ข่าว

ลุ้นกรุงเก่าชิงเจ้าภาพเวิลด์เอ็กซ์โป2020

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภายหลังจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ที่จัดจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า

   ประกอบด้วย บริษัท เอคอม อีโคโนมิกส์ จำกัด บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ศึกษาถึงความเป็นไปต่อการที่เสนอตัวของ 6 จังหวัดที่จะขอเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี จันทบุรี เพชรบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งผลการตัดสินปรากฏว่า "พระนครศรีอยุธยา" มีความพร้อมและมีศักยภาพมากที่สุด

 ประเทศไทยเป็นรายแรกที่รัฐบาลได้แสดงความจำนงในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 โดยประเมินเงินลงทุนไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท สำหรับรองรับการลงทุนโครงสร้างของงานสาธารณูปโภค ระบบคมนาคม และค่าซื้อพื้นที่ข้างเคียงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ด้วยเหตุที่ว่าพื้นที่การจัดงานเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เนื้อที่มากกว่า 1,500 ไร่ ขณะที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรมีเนื้อที่รวมเพียง 1,200 ไร่ จึงมีความจำเป็นต่อการที่จะต้องใช้พื้นที่เพิ่มเติม

 ข้อมูลของการศึกษาพบว่า หากจัดบนพื้นที่ 1,200 ไร่ จะสามารถรองรับผู้มาร่วมงานได้มากกว่า 27 ล้านคน อย่างไรก็ดี หากขยายพื้นที่ได้ตามที่ศึกษา ตัวเลขของผู้ที่มาร่วมงานจะขยับไปอยู่ที่ 35 ล้านคน นี่คือการหมุนเวียนของผู้มาชมงาน ตลอด 6 เดือนของการจัดงาน นับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ในปี 2563 อันหมายถึงรายได้ทางตรงช่วงจัดงาน 6.2 หมื่นล้านบาท

 ส่วนที่มาของรายได้เกิดขึ้นทั้งจากค่าบัตรเข้าชมงาน และรายได้จากผู้สนับสนุนจัดงาน และจะมีรายได้ทางอ้อมจากการลงทุนต่อเนื่อง การจ้างงาน ให้ผลตอบแทนกับเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 6 เท่าของเงินลงทุน หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจโตเพิ่มจากเดิม 1.3-1.4% ส่วนขั้นตอนนับจากนี้ไปก็คือ การรณรงค์หาเสียงสนับสนุนประเทศไทย เพื่อให้ได้โอกาสของการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้

 ศักยภาพที่ทำให้ได้รับเลือก

 ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาที่เลือก จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ของการจัดงานนั่นคือ พระนครศรีอยุธยา มีความโดดเด่นในเชิงศักยภาพ เพราะหากเทียบกับเชียงใหม่ ภูเก็ต กระทั่งชลบุรี แล้ว จะเห็นว่าทั้ง 3 จังหวัดข้างต้นมีความพร้อมในเชิงศักยภาพ ด้วยบทบาทของการเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับสากล ขณะที่พระนครศรีอยุธยา มีภาพของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สะท้อนความเป็นแหล่งโบราณสถาน

 อย่างไรก็ตาม จุดแข็งที่พระนครศรีอยุธยาเสนอเพื่อให้เป็นทางเลือกต่อการพิจารณาก็คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ที่สะดวกคล่องตัวสามารถเชื่อมต่อได้กับทุกภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขณะที่การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น จีน และประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว กัมพูชา เวียดนาม สามารถเดินทางมาได้ โดยทางรถยนต์ เครื่องบิน และรถไฟ รวมถึงการนำเสนอให้ผู้ที่มาท่องเที่ยวชมงาน สามารถที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวตามภาคต่างๆ ได้ด้วย 

 ขณะที่แผนการพัฒนาด้านการคมนาคมในอนาคต จะมีโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครสวรรค์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครราชสีมา โครงการก่อสร้างทางหลวงสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โครงข่ายการคมนาคมทางถนนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ มาที่พระนครศรีอยุธยา ใช้เวลาเพียง 40 นาที เท่านั้น แผนการพัฒนาระบบคมนาคม ที่น่าสนใจประกอบด้วย

 การคมนาคมระบบราง จะมีการก่อสร้างรถไฟจากกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา ในระบบรางคู่ อีกทั้งยังมีเส้นทางการเดินรถไฟที่ผ่านพระนครศรีอยุธยา 2 สาย คือ ขบวนรถโดยสารที่มีปลายทางสู่ภาคเหนือ ไป-กลับวันละ 18 ขบวน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไป-กลับวันละ 20 ขบวน ลงได้ 2 สถานี คือ สถานีเชียงรากน้อย และบางปะอิน ตลอดจนการเดินทางโดยรถไฟเข้ากรุงเทพฯ สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าใต้ดินและระบบแอร์พอร์ต ลิงก์ ที่สถานีหัวลำโพง และสถานีรถไฟบางซื่อได้อย่างสะดวก

 การคมนาคมทางอากาศ สามารถที่จะลงได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิถึงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์) ระยะทาง 82 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 50 นาที และสนามบินดอนเมืองถึงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (ใช้เส้นทางพหลโยธิน) ระยะทาง 42 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที คมนาคมทางน้ำ สามารถนำเข้าเครื่องจักร เครื่องกล อุปกรณ์สำหรับการจัดงาน สามารถขนส่งจากทางเรือแหลมฉบังมายังท่าเรือ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาได้อย่างสะดวกและประหยัด 

 นอกจากนี้ ยังมีท่าเรืออยุธยาพอร์ตและไอซีดี ถือเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ ใน อ.นครหลวง เพื่อขนส่งสินค้าและรองรับสินค้าจากภาคกลางและภาคเหนือ และมีท่าเรือคอนเทนเนอร์แม่น้ำใหญ่สุดแห่งแรกของไทย รวมทั้งยังมีสถานีขนส่งสินค้าทางลำน้ำ เพื่อการประหยัดพลังงาน อยู่ที่ อ.ท่าเรือ ซึ่งด้วยความพร้อมของโครงข่ายเหล่านี้ จะทำให้พระนครศรีอยุธยา  เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของการจัดงานได้
 สร้างโอกาสศูนย์กลางเชื่อมจว.ใกล้เคียง

 "ผลที่จะได้รับหากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 โดยใช้พื้นที่ของพระนครศรีอยุธยา จะทำให้กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ทั้ง นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในหลายจังหวัด ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดเดียว ซึ่งแต่ละจังหวัดสามารถเดินทางติดต่อถึงกันได้ภายใน 30-45 นาที จังหวัดเหล่านี้ มีความพร้อมที่พัก โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ ประมาณ 9,677 ห้อง ถ้ารวมกรุงเทพฯ ด้วย ประมาณ 73,500 ห้อง สิ่งอำนวยความสะดวก สนามกอล์ฟ 15 แห่ง ศูนย์รักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับ ศูนย์ประชุมที่รองรับได้ตั้งแต่ 1,000-3,000 คน  เช่น ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี“ ทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มุมมองถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา

 ขณะที่ วิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเมินว่าเงินลงทุนจัดงานที่คาดการณ์กันเอาไว้ 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นค่าโครงสร้างของงานสาธารณูปโภค ระบบคมนาคม ในส่วนนี้น่าจะส่งผลดีต่อการสะพัดของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ หากประเทศไทยได้รับสิทธิ์ในการจัดงานดังกล่าว สิ่งที่จังหวัดคาดหวังเอาไว้ก็คือชื่อเสียงที่จะเกิดขึ้น และเป็นสร้างโอกาสให้แก่จังหวัดที่จะมีความพร้อมทัดเทียมเมืองที่มีความเป็นสากล ทั้งเชียงใหม่ ชลบุรี และภูเก็ต นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพระนครศรีอยุธยา หากได้รับการพิจารณา

 สำหรับขั้นตอนนับจากนี้ไปก็คือ สสปน. จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ในการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนประเทศไทย เพื่อสิทธิ์ในการให้ประเทศไทยได้รับโอกาสของการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน นี่จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งกับโอกาสที่จังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคกลางที่จะเป็นตัวแทนของประเทศในการได้รับสิทธิ์
 

บายไลน์ทีมข่าวภูมิภาค

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ