ข่าว

คดีแฝดจาก ดิเอทัส สู่ 'แอชตัน อโศก' เพิกถอนใบอนุญาต ละเมิดกฎหมายควบคุมอาคาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คดีฝาแฝด จากโรงแรมหรู ดิเอทัส สู่ คอนโดหรู 'แอชตัน อโศก' ถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างเพราะผิดพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร บรรทัดฐานของการก่อสร้างตึกสูงที่แหกกฎหมาย

จากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรู "แอชตัน อโศก" ราคา 6,300 ล้าน ที่ตั้งบนทำเลทองกลางแยกอโศก เนื่องจากการก่อสร้างไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร 2522 ที่ระบุไว้ว่าตึกสูงจะต้องมีทางเข้า-ออกไม่น้อยกว่า 12 เมตร  โดยคำสั่งศาลปกครองที่สั่งเผิกถอนใบอนุญาตหลังจากก่อสร้างเสร็จ เปิดขาย และมีผู้เข้าอยู่อาศัยไปแล้วกลายเป็นประเด็นใหญ่สะเทือนวงการอสังหาฯ ของประเทศไทยอย่างมาก

 

 

อย่างไรก็ตามกรณีศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างตึกสูงในกรุงเทพมหานคร กรณีของ "แอชตัน อโศก" ไม่ใช่กรณีแรก เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 9 ปีก่อน เคยเกิดกรณีเหมือนกันกับ ดิเอทัส ซอยร่วมฤดี ที่ถูกประชาชนฟ้องร้อง เพราะการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 เช่นกัน แต่จนถึงปัจจุบันพบว่า ดิเอทัส ยังไม่ได้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาล แม้ว่ากรุงเทพมหานคร จะมีคำสั่งห้ามเข้าใช้อาคารก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามทั้ง 2 คดี ก็ถือว่าเป็นบรรทัดฐานในการก่อสร้างตึกสูงขนาดใหญ่ในพื้นกรุงเทพมหานคร โดยเรื่องราวของทั้ง 2 โครงการจะเป็นอย่างไร คมชัดลึก สรุปมาให้เป็นดังนี้    

เรื่องราวการรื้อถอน ดิเอทัส ซอยร่วมฤดู เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2557 ที่ชาวบ้านในซอยร่วมกันฟ้องร้องเจ้าของโครงการ เนื่องจากการก่อสร้างไม่เป็นไปตามกฎหมาย เพราะในซอยร่วมฤดูเป็นซอยขนาดเล็ก ที่ไม่ว่าจะรังวัดที่ดินยังไงก็มีความกว้างไม่ถึง 12 เมตร ตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 กำหนดอยู่ดี การฟ้องร้องดำเนินการต่อเนื่อง

 

 

จนเมื่อปี 2557 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้ กรุงเทพมหานคร ผอ.เขตปทุมวัน รื้อถอน โรงแรมดิเอทัส ซ.ร่วมฤดี โครงการมูลค่า 3,000 ล้านบาท จากสูง 18 ชั้น และ 24 ชั้น ให้เหลือไม่สูงเกินกว่า 8 ชั้น หรือ 23 เมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33  ตามพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างเขตทางสาธารณะไม่เกิน 10 เมตร จะก่อสร้างอาคารสูงเกิน 8 ชั้น หรือ 23 เมตรไม่ได้  เพราะจากการรังวัดของกรมที่ดิน จึงพบว่าการก่อสร้างโรงแรมดิเอทัส ในซอยร่วมฤดีมีทางกว้างน้อยกว่า 10 เมตร เป็นการขัดต่อพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่การก่อสร้างอาคาร ต้องมีพื้นที่ ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป และต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่กว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร

 

ขอบคุณภาพจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

การรังวัดที่ดินเป็นที่ชี้ชัดว่า ดิเอทัส ต้องปรับปรุงให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่ง กทม.ได้มีการปิดประกาศติด คำสั่งที่อาคารดังกล่าวให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายอาคาร คำสั่งมิให้บุคคลใดใช้ หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร หรือบริเวณอาคาร ไปตั้งแต่ปี 2563 เพื่อให้เจ้าของ โรงแรมดิเอทัส ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่เมื่อปี 2565 กทม. ดำเนินการต่อสัญญากับผู้ว่าจ้าง เพื่อรื้อถอนอาคารโรงแรมดิเอทัส บางกอก และอาคารเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ดิ เอทัส เรสซิเดนซ์ โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจปฏิบัติงานร่วมกับนายตรวจฝ่ายโยธา พบว่าปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่มีการฝ่าฝืนแต่อย่างใด 
  

 

 

แอชตัน อโศก

 

 

ส่วนโครงการ "แอชตัน อโศก" เริ่มราวเริ่มต้นขึ้นจากที่ประชาชนในซอยสุขุมวิท 19 ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารสูงบริเวณด้านหลังเทอร์มินอล 21 เนื่องจากที่ดินดังกล่าว เป็นที่ดินตาบอดมีทางเข้า-ออก ไม่ถึง 12 เมตร อีกทั้งการก่อสร้างยังสร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก จึงทำให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านผู้อยู่อาศัยย่านสุขุมวิท 19 ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับซอยสุขุมวิท 21 ยื่นฟ้องร้องแก่ศาลปกครองกลาง และในช่วงปลายปี 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโครงการก่อสร้าง และให้เจ้าของโครงการปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยจะต้องหาทางเข้า-ออก ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด หรือ ปรับปรุงอาคารให้มีความสูงที่สอดคล้องกับทางเข้า-ออกปัจจุบัน ที่มีอยู่  

 

 

 

ส่วนความเคลื่อนไหวจากกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  มีการออกมาระบุว่า สำหรับประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดี "แอชตัน อโศก" ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้น สำนักการโยธา กรุงเทพมหานครจะมีหนังสือแจ้ง สำนักงานเขตวัฒนา พิจารณาออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41  และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตามการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าอาคารชุด "แอชตัน อโศก" จะต้องมีการรื้อถอนอาคาร

 

 

รายงานข่าวจากรุงเทพมหานคร ระบุว่า  ทั้ง ดิเอทัส และ "แอชตัน อโศก" เป็นคดีที่มีความคล้ายกันอย่างมาก เพราะจุดเริ่มต้นในการฟ้องร้อง จนนำมาสู่การรื้อถอนมีประชาชนเป็นจุดเชื่อมโยง หลังจากนั้นจึงมีหน่วยงานที่เป็นตัวแทนยื่นฟ้องแทนประชาชน จนท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้เพิกถินใบอนุญาตก่อสร้าง แต่คดีของ ดิ เอทัส ในช่วงนั้นมีคำตัดสินให้ กทม. เป็นผู้ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาต และหาทางพิจารณาเอง  ส่วนคอนโดหรู "แอชตัน อโศก" ศาลมีคำสั่งโดยตรงให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งหลังจากนี้ กทม.จะต้องออกเอกสาร ค.3 ค.4 และ ค.10 ซึ่งเป็นคำสั่งในการระงับก่อสร้าง ตามขั้นตอน แม้ว่าอาคารจะดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วก็ตาม หลังจากนั้นก็ให้เอกชนยื่นแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 

 

 

ส่วนกรณีที่หลายคนกำลังสงสัยว่า การรื้อถอนอาคารสูงจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะ อย่างกรณีของ ดิเอทัส ที่เกิดเรื่องขึ้นมานานกว่า 10 ปี แล้ว จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการรื้อถอน หรือปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามคำสั่งศาล  เพราะต้องยอมรับว่าการจะรื้อถอนอาคารขนาดสูงต้องมีการควบคุมโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสภาพประเทศไทยไม่ได้มีวิศวกรที่เชี่ยวชาญในการรื้อถอน ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินค่อนข้างนาน 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ