ข่าว

DITP ชี้โอกาสตลาดเครื่องสำอางในจีน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

DITP ชี้โอกาสตลาดเครื่องสำอางในจีน

 

          กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ชี้โอกาสผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าชาวจีนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งหาช่องทางขยายตลาดในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน โดยเน้นการประชาสัมพันธ์แบรนด์และคุณภาพของสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นจีนและวัยกลางคนยุคใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง หลังรัฐบาลจีนดำเนินนโยบายพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้าเครื่องสำอางต่างประเทศ

          นางณชธร มโนปัญจสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง เปิดเผยว่า ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการเติบโตย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจุบันชาวจีนนิยมแต่งหน้ามากขึ้น โดยในปี 2560 ยอดขายปลีกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในจีนมีมูลค่าถึง 186,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 และยอดขายเครื่องสำอางแต่งหน้ามีมูลค่า34,400ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 ทางการจีนจำแนกเครื่องสำอางออกเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องสำอางเฉพาะที่ (Special Use) 9 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผม ย้อมสีผม ดัดผม กำจัดขน บำรุงหน้าอก สร้างกล้ามเนื้อ (Bodybuilding) กำจัดกลิ่น แก้ฝ้า/กระ(เสริมความขาว) กันแดด และเครื่องสำอางทั่วไป (Non-special Use) เป็นกลุ่มเครื่องสำอางนอกเหนือจากประเภท Special Use โดยผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเป็นตลาดที่มีการพัฒนาเร็วที่สุดของจีน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแต่งหน้าเป็นตลาดที่ขยายตัวเร็วมาก โดยเฉพาะ CC และ BBครีม ผลิตภัณฑ์รักษารอบดวงตาและป้องกันริ้วรอยได้รับความนิยมมาก ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นตัวและระงับเหงื่อ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเป็นตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีตลอดทั้งปี

          จากผลสำรวจผู้บริโภคชาวจีนในปี 2559 ของ Hong Kong Trade Development Council : HKTDC พบว่า ผู้บริโภคหญิงจีนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ร้อยละ 66 แบรนด์ร้อยละ 64 และการบอกต่อของลูกค้าเดิมร้อยละ 60  ฌเยผู้บริโภคหญิงชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี นิยมเลือกซื้อเครื่องสำอางแต่งหน้ามากที่สุด รองลงมาคือผู้บริโภคหญิงชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 31-45 ปี และผู้บริโภคชายชาวจีนเริ่มหันมาบำรุงผิวมากขึ้น โดยร้อยละ 63 ใช้ผลิตภัณฑ์โฟมล้างหน้า โลชั่นหรือครีมทาผิวเป็นประจำทุกวัน สำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอางครองสัดส่วนร้อยละ 20 ของยอดขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งหมด ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคของ HKTDC ปี 2560 พบว่าผู้บริโภคหญิงชาวจีนร้อยละ 69 และผู้บริโภคชายร้อยละ 65 นิยมเลือกซื้อเครื่องสำอางผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเงิน 1,681 หยวนต่อคนต่อปี และซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผ่านช่องทางออนไลน์ เฉลี่ยเป็นเงิน 2,158 หยวนต่อคนต่อปี

          นางณชธร กล่าวว่า ในอดีตชาวจีนมักตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จากการโฆษณา ราคาและคุณภาพ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความชอบและแบรนด์สินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะ
แบรนด์จากต่างประเทศที่ครองส่วนแบ่งตลาดระดับบน ส่วนแบรนด์จีนจะเน้นการใช้ส่วนผสมที่มาจากยาจีนโบราณหรือสารสกัดจากธรรมชาติของจีน ซึ่งเน้นคุณภาพและราคาถูก เพื่อดึงดูดลูกค้าระดับกลางและระดับล่าง สำหรับการนำเข้าเครื่องสำอางมายังตลาดจีนนั้น มีขั้นตอนการขออนุญาตและการตรวจสอบมารตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เข้มงวดจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากสำนักงานบริหารยาแห่งชาติจีน (National Medical Products Administration) ที่ปักกิ่ง และโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศหรือตัวแทนต้องขออนุญาตการนำเข้าเครื่องสำอางจากสำนักงานสาธารณสุขท้องถิ่นประจำเมืองที่ต้องการนำเข้าสินค้า ซึ่งใบอนุญาตนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี สามารถยื่นขอต่ออายุล่วงหน้าได้ 4 - 6 เดือน และต้องแสดงรายละเอียดส่วนผสมของผลิตภัณฑ์บนบรรจุภัณฑ์เป็นภาษาจีนด้วย ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาในการดำเนินการนาน นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดจีน จึงมีเครื่องสำอางจากต่างประเทศไม่กี่รายที่ได้รับอนุญาต แต่ขณะนี้ทางการจีนอนุญาตให้ดำเนินนโยบายพิเศษเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องสำอางทั่วไป "Non-Special Use" เป็นครั้งแรก เปลี่ยนจากการขอใบอนุญาตเป็นการลงทะเบียนบันทึก ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา      

     

           นางณชธร กล่าวทิ้งท้ายว่า เขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ได้แถลงข่าวในงาน China International Import Expo : CIIE ว่า ศุลกากรเซี่ยเหมินจะอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนบันทึกเครื่องสำอางที่นำเข้า โดยไม่ต้องไปขออนุญาตที่ปักกิ่ง เพื่อประหยัดเวลาและลดต้นทุนการนำเข้า ซึ่งดึงดูดความสนใจจากผู้ผลิตเครื่องสำอางนำเข้าเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเข้าจากการขออนุญาตกับหน่วยงานทางการที่ปักกิ่งเป็นการลงทะเบียนบันทึก ถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยอย่างSMEStartup ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จะพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าชาวจีนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งหาช่องทางการขยายตลาดในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน โดยเน้นการประชาสัมพันธ์แบรนด์และคุณภาพของสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นจีนและวัยกลางคนยุคใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง

          สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.thหรือโทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ