Lifestyle

ส่งสัญญาณใช้ม.44 มรภ.นครราชสีมาปัญหาบัณฑิตครูภาคพิเศษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ดาว์พงษ์” ชี้มรภ.นครราชสีมาต้องรับผิดชอบดูแลบัณฑิตหลักสูตรครู 5 ปีภาค กศ.ปช. ลั่นถ้ามัวแต่เกาหลังกันเองอาจต้องใช้ม.44 คุรุสภาเผยทางออกต้องเทียบ9โอนมาตรฐานรายคน

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มบัณฑิตคณะครุศาสตร์ หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) โครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.ปช.) รุ่นที่ 15 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประมาณ 300 คนจาก 7 สาขา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ปฐมวัย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ทั่วไป และพลศึกษา ได้ยื่นหนังสือเพื่อให้เยียวยากรณีที่จบการศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 แต่ไม่สามารถรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ โดยมหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่าคุรุสภาไม่รับรองหลักสูตร ว่า เท่าที่ได้รับรายงานจากดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัด ศธ.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา และน.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ยังไม่ทราบเหตุผลชัดเจนว่าทำไมมรภ.นครราชสีมาจึงทำอย่างนั้น และไม่ทราบด้วยว่าได้ยื่นหลักสูตรให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือ ไม่ได้ส่งหลักสูตรให้คุรุสภารับรอง ซึ่ง มรภ.นครราชสีมา ทำไม่ถูก เพราะฉะนั้น ต้องมาดูกันต่อไปว่า จะดูแลเด็กอย่างไร ในเมื่อเด็กได้เรียนจบครบตามหลักสูตรแล้ว

“เบื้องต้นทราบว่าทางคุรุสภาจะต้องนำหลักสูตรมาเทียบเคียงเพื่อเทียบโอนความรู้ของเด็ก มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2,700 บาท ซึ่งในความคิดของผม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมมองเห็นว่าการที่ขออนุมัติใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ทำให้ผมสามารถเข้าไปดูแลสถาบันอุดมศึกษาได้มากขึ้น ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องดูว่ามรภ.นครราชสีมา จะรับผิดชอบอย่างไร และหากสภามรภ.นครราชสีมา ยังเกาหลังกันเองก็จะเข้าไปจัดการ เพราะการที่มหาวิทยาลัยเอาเด็กเป็นตัวประกันแบบนี้ ทำไม่ถูกต้อง”พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.ชัยยศ กล่าวว่า ทางออกของคุรุสภาในกรณีดังกล่าว คือ เปิดเทียบโอนความรู้ มาตรฐานวิชาชีพ 9 มาตรฐานเพื่อรับรองความรู้ของเด็กเป็นรายคน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการเทียบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ โดยอัตโนมัติ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเพราะเป็นการทำเฉพาะกิจ ก็ต้องถามว่าใครจะออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

“เรื่องที่เกิดขึ้นผิดที่มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณบดีจะบอกว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้เลย  ทุกฝ่ายต้องจะร่วมกันรับผิดชอบ จะหนีความรับผิดชอบนี้ไปไม่ได้ ส่วนการใช้อำนาจม.44 เข้าไปจัดการเมื่อถึงเวลาจำเป็นจริง ๆ ก็คงต้องใช้ เพราะจะปล่อยให้มหาวิทยาลัยไปทำให้เด็กเดือดร้อน เพราะความไม่มีวินัยของมหาวิทยาลัยแล้วมาเทหน้าบ้านคุรุสภา ให้คุรุสภาต้องมาแก้ปัญหาไม่ได้อีกแล้ว”ดร.ชัยยศ กล่าว

ขณะที่ น.ส.อาภรณ์ กล่าวว่า สกอ.จะลงไปตรวจสอบโดยเร็ว ตอนนี้บอกได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เพราะได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเด็ก เพราะทำให้เด็กเสียเงิน เสียสิทธิ เสียโอกาสและเสียเวลา ซึ่งหากเด็กต้องเรียนเพิ่มเพื่อมาเทียบโอนความรู้ 9 มาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา มรภ.นครราชสีมาก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ ก่อนเด็กที่จะลงทะเบียนเรียนหลักสูตรใดก็ตาม ให้ตรวจสอบ 2 เรื่อง คือ 1.หลักสูตรนั้น สกอ.ได้รับทราบแล้วหรือยัง และ 2.กรณีที่สาขาวิชาใดมีสภาวิชาชีพควบคุมอยู่ ก็ต้องได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพนั้นก่อน ซึ่ง สกอ.ได้ย้ำเตือนมาตลอดแต่ก็ยังมีปัญหาทุกปี

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ