอพยพ ก็ควรทำตามแผนอพยพไปอยู่ในสถานที่ ๆ ปลอดภัย ไม่ควรใช้รถยนต์ในการหนีน้ำท่วม เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์ดับ หรือถูกกระแสน้ำพัดพาไป

     ในกรณีที่เกิดดินถล่ม ให้ระมัดระวังก้อนหินกิ่งไม้ ที่อาจหล่นมาทับได้ ควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น ฉี่หนูอหิวาตกโรค ควรเก็บขยะไว้ในถุงก่อน เมื่อน้ำลดแล้วจึงนำไปทิ้งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันโรคระบาดหากมีผู้ป่วยต้องการแพทย์ฉุกเฉินให้กด โทร.1119และ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โทร.1111กด5ควรหมั่นติดตามข่าวสารน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที

เรียนรู้จากวิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ไปกับ สสวท. 

     รศ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี

    รศ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี Master TrainerโครงการGLOBEของ สสวท. และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ฝนตกหนัก ปกติจะเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีความแปรปรวนของอากาศค่อนข้างเยอะปกติความกดอากาศต่ำหรือแนวฝนที่เกิดขึ้นนั้น มักจะสอดคล้องกับการหมุนของอากาศ

    ในกรณีที่เคยเกิดขึ้นในปีก่อนหน้านี้ จะมีในลักษณะของลมหมุน แต่ความเร็วสูง ซึ่งเรียกว่าพายุตอนที่เกิดน้ำท่วมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น พายุอยู่ใกล้กับไต้หวันและฟิลิปปินส์ แต่หางของพายุส่งฝนมาที่ภาคใต้ของประเทศไทย

เรียนรู้จากวิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ไปกับ สสวท. 

       ในทางฟิสิกส์ เราไม่ชอบสภาพอากาศที่คงที่ตลอดเวลา เราต้องการอากาศที่มีความแปรปรวนเล็กน้อย เช่น ถ้าแดดออกต่อกันนานๆ ก็จะเกิดความแห้งแล้ง หรือ ถ้าฝนตกติดต่อกันนานๆ ก็จะเกิดน้ำท่วม ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่2ครั้งภายในเวลา1เดือนคือ ต้นเดือนธันวาคม2559และต้นเดือนมกราคม2560สร้างความเสียหายมากมาย การเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ทั้งสองครั้งนี้เกิดมาจากโครงสร้างอากาศที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นลมที่หมุนตลอดเวลา แต่ไม่ใช่พายุ ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน ปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่ในปริมาณมาก เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ทั้ง2ครั้ง

      หลายคนตั้งคำถามว่าการพัฒนาของเมืองที่สร้างถนนหรือบ้านเรือนขวางทางน้ำ มีผลให้เกิดน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหนนั้นถ้าเราพัฒนาและวางแผนผังเมืองให้ถูกหลักนิเวศวิทยา สิ่งก่อสร้างก็จะสามารถเป็นมิตรกับระบบนิเวศได้ ทำให้น้ำระบายได้เร็ว ซึ่งเราต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิเวศทางน้ำ เช่น เรื่องของทิศทางการน้ำไหลเข้า น้ำไหลออก ทิศทางน้ำที่ไหลลงจากภูเขาสู่ทะเล

      หลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เรามักจะสร้างถนนที่ไม่มีทางระบายน้ำใต้พื้นถนนอาจเป็นเพราะถ้ามีทางระบายน้ำใต้พื้นถนนจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนที่สูงแต่ในทางระบบนิเวศที่ดีที่สุด เราอยากได้ถนนที่น้ำสามารถลอดผ่านด้านใต้ถนนได้ ตัวอย่างเช่น การเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าชายเลน เราก็จะต้องสร้างทางเดินศึกษาธรรมชาติที่น้ำไหลผ่านได้หรือการสร้างทางเดินศึกษาธรรมในถ้ำ เราก็จะทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในถ้ำที่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านได้

เรียนรู้จากวิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ไปกับ สสวท. 

      เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวไปเหยียบพื้นถ้ำ ทำให้ระงับการเกิดหินงอกหินย้อยจากพื้นถ้ำลองจินตนาการดูว่าถ้าเราไปปูทางเดินในถ้ำด้วยพื้นซีเมนต์สำเร็จรูป อย่างไรเสีย ถ้ำก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งปลูกสร้างจึงมีผลแน่นอนต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแน่ๆ

     ส่วนใหญ่การสร้างหมู่บ้านจัดสรรจะสร้างในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งการสร้างหมู่บ้านจัดสรรที่ดีควรจะสร้างทางระบายน้ำถ้าโครงการพัฒนาต่าง ๆ มีการปลูกสร้างอย่างถูกวิธีเหมาะสม เรื่องของน้ำท่วม ก็เป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้อยู่ที่เราจะเลือกแบบไหน เช่น การสร้างถนนควรมีการเจาะช่องระบายน้ำใต้พื้นถนนมากขึ้น หมู่บ้านจัดสรรควรมีการระบบทางระบายน้ำ หรือแนวฟลัดเวย์ ถ้าเราทำได้แบบนี้ โอกาสที่น้ำจะท่วมก็คงลดลงหรือไม่รุนแรงนัก

          ทั้งนี้ สสวท. ได้ดำเนินโครงการGLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment)เป็นโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้นักเรียนทั่วโลกทำงานวิจัยค้นคว้าร่วมกับครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนโดยการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง แม่นยำ สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่

      เพื่อให้สามารถระบุแนวโน้มรูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูล เข้าใจแบบจำลอง และทำนายปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกได้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาและการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศระดับภูมิภาค และระดับโลกอย่างแท้จริงและยั่งยืน นอกจากนี้ โครงการGLOBEยังมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ ในการสืบเสาะหาความรู้และแก้ปัญหา รู้ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอน สามารถอธิบายและตรวจสอบได้

 

      “โครงการGLOBEของ สสวท. จะมีการสร้างองค์ความรู้ ให้นักเรียน ชุมชน เกิดความเข้าใจนิเวศของน้ำ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำทางภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่ง สสวท. มีกลไกที่จะผลักดันด้านนี้ถ้าหากโรงเรียนสนใจอย่างแพร่หลายขึ้นก็จะขยายเครือข่ายให้กว้างขวางขึ้น โครงการGLOBEนี้ บริหารจัดการโดยองค์การนาซ่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ชุมชนทั่วโลกได้เรียนรู้ร่วมกัน ผ่านเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันปัจจุบันโครงการนี้พัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยวัดระดับน้ำ สามารถนำไปใช้ในการติดตามน้ำท่วมภาคนักเรียน ภาคชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง” รศ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินีกล่าวทิ้งท้าย

      วิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเตรียมตัวรับมือกับปัญหาพิบัติภัยที่อาจเกิดเกิดซ้ำอีกต่อไปในอนาคต

     สินีนาฎ ทาบึงกาฬ รายงาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ