ข่าว

ปรับโครงสร้างสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรับโครงสร้างสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางรับภารกิจขยายเส้นเลือดฝอยในไร่นา

 

       กรมชลประทาน นอกจากพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังต้องพัฒนาระบบส่งน้ำด้วย
       ระบบชลประทานที่สมบูรณ์แบบนั้นจะต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือส่วนเก็บกักน้ำ อันได้แก่ 
อ่างเก็บน้ำ ส่วนทดน้ำและระบบส่งน้ำ อันได้แก่ คลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย สายแยกซอย อันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ 


       ตามมาด้วยส่วนของระบบที่รับไม้ต่อ ได้แก่ ระบบชลประทานในระดับไร่นา หมายถึงระบบส่งน้ำที่รับน้ำจากส่วนทดน้ำและระบบส่งน้ำ อีกทีในรูปคูส่งน้ำ ซึ่งจะเข้าถึงไร่นาโดยตรง เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่รับไม้จากเส้นเลือดใหญ่ เพื่อนำน้ำเข้าถึงแปลงอีกทอดหนึ่ง
       การส่งน้ำแบบเส้นเลือดใหญ่นั้นมักกระทำควบคู่หรือต่อเนื่องจากการพัฒนาแหล่งน้ำ ในขณะการแพร่กระจายน้ำแบบเส้นเลือดฝอย เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ซึ่งดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และการจัดรูปที่ดิน
       การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เดิมทีเรียกคันคูน้ำ เป็นการส่งน้ำผ่านระบบคูน้ำถึงแปลงไร่นา โดยที่กรรมสิทธิในที่ดินยังเป็นของเกษตรกรเหมือนเดิม เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นระบบจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เมื่อมารวมกับการจัดรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558
      ส่วนการจัดรูปที่ดินฯ ดำเนินการทดลองในพื้นที่ชลประทานภาคกลางแถบ จ.สิงห์บุรี เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2510 ต่อมาตราเป็นพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2517 และจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง
       เดิมทีวางแผนว่าทั้งระบบส่งน้ำเส้นเลือดใหญ่ กับระบบแพร่กระจายน้ำเส้นเลือดฝอยนั้น จะดำเนินควบคู่ไปด้วยกันภายใต้ร่มธงกรมชลประทาน แต่สุดท้ายเมื่อแยกงานจัดรูปที่ดินไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งานคันคูน้ำจึงยังคงอยู่กรมชลประทานในลักษณะแยกกันอยู่และต่างฝ่ายต่างทำ
       ก่อนงานจัดรูปที่ดินจะหวนกลับมาอยู่ภายใต้กรมชลประทานก็ร่วม10 กว่าปีเศษที่ผ่านมา
       ในเชิงโครงสร้าง แม้จะอยู่ในกรมชลประทานเดียวกัน และโอนงานคันคูน้ำมาอยู่ในสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง แต่ในทางกฎหมายต่างฝ่ายต่างมีกฎหมายเป็นของตัวเอง งบประมาณต่างฝ่ายต่างตั้งเรื่องขอกันเองตามโครงสร้างเก่า จนเมื่อปี 2558 ได้มีการตรา พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558 โดยรวมงานทั้งสองเข้าอยู่ด้วยกัน จึงเป็นการกลับสู่ทิศทางเดิม โดยงานคันคูน้ำเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับงานจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
       ภายใต้กฎหมายใหม่มีการปรับโครงสร้างใหม่ จากเดิมที่มีสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัด 27 จังหวัด และโครงการปฏิบัติการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 17 โครงการ ก็ยุบรวมและเรียกใหม่ว่า สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 35 สำนัก ทำหน้าที่ทั้งจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยสำนักหนึ่งๆ มีพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่จังหวัดเดียวจนถึงหลายจังหวัด รับผิดชอบทั่วทั้งประเทศไทย
       ข้อดีของโครงสร้างใหม่ของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางภายใต้ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558 คือการขยายบทบาทการแพร่กระจายน้ำทั้ง 2 ระบบ ภายใต้หน่วยงานเดียวกันและครอบคลุมพื้นที่แทบทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงงานแพร่กระจายน้ำได้ง่ายขึ้น และไม่สับสน
        นับแต่อดีตจนถึงปี 2560 กรมชลประทานได้มีการจัดรูปที่ดินไปแล้ว 2.01 ล้านไร่ และจัดระบบน้ำมาแล้ว 11.03 ล้านไร่ รวม 13.04 ล้านไร่ จากพื้นที่ชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่
        อย่างไรก็ตาม เป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ตามแผนแม่บทของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง วางแผนจัดระบบแพร่กระจายน้ำรวม 14.461 ล้านไร่  โดยแบ่งเป็นงานจัดรูปที่ดิน 2.085 ล้านไร่ และงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 12.376 ล้านไร่
        พิจารณาจากตัวเลขเป้าหมายพื้นที่การแพร่กระจายน้ำเปรียบเทียบกับผลงานที่ผ่านมาในอดีต เป็นเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้นลง สะท้อนว่าสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเองเร่งรัดสร้างผลงานเร็วขึ้นและมากขึ้น
        การที่ตัวเลขการจัดรูปที่ดินมีน้อยกว่าการจัดระบบน้ำ สืบเนื่องจากความยากง่ายและขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งงานจัดรูปที่ดินเป็นงานที่อาศัยความประณีต เป็นความต้องการของราษฎรและเป็นที่ดินของราษฎรที่เมื่อจัดรูปที่ดินแล้วที่ดินส่วนหนึ่งที่ใช้เพื่อสาธารณะไม่เกิน 7% ต้องเป็นของรัฐในรูปคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียง และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังต้องร่วมลงขันค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างไม่เกิน 20% โดยภาครัฐรับผิดชอบไปกว่า 80%
        ในขณะการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เกษตรกรร่วมออกค่าใช้จ่ายไม่เกิน 10% โดยรัฐรับผิดชอบไปกว่า 90% และกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ใช้ก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรเหมือนเดิม แต่สภาพแปลงที่ดินยังมีลักษณะเป็นที่ดินตาบอด ต่างจากการจัดรูปที่ดินที่ขจัดที่ดินตาบอดได้ทั้ง 100% กล่าวคือทุกแปลงมีเส้นทางลำเลียงเข้าถึงทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดเด่นที่จูงใจให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเลือกจัดรูปที่ดินเช่นกัน
  

     อย่างไรก็ตาม  การแพร่กระจายน้ำในรูปแบบการจัดระบบน้ำก็ยังต่อยอดไปเป็นการจัดรูปที่ดินในภายหลังก็มีเช่นกัน ดังกรณีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากเดิมที่เคยก่อสร้างเป็นระบบคันคูน้ำ หรือการจัดระบบน้ำในปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นการจัดรูปที่ดิน
        แต่ไม่ว่าจะจัดระบบแพร่กระจายน้ำด้วยรูปแบบใดก็ล้วนเป็นประโยชน์ร่วมของเกษตรกรทั้งสิ้น ทั้งในแง่การเข้าถึงน้ำ เส้นทางลำเลียง ซึ่งนอกจากสะดวกสบายขึ้นแล้ว ยังลดต้นทุนการผลิต และการได้น้ำอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยเพิ่มผลผลิต และเพิ่มพูนรายได้ไปในตัวเช่นกัน
    ล้วนตอบโจทย์การแพร่กระจายน้ำเข้าถึงแปลงนาอย่างถ้วนทั่วและประหยัดน้ำ รวมทั้งสร้างความสุขให้แก่เกษตรกร ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการชลประทานและกรมชลประทานโดยสมบูรณ์ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ