ข่าว

 เสียงสะท้อนชาวนาไทยทั้งแผ่นดิน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เสียงสะท้อนชาวนาไทยทั้งแผ่นดิน เร่งผนึก"พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย"   

 

          เต้นกันไปทั้งบางเมื่อข้าวหอมกัมพูชานามว่า “มะลิอังกอร์” คว้าแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลกในปีนี้ (2018) จากการประชุมข้าวโลก (TRT World Rice 2018) ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตามด้วยข้าวหอมเวียดนาม ส่วนข้าวหอมมะลิไทยหล่นไปอยู่อันดับ 3 หรืออาจกล่าวได้ว่าเข้าสู่ยุคตกต่ำของข้าวหอมมะลิไทย หลังเสียแชมป์ให้ข้าวหอมประเทศเพื่อนบ้านในห้วง 2-3 ปีมานี้  นับเป็นการก้าวหน้าของการพัฒนาข้าวหอมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ กัมพูชาและเวียดนามที่โดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ 

 เสียงสะท้อนชาวนาไทยทั้งแผ่นดิน!

                  แม้นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย “ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์” จะออกมายืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมไทยเนื่องจากข้าวหอมมะลิไทยมีตลาดหลักที่ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา  หรือฮ่องกง แต่ในอนาคตอาจมีปัญหาหากทุกฝ่ายยังโยงอยู่กับความภูมิใจข้าวหอมไทยในอดีต ที่มองว่าถึงอย่างไรข้าวหอมมะลิไทยยังเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก เพราะตลาดยังรองรับ ลูกค้าเก่ายังยืนยันต้อนรับข้าวหอมไทย 

                  ทว่าลูกค้าใหม่ยังไม่แน่ใจ หากภาครัฐยังมองไม่เห็นค่าก็ไม่แน่ว่าทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่อาจปันใจไปซื้อข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะราคาเย้ายวนใจถูกว่าข้าวหอมมะลิไทยเกือบเท่าตัว ข้าวไทยส่งออกอยู่ที่ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะข้าวเวียดนามอยู่ที่ 660 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

                 ดั่งที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้พูดบนเวทีเสวนา “พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย” ที่จัดโดยกรมการค้าภายในร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว วันก่อน โดยยอมรับว่าตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา  ความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยลดลงไปทุกปี เนื่องจากเรามีคู่แข่งมากขึ้น อย่างเวียดนาม อินเดีย กัมพูชา ประเทศต่อไปที่น่ากลัวคือเมียนมาร์ แม้เปิดประเทศได้ไม่นาน แต่ ณ วันนี้มีปริมาณส่งออกได้แล้วกว่า 3 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกได้ 7 ล้านตัน  แต่ราคาถูกกว่าเรามาก 

                   “วันนี้มันพลิกกลับมาว่า เรามีข้าวอะไรบ้าง ซึ่งวันนี้เรามีแต่ข้าวขาวอย่างเดียว หากจะดูว่ารายรับชาวนาดีขึ้นก็ต้องทำให้เป็นข้าวที่ตลาดต้องการ ซึ่งตลาดใหญ่คือจีน ต้องการข้าวนิ่ม อนาคตหากต้องการแข่งขัน ต้องปรับปรุงตัวเองปลูกข้าวที่ตลาดต้องการ ไม่ใช่ปลูกตามใจเรา คนผลิตกับคนขายต้องมาคุยกัน”

                    สอดรับกับมุมมองของอดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย "มนัส กิจประเสริฐ" ที่มองว่าถ้าถามว่าใครกำหนดราคาข้าว จริงๆ แล้วตลาดโลกเป็นผู้กำหนด ในขณะที่เกษตรกรเข้าใจผิดว่าโรงสีเป็นผู้กำหนด วันนี้ชาวนาต้องมาถามว่าต้นทุนและผลิตได้เท่าไหร่เพื่อให้รู้ว่ามีการจัดการที่ถูกต้องหรือไม่ เราต้องเปลี่ยนมุมมองจากราคาเป็นตัวตั้ง มาเป็นต้นทุนและผลผลิต ปัญหาข้าวขาวไทยมีลักษณะกายภาพที่เหมือนกัน หากเราทำข้าวแข็งและข้าวนุ่ม ก็ต้องแยกให้เห็นชัดเจนและต้องส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุน พัฒนาเพิ่มผลผลิต มากกว่าการแข่งขันด้านราคาขาย  

                     เกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายพันธุ์ข้าว มองว่าปัจจุบันถ้าไม่มีคู่แข่งก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ประเทศที่เคยซื้อข้าวเราวันนี้เปลี่ยนมาเป็นขายข้าวเองแล้ว จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงาน องค์กรเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย  ขาดการวางแผนในการเพาะปลูก วิวัฒนาการเปลี่ยนไปแล้ว การทำนาแบบเดิมๆ ถึงจะทำได้ แต่ไม่พออยู่ ไม่พอกินและไม่พอใช้ ดังนั้นชาวนาจะต้องมีการวางแผนในการปลูก โดยยึดหลักง่ายๆ ตัวเกษตรกร โรงสี และผลผลิตที่ตลาดต้องการ

                    ด้าน สุภาพ โนรีวงศ์ สมาชิกสภาเกษตรกร จ.ฉะเชิงเทรา  ระบุว่า ปัจจุบันชาวนามี 2 ประเภท คือชาวนาที่ทำนาแบบเดิมๆ กับชาวนาที่พร้อมเปลี่ยนแปลง โดยยกตัวอย่างชาวนาเวียดนาม เขาไม่เคยมีการเรียกร้องเรื่องราคาเพราะมีการส่งเสริมทำนาในพื้นที่ที่เหมาะสม ตัวเกษตรกรมีความขยันและรับผิดชอบ ต่างจากชาวนาไทยยิ่งทำยิ่งขาดทุน เพราะไม่เคยยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในขณะที่การพัฒนามีความก้าวหน้าไปมาก ทั้งการใช้เทคโนโลยี ทั้งเรื่องพันธุ์ข้าว ฉะนั้นรัฐควรจะต้องส่งเสริมชาวนาให้ปลูกข้าวพันธุ์ดีและมีความหลากหลาย เน้นการทำนาแปลงใหญ่ จากชาวนาที่มีคุณภาพ 

                     “ผมเพิ่งไปดูงานที่เวียดนามกับกรมการข้าวมา เกษตรกรที่นั่นเขาไม่ได้เรียกร้องเรื่องราคาเลย นาเป็นระบบแปลงใหญ่ มีบริษัทฮานยาง ดูแลตลาดให้ ใครอยู่ในระบบแปลงใหญ่เมื่อขายผลผลิตเขาจะบวกให้เพิ่มอีก 20% ของราคาตลาด บ้านเราก็เหมือนกัน 22 จังหวัดต้องทำเพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าว ถ้าพื้นที่ไหนไม่เหมาะสมผลผลิตไม่ดีก็ต้องเลิก อย่าดันทุรัง”          

                   ขณะที่   รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ มองว่าเวลาพูดถึงเกษตรกรมี 2 ประเด็น หนึ่ง เกษตรกรมีหุบเหวที่ไม่สามารถก้าวผ่านได้ ทำไร่นาโดยอาศัยความเป็นอดีตที่เคยทำมา ไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงโลก ทั้งต้นทุน มาตรฐานข้าว การผลิตที่ยังปล่อยไปตามยถากรรม สอง การเข้าถึงกลไกตลาด เมื่อก่อนมีตลาดกลาง แต่หลังมีการรับจำนำข้าว ความหายนะเกิดขึ้น ฟังจากโรงสีเพียงแห่งเดียว แล้วไปสรุป ทำให้ตลาดข้าวดิ่งเหว กลไกตลาดไม่มีประสิทธิภาพ

                    “เดี๋ยวนี้เกี่ยวเสร็จส่งเข้าโรงสี ไม่มีท่าข้าว เราอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลง เรื่องนวัตกรรมมีส่วนเพิ่มคุณค่า และมูลค่าที่สูงขึ้น เช่นการเปลี่ยนจากผลิตจากเคมีเป็นอินทรีย์ เวียดนามใช้นวัตกรรมเป็นตัวยกระดับข้าว มีการเชื่อมโยงการผลิตและตลาดไปด้วยกัน จากที่เคยส่ง 2 แสนตัน ล่าสุด 1.3 ล้านตัน การพัฒนาพันธุ์ก้าวกระโดด ในขณะที่ไทยยังหลงทางมีการพัฒนาที่ช้ามาก ทางแก้ที่ยกระดับข้าวไทยมี 2 แบบ ลดต้นทุนให้ต่ำ ถ้าต้องการเน้นปริมาณก็ต้องเชื่อมโยงตลาด ต้นน้ำต้องดี อินทรีย์เป็นหลัก สร้างกลไกตลาดสมัยใหม่ให้ได้ ชาวนาไทยถึงจะอยู่รอด” 

         

              ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า สมาคมผู้ส่งออกโรงสี ชาวนา รวมตัวกันยากมาก เพราะสังคมไทยเป็นแบบปัจเจก สหกรณ์ บ้านเราชาติหน้าก็ไม่มีวันเข้มแข็งเพราะปัญหาเรื่องการเมือง เป็นผลประโยชน์ของผู้นำไม่ใช่เกษตรกร การทำนาด้วยระบบมือถือจะไปไม่รอด ปลูกข้าวแล้วเสี่ยงขาดทุน เรากำลังผ่านจุดสูงสุดอุตสาหกรรมข้าวไทย สาเหตุหนึ่งเพราะต้นทุนสูง ขายข้าวได้ราคาต่ำ ราคาผันผวนและขาดแคลนแรงงาน

                   “เราไม่สนใจลงทุนข้าวจริงจัง มีแต่ข้อมูลเก่าๆ เป็นตัวตัดสินใจ เลยทำให้แห่กันไปตาย ความรู้เรื่องการส่งเสริม เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีไปอยู่เอกชนหมด พลังตลาดทำให้ข้าวในตลาดเหลือสายพันธุ์ไม่มาก ที่สำคัญการปฏิรูประบบวิจัยภาครัฐ ระบบต้องสนองตลาดและเกษตรกรเป็นสำคัญ” นักวิชาการเกียรติคุณกล่าวย้ำ 

                   อย่างไรก็ตามล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมนั้นได้หารือถึงสถานการณ์ข้าวทั่วไปและไม่กังวลกรณีข้าวหอมมะลิของกัมพูชา หรือมะลิอังกอร์ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวดีที่สุดในโลกประจำปี 2018  เพราะคุณภาพข้าวไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง การตลาดก็ไม่มีปัญหาตามที่นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยืนยันว่าการได้แชมป์ข้าวหอมของกัมพูชาไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย เพราะส่วนใหญ่ผู้ซื้อที่อยู่ต่างประเทศเขาเข้าใจดีว่าข้าวของไทยมีคุณภาพและยังต้องการข้าวหอมไทย 

                   “คาดการณ์กันว่าในสิ้นปีนี้เราจะมีข้าวส่งออกประมาณ 10 ล้านตัน ถือเป็นปริมาณที่เยอะมากและเป็นเรื่องดี เนื่องจากเรามีแผนบริหารข้าวอย่างครบวงจร” พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันภายหลังการประชุมนบช.ในวันดังกล่าว 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ