ข่าว

รัฐทุ่ม4หมื่นล.บริการรถไฟฟ้ารางเบา "ภูเก็ต-พังงา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยกระดับขนส่งสาธารณะ"ภูเก็ต-พังงา"รัฐทุ่ม4หมื่นล.บริการรถไฟฟ้ารางเบา

 

        อีกไม่นานเกินรอคน"ภูเก็ต-พังงา"จะมีโอาสใช้บริการรถไฟฟ้ารางเบา พร้อม ๆ กับคนเชียงใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจ.เชียงใหม่ จ.พังงา และจ.ภูเก็ต เพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สามารถดำเนินการได้เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังแก้ไขปัญหาการจราจรและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเทียบเท่าสากล

   

      จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่จ.ภูเก็ตหลายครั้ง โดยมี"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานและมีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานราชการของจังหวัภูเก็ต หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา นักวิชาการท้องถิ่น องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรภาคธุรกิจเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคม ชมรมผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ที่มีความสนใจ เข้าร่วมในการสัมมนาเป็นจำนวนมาก

          การสัมมนาแต่ละครั้งได้นำเสนอถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของจังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความเข้าใจ การรับรู้ และการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนของจังหวัดภูเก็ต เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการต่างๆ ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะสำหรับการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนงาน ของโครงการฯ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ รวมถึง ได้ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมนำเสนอรายงานการศึกษาออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบา) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

     ดั่งที่ สราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือสนขเผยถึงความคืบหน้าโครงการดังกล่าว โดยระบุว่าปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมทุน (PPP) ซึ่งเมื่อดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาฯ เสนอบอร์ด รฟม. เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) ต่อไป

       “เบื้องต้นมีภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะใช้รูปแบบ PPP Net Cost เพื่อลดภาระการลงทุนภาครัฐ โดยจะเริ่มทำการก่อสร้างได้ในปี 2563 และจะสามารถให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงาได้ในปี 2566 นี้”

         สำหรับแผนการดำเนินงาน ผอ.สนข.แจงรายละเอียดต่อว่าการก่อสร้างทางวิ่งช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ตถึงห้าแยกฉลอง จะเป็นทางคู่ (Double Track) ตลอดแนวเส้นทาง มีการใช้ช่องจราจรร่วมกับรถยนต์ในบางช่วง โดยจะมีการปรับเปลี่ยนการจราจรในเมืองที่ความเร็วสูงสุด 100 กม.ต่อชม. ในเขตนอกเมือง และความเร็วเฉลี่ย 20 - 40 กม.ต่อชม.ในเขตเมืองและทั้งโครงข่ายจะมีจำนวนทั้งสิ้น 24 สถานี โดยในช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ถึง ห้าแยกฉลอง มี 21 สถานี แบ่งเป็น สถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี, สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี 

        ส่วนการออกแบบสถานีรถไฟฟ้ารางเบานั้น เขาระบุว่าที่ปรึกษาโครงการจะทำการออกแบบให้สอดคล้องกับแผนการเดินรถ ซึ่งสถานีรถไฟฟ้ารางเบานี้มีทั้งสถานียกระดับ สถานีบนดิน และสถานีใต้ดิน ซึ่งบางมาตรฐานอาจจะละเว้นได้สำหรับรูปแบบสถานีบนดิน เพื่อตอบสนองและเป็นไปตามปัจจัย ตามที่กำหนด เช่น รูปแบบอาคารสถานีและสิ่งก่อสร้างสำหรับสาธารณะอื่น ๆ ในโครงการจะคำนึงถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดภูเก็ต ชานชาลาจะสอดคล้องกับระบบปฏิบัติการของการเดินรถ ระบบการสัญจร และระบบการเดินรถ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน ระบบโครงสร้างได้มาตรฐานสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร จำนวนรถไฟในแต่ละเที่ยว หรือการออกแบบมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้เหมาะสมกับสภาพที่ตั้งอาคารได้อีกด้วย

         "โครงการนี้ มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งได้บรรจุไว้ในมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP Fast Track มีการประเมินเงินลงทุนในโครงการที่ 40,000 ล้านบาท"

         อย่างไรก็ตามในวันที่ 2 ธ.ค. 2561 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นแนวทางและนโยบายที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมและรัฐบาล โดยกิจกรรมฯจะมีการเดินขบวน Troop ประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนนบริเวณตามแนวเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดภูเก็ต หรือบริเวณแหล่งชุมชนที่มีประชาชนเดินทางสัญจรเป็นจำนวนมาก เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ที่สร้างการรับรู้ให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว รวมทั้งให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว โดยมีคณะผู้บริหาร จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไป ดารานักแสดง เจ้าหน้าที่ สนข. และเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อร่วมสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์โครงการฯ ในครั้งนี้ด้วย

     

    สำหรับจังหวัดภูเก็ต นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก สร้างรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านบาทต่อปี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเฉลี่ยเดือนละมากกว่าหนึ่งล้านคนตลอดทั้งปี ทำให้ปริมาณการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของจังหวัดภูเก็ตที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ท่าอากาศยาน ทางหลวง ท่าเรือ หรือระบบขนส่งสาธารณะ เกินขีดความสามารถในการรองรับและให้บริการได้ 

       ทำให้การเดินทางสัญจรของประชาชนและนักท่องเที่ยว ระหว่างท่าอากาศยานกับแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงในตัวเมืองภูเก็ตต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างยิ่ง จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในจังหวัดภูเก็ตขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเทียบเท่าสากล เพื่อขับเคลื่อนภูเก็ตสู่การเป็นนครแห่งอันดามัน ที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่อไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ