Lifestyle

การทูตแม่น้ำโขง ว่าด้วยผลกระทบจากเขื่อนจีน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : การทูตแม่น้ำโขง ว่าด้วยผลกระทบจากเขื่อนจีน : โดย...ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร

 
                    นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ ข่าวคราวที่จัดได้ว่าเป็น “Talk of The Region” มากที่สุด คงหนีไม่พ้นการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ซึ่งอยู่ใกล้ไทย รวมถึงภูมิภาคแม่น้ำโขงที่สุดในตอนนี้ นั่นคือ เขื่อนจิ่งหง ที่เป็นข่าวดังข่าวใหญ่ก็คงเป็นเพราะว่าจีนแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านทางกระบอกเสียงของกระทรวงการต่างประเทศ คือ นายหลู่ คัง โฆษกประจำกระทรวง และส่งสารผ่านไปยังสถานทูตของจีนที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ทั้งเมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อให้ผู้นำในประเทศเหล่านั้น ได้ทราบโดยทั่วกัน
 
                    เขื่อนจิ่งหง หรือ เขื่อนเชียงรุ้ง เป็นหนึ่งใน 6 เขื่อน บนแม่น้ำโขงตอนบนในจีนที่สร้างเสร็จแล้ว อยู่ในส่วนของมณฑลยูนนานของจีน โดยก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2552 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,750 เมกะวัตต์ ความสูง 118 เมตร โดยมีระยะห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประมาณ 400 กม.
 
                    สาระสำคัญของการปล่อยน้ำครั้งนี้ คือ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง ที่ขณะนี้ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก แถมปรากฏการณ์เอลนีโญซ้ำเติม โดยเฉพาะเวียดนามในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่ดูจะหนักหน่วงที่สุด เนื่องจากความแห้งแล้งส่งผลให้น้ำแห้งขอด น้ำทะเลหนุนอย่างหนัก จนทำให้ผืนดินถูกเซาะ สูญเสียที่ทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างมหาศาล นอกจากนี้ยังส่งผลให้ดินเค็ม เพาะปลูกไม่ได้ แหล่งน้ำจืดก็ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยน้ำเค็ม
 
                    โดยการปล่อยน้ำครั้งนี้ จะปล่อยในปริมาณ 2,000 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม-10 เมษายน 2559 รวมระยะเวลาเกือบ 1 เดือน และคาดการณ์ว่าพอถึงช่วงสงกรานต์นี้ น้ำก็จะยังไม่ลดไปถึงระดับปกติ
 
 
การทูตแม่น้ำโขง ว่าด้วยผลกระทบจากเขื่อนจีน
 
 
                    การปล่อยน้ำจากเขื่อนผ่านการแสดงออกอย่างชัดเจนทางการทูตครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นบุญคุณของประเทศต้นแม่น้ำโขงอย่างจีน ที่ส่งไปยังประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง และพยายามสะท้อนว่าตนเองมีความปรารถนาดี รวมถึงกล่าวชื่นชมตนเองอย่างชัดเจนว่า ทางจีนมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีและมีประสิทธิภาพ เอาชนะธรรมชาติ และสามารถควบคุมน้ำเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ของทุกประเทศท้ายน้ำได้อย่างสมดุล
 
                    แท้ที่จริงแล้ว จุดประสงค์หลักของจีนในการปล่อยน้ำครั้งนี้ก็เพื่อ 1) ทำการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อตอบโจทย์การสร้างพลังงานในภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของตน 2) ให้สะดวกต่อการคมนาคมขนส่งทางเรือของจีนบนแม่น้ำโขงที่จะทำการค้าขายกับประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง และ 3) พร่องน้ำในเขื่อนให้สามารถรับน้ำได้ในช่วงฤดูฝน โดยสรุปก็คือจีนได้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดจากการเล่นบทผู้ให้ ที่จริงๆ แล้วไม่เสียอะไรเลยแม้แต่น้อย หนำซ้ำยังได้กำไรเพิ่มขึ้น คือนอกจากบรรลุจุดประสงค์ของตัวเองแล้ว ยังได้เครดิตและคำขอบคุณจากบรรดาผู้นำในบางประเทศของภูมิภาคแม่น้ำโขงด้วย
 
                    การปล่อยน้ำจากเขื่อนครั้งนี้ มีนัยทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เพราะก่อนหน้านี้ใช่ว่าจีนจะไม่เคยปล่อยน้ำออกมา จีนปล่อยน้ำออกมาหลายครั้งหลายหนตลอด 23 ปีที่มีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก แต่ไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ แก่ประเทศท้ายน้ำ โดยเฉพาะประชาชนริมโขงเองก็ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนใดๆ จากทั้งรัฐบาลจีน หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลในประเทศของตน หรือแม้แต่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) แม้ว่าจะมีการแชร์ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ก็มิได้มีการประกาศหรือแจ้งเตือนอย่างทั่วถึง จนชาวบ้านริมโขง โดยเฉพาะในส่วนของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ต้องสังเกตจากการแล่นเรือสินค้าจีนเข้ามาในไทยในช่วงหน้าแล้งเป็นตัวชี้วัด นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของชาวบ้านที่ไม่มีหน่วยงานใดๆ มาร่วมป้องกันหรือแก้ไขปัญหานี้
 
 
การทูตแม่น้ำโขง ว่าด้วยผลกระทบจากเขื่อนจีน
 
 
                    ปีนี้อาจเป็นปีที่ 23 ของการอุบัติขึ้นของเขื่อนม่านวาน เขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงในจีน แต่นับเป็นปีที่ 30 ของการเริ่มก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวในปี 2529 นับตั้งแต่เขื่อนม่านวานสร้างเสร็จและเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2536 ก็ได้เริ่มเกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติต่อการขึ้น-ลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงแล้ว กล่าวคือ ในปี 2535 ก่อนเขื่อนดังกล่าวสร้างเสร็จหนึ่งปี ชาวบ้านริมโขงเริ่มสังเกตเห็นว่าระดับน้ำเริ่มผันผวน จากการตรวจวัดของสถานีวัดระดับน้ำเชียงแสนช่วงต้นหน้าฝน น้ำโขงมีระดับสูงสุดเพียง 4.85 เมตร แต่ช่วงปลายหน้าฝนกลับมีระดับสูงสุดที่ 5.42 เมตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำโขงโดยเฉลี่ย (ตามธรรมชาติ) ต้องลดระดับลง และในช่วงหน้าแล้งของปี 2536 ระดับน้ำโขงต่ำสุดอยู่ที่ 0.14 เมตร (1 เม.ย.) และลดลงจนไม่เหลือเลยคืออยู่ที่ 0.0 เมตร ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่เข้าสู่หน้าฝนแล้ว หากใกล้เข้ามาอีกนิด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง ในปี 2556 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 2.5-3 เมตร จากระดับปกติ
 
                    ตัวเลขความผันผวนของแม่น้ำโขงที่ผิดปกติดังกล่าว ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการหาอยู่หากินของประชาชนริมโขงใน 5 ประเทศของภูมิภาคแม่น้ำโขงเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือชีวิตของคนโขงถูกผูกโยงกับแม่น้ำ หากระดับน้ำโขงผันผวน วิถีชีวิตและความมั่นคงทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมของคนโขงก็ผันผวนเช่นกัน ผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรมในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ คือระดับที่ขึ้น-ลงผิดปกติ ไม่เต็มตลิ่งและมีระยะเวลาสั้น ส่งผลให้หาดทรายริมโขงมีความอุดมสมบูรณ์น้อย มีวัชพืชขึ้นมาก ปลาไม่เข้าไปยังห้วยหรือน้ำแก้ง ซึ่งเป็นระบบนิเวศย่อยที่มีความสำคัญต่อการผสมพันธุ์ วางไข่ และอนุบาลปลาเล็กปลาน้อย หากระดับน้ำขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นหน้าฝน ก็จะทำให้เกิดระบบนิเวศย่อย เช่น คอน ซ่ง  ในระยะเวลาที่จำกัด ทำให้ปลาที่กำลังว่ายอพยพทวนกระแสน้ำขึ้นมาเข้าระบบนิเวศย่อยดังกล่าวได้น้อยลง นอกจากนี้ระดับน้ำที่ขึ้น-ลงผิดปกติ ยังส่งผลให้ลวงไหลมอง ลวงตักซ้อน ลวงเบ็ด อันเป็นหลักแหล่งสำคัญในการใช้เครื่องมือประมงเพื่อจับปลาสูญหายไปด้วย ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลต่อไปยังชาวประมงแม่น้ำโขงอย่างมาก ผลคือจับปลาได้ยากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนและซ่อมแซมเครื่องมือประมงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง แต่รายได้ลดลง
 
                    การปล่อยน้ำจากเขื่อนของจีนครั้งล่าสุดนี้ ส่งผลอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรริมโขง ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงและไหลอย่างรวดเร็ว ทำให้แปลงผักริมโขงเสียหายอย่างหนัก ไก หรือสาหร่ายน้ำจืด อันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงนี้ รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ทางการประมงเองก็ถูกพัดลอยไปกับกระแสน้ำเช่นกัน ปลากระชังน็อกน้ำ ล้มตายเนื่องจากอุณหภูมิในน้ำเปลี่ยนแปลงกะทันหัน มูลค่าความเสียหายเหลือคณานับ
 
 
การทูตแม่น้ำโขง ว่าด้วยผลกระทบจากเขื่อนจีน
 
 
                    ภาคการท่องเที่ยวเองก็ได้รับผลกระทบเป็นเงาตามตัว หาดทรายและแก่งแม่น้ำโขงชื่อดังต่างๆ เช่น หาดจอมมณี หาดน้ำก่ำ หาดมโนรมย์ภิรมย์ แก่งคุดคู้ ฯลฯ ที่ขึ้นในช่วงหน้าแล้งถูกน้ำท่วม ผู้ประกอบการร้านค้า ซุ้มอาหารและบริการต่างๆ ที่ทำรายได้ในช่วงนี้ ได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า หลายรายต้องปรับตัวโดยการเฝ้าระวังระดับน้ำเพื่อคอยเคลื่อนย้ายแพ ซุ้มอาหาร บ้างก็ต้องคอยซ่อมแซมและต่อเติมยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำ ทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
 
                    เพียงเขื่อนจิ่งหงเขื่อนเดียวยังสร้างความเสียหายขนาดนี้ หากปล่อยน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในลาวที่จะถูกปล่อยออกมาอีกระลอกจะเสียหายขนาดไหน เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้ประกาศออกสื่อว่าจะมีการปล่อยน้ำเพราะรัฐบาลลาวเองก็มีความเห็นใจเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามเช่นกัน ที่ประสบภัยแล้ง ดินเค็ม เพาะปลูกไม่ได้ โดยปริมาณที่ปล่อยมาในครั้งนี้อยู่ที่ 1,136 ลบ.ม./วินาที แต่ถึงกระนั้นน้ำที่ปล่อยออกมาครั้งนี้ของทั้งเขื่อนจีนและเขื่อนลาวอาจไม่สามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งในเวียดนามใต้ได้ เพราะอาจถูกสูบเข้าไปใช้ในประเทศใดประเทศหนึ่งเสียก่อน รวมถึงมีการระเหยของน้ำเกิดขึ้นด้วย สรุปก็คือการปล่อยน้ำครั้งนี้อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่อาจสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
 
                    สำหรับคนโขงแล้ว เขื่อนคือต้นตอของหายนะที่เกิดขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดของวิกฤติครั้งนี้คือการปล่อยให้แม่น้ำโขงไหลอย่างอิสระ และหยุดการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
 
 
 
----------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : การทูตแม่น้ำโขง ว่าด้วยผลกระทบจากเขื่อนจีน : โดย...ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ