ข่าว

"ศักดิ์สยาม"รื้อค่าโง่ทางด่วน"บีอีเอ็ม"ชี้ยอมจบทุกคดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศักดิ์สยาม" ตั้ง ปลัดคมนาคมสรุปแผนเคลียร์ค่าโง่ทางด่วน ขีดเส้น 15 วันจบ ชง ครม.เคาะแนวทาง

 

 

          ด้าน กมธ.ถกนัดสุดท้ายร่วม “บีอีเอ็ม” ชี้แจงยอมจบทุกคดีความแลกต่ออายุสัมปทานทางด่วน ยืนยันอยากร่วมทำโครงการกับภาครัฐต่อ

 

          ข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ครอบคลุม 17 คดี มีการเจรจาลดมูลค่าข้อพิพาทจาก 137,517 ล้านบาท เหลือ 58,873 ล้านบาท เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด 30 ปี ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องส่งแนวทางการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

 

 

 


          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงนามแต่งตั้งให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเพื่อศึกษาและจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าโง่ทางด่วนจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายแก่บีอีเอ็ม 


          ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคมจะไปศึกษาการดำเนินงานในโครงการ การจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) และการปฏิบัติตามสัญญาว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องนำเสนอแนวทางในการการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องสรุปเสนอกลับมาให้พิจารณาภายใน 15 วัน เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสมได้ภายในเดือน ส.ค.นี้


          นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวในฐานะโฆษกกรรมาธิการพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ว่า บีอีเอ็ม ได้มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ในประเด็นที่มาของการแลกสัมปทานเพื่อยุติข้อพิพาทที่มีร่วมกับ กทพ.


          “ข้อสงสัยก่อนหน้านี้ไม่ติดใจอะไรแล้ว เพราะทางเอกชนมีข้อมูลมาชี้แจง ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายและจะมีนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 24 ส.ค.นี้ ทันกรอบกำหนด 45 วัน ส่วนหลังจากนี้ก็จะเริ่มขั้นตอนคุยข้อมูลของสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสบ้าง”

 

          ชี้ข้อจำกัดรัฐจ่ายชดเชย
          ทั้งนี้ มีการชี้แจงเหตุผลการที่บีอีเอ็มยอมเจรจาลดมูลหนี้ 17 คดี มูลค่า 137,517 ล้านบาท เหลือ 58,873 ล้านบาท ซึ่งบีอีเอ็มชี้แจงว่าในฐานะเอกชนต้องการเงินชดเชยที่มากกว่านี้ แต่หลังจากเจรจากับ กทพ.ทราบว่าภาครัฐมีข้อจำกัดด้านการจ่ายหนี้ อีกทั้งบีอีเอ็มยังต้องการทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จึงยอมรับปรับมูลหนี้เพื่อให้ยุติข้อพิพาทที่ขัดแย้งต่อกัน

 

 

 


          นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดคำตัดสินให้ กทพ.แพ้คดีเพียง 1 คดี คือ กรณีสร้างทางแข่งขันกับเอกชน ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการฯ มองว่าหากจะนำคดีที่ยังไม่ได้ตัดสินไปแลกการขยายสัมปทานจะเอื้อให้เอกชน โดยทราบข้อมูลจากบีอีเอ็มว่าเอกชนจะยอมถอนทุกคดีที่อยู่ในข้อพิพาท


          “ตอนนี้กรรมาธิการฯ ก็ได้ทราบข้อมูลทั้งหมด ฟังจากทุกภาคส่วนแล้ว เรื่องที่ติดใจอย่างการรวมคดีที่ยังไม่ตัดสินไปแลกสัมปทาน ประเด็นนี้เอกชนก็บอกว่าหากการเจรจาเป็นผล ก็ยอมถอนทุกคดีที่มีต่อกันออกจากสัญญาหมด และในอนาคตบีอีเอ็มก็จะไม่เอาเรื่องนี้มาฟ้องอีก ตอนนี้ก็มองว่าทางเอกชนเขาก็มาชี้แจงในมุมของเขา กรรมาธิการฯ ก็ได้รับข้อมูลแล้ว ทิศทางดีขึ้น ไม่ได้นัดมาหารือเพิ่มเติมอีก เหลือแค่ประชุมเพื่อสรุป”


          “บีอีเอ็ม”แจงที่มาข้อพิพาท
          นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหารบีอีเอ็ม กล่าวภายหลังเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า บีอีเอ็มได้รับโอกาสเข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่มาขอปัญหา แนวทางแก้ไข และสาเหตุที่ทำไมบีอีเอ็มต้องการแก้ไขเรื่องทั้งหมด ซึ่งบรรยากาศการชี้แจงข้อมูลถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดี กมธ.รับฟังข้อมูลที่ชี้แจงตลอด และมีการซักถามบ้าง


          โดยประเด็นสำคัญมีการซักถามถึงประเด็นของการปรับลดวงเงินจาก 137,517 ล้านบาท เหลือ 58,8873 ล้านบาท ซึ่งทางบีอีเอ็มก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่า เราต้องการจบข้อพิพาททั้งหมด ยอมปรับลดวงเงินชดเชยเพราะยังต้องการร่วมงานกับทางภาครัฐ


          ทั้งนี้ ข้อมูลที่บีอีเอ็มชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ มีการกล่าวถึงความร่วมมือที่มีร่วมกับ กทพ.อดีตถึงปัจจุบันเป็นความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะการรักษาข้อตกลงในสัญญาร่วมทุน การดูแลคุณภาพบำรุงรักษาเส้นทาง และการบริการต่างๆ ส่วนปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งในการดำเนินงาน แต่เกิดจากการผิดสัญญาที่มีต่อกัน รวมทั้งการเจรจาในช่วงที่ผ่านมาบีอีเอ็มยอม กทพ.ทุกอย่าง จะเห็นได้จากการปรับลดมูลหนี้ลง เพื่อให้ยุติข้อพิพาท


          ชี้จำเป็นยื่นศาลปกครอง
          “การผิดสัญญาเหล่านี้ไม่ได้เป็นค่าโง่ใดๆ เป็นเรื่องสัญญาที่ตกลงกันไว้ และก็เกิดขึ้นเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา ทั้งการขยายเมืองผ่านการสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย หรือเรื่องประชานิยม เพราะเกรงว่าการขึ้นค่าผ่านทางจะกระทบประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อเกิดการทำผิดสัญญาขึ้นแล้ว ทาง กทพ.ไม่ได้ชดเชยตามเงื่อนไข เราก็จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กรณีเช่นนี้น่าจะถือเป็นค่าเบี้ยวมากกว่าค่าโง่ เพราะไม่มีใครโง่หรือฉลาดในเรื่องนี้”


          ส่วนกรณีการเจรจาที่จะมีการสร้าง Double Deck หรือทางด่วนชั้นที่ 2 ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร เพราะปัจจุบันการจราจรติดขัดมาก หากไม่มีการเจรจาให้บีอีเอ็มเป็นผู้ดำเนินการ ทาง กทพ.ก็มีแผนก่อสร้างส่วนนี้อยู่แล้ว อีกทั้งทางบีอีเอ็มก็ไม่ได้เร่งรัดที่จะต้องก่อสร้าง เพราะภายใต้รายละเอียดเจรจา ยังมีเงื่อนไขต้องดำเนินการต่อเมื่อโครงการผ่านการเห็นชอบจากการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ