ข่าว

 กสทช.เพิ่งตื่นทวงเงินรายได้ช่วงมาตรการเยียวยา1800

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 กสทช.เพิ่งตื่นทวงเงินรายได้ช่วงมาตรการเยียวยา1800

 

 กสทช.เพิ่งตื่นทวงเงินรายได้ พร้อมดอกเบี้ยในช่วงมาตรการเยียวยา 1800 จากทรูมูฟ-ดีพีซี ทั้งที่ผ่านมากกว่า 5 ปี  ชี้เงื่อนงำสุดพิสดารตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายได้เองแต่กลับไม่เชื่อถือ ผุดกก.กลั่นกรองใหม่เอื้อประโยชน์เอกชนจนปิดบัญชีไม่ลง  


            รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มีมติให้สำนักงาน กสทช.มีคำสั่งทางปกครองไปยังบริษัท ทรูมูฟ จำกัดและดีพีซี จำกัดเพื่อทวงเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์(MHz)ในช่วงมาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานตามประกาศ กสทช.ปี 2556 โดยทรูมูฟต้องนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวน 3,381 ล้านบาทและดีพีซี จำนวน 869.5 ล้านบาทว่ามติ กสทช.ดังกล่าวเป็นเพียงการแก้เกี้ยวเพื่อกันตนเองไม่ให้ถูกฟ้องร้องในภายหลังเท่านั้น    
               ทั้งนี้ ปัญหาเงินเยียวยาจากการใช้งานคลื่นความถี่ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายของ กสทช.เองที่โอนเอนและมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทสื่อสารบางรายจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะแม้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) จะแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบรายได่ในช่วงมาตรการเยียวยาขึ้นมาคำนวณเงินรายได้ที่บริษัททรูมูฟและดีพีซีต้องนำส่งเข้ารัฐ 
             แต่เมื่อคณะทำงานได้สรุปตัวเลขรายได้ที่สองบริษัทสื่อสารต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนกว่า 14,686 ล้านบาท แยกเป็นของบริษัททรูมูฟ 13,989.24 ล้านบาทและดีพีซี 765  ล้านบาท หลังบริษัทสื่อสารเอกชนออกมาโต้แย้ง โดยอ้างมีรายจ่ายมากกว่ารายได้  สำนักงานกสทช.จึงแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองรายได้ในช่วงมาตรการเยียวยาขึ้นมาอีกชุด ก่อนสรุปตัวเลขที่ทรูมูฟต้องจ่ายเข้ารัฐออกมาเพียง 1,069.98 ล้านบาท แตกต่างจากเดิมกว่า 12,000 ล้านบาท ทำให้บอร์ด กทค.ไม่กล้าชี้ขาด

           และแม้กสทช.จะร้องขอให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ร่วมตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบตัวเลขรายได้ใหม่ในช่วงปลายปี 59 ก่อนมีข้อสรุปให้ทรูมูฟต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐ 3,381 ล้านบาท แต่บอร์ด กทค.และกสทช.ก็ไม่กล้าชี้ขาด เพราะไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของตัวเลขดังกล่าวที่แตกต่างจากที่คณะทำงานติดตามและตรวจสอบสรุปเอาไว้ จึงทำให้เรื่องคาราคาซังมาจนกระทั่งปัจจุบัน
           “การที่กสทช.ปัดฝุ่นเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพร้อมสั่งให้สำนักงาน กสทช.ออกคำสั่งทางปกครองให้ 2  บริษัทเร่งนำส่งรายได้ในช่วงมาตรการเยียวยาเข้ารัฐ จึงเป็นแค่มาตรการเพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ถูกฟ้องร้องในภายหลังเท่านั้น เพราะตัวเลขที่ กสทช.เคาะออกมาล่าสุดก็ยังไม่มีข้อยุติ ยิ่งเมื่อนำไปเมื่อเทียบกับรายได้ในช่วงมาตรการเยียวยาคลื่น 900 MHz ที่คณะทำงานติดตามและตรวจสอบเงินรายได้ของ กสทช.สรุปออกมาในภายหลัง ทั้งที่มีระยะเวลายาวยาแค่ 9 เดือนแต่กลับถูกเรียกเก็บเงินเข้ารัฐสูงถึง 7,200 ล้านบาท เทียบกับตัวเลขรายได้จากการใช้งานคลื่น 1800 ที่แม้จะมีระยะเวลาเยียวยากว่า 2 ปี แต่กลับเคาะตัวเลขออกมาแค่ 3,381 ล้านบาทเท่านั้น จึงยิ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล  และเชื่อว่าที่สุดแล้ว กสทช.ก็ยากจะปิดบัญชีเงินเยียวยาลงได้”  

    

         แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ล่าสุดจากการที่ผู้บริหารดีแทค ออกมาฟ้องร้องกสทช.เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวลูกค้าดีแทคที่มีอยู่ร่วม 1 ล้านราย โดยระบุว่าหากรัฐและกสทช.ออกมาตรการเยียวยาให้ กระทรวงการคลังจะมีรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่เดือนละ 100 ล้านบาทน้ัน ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดถึงความพยายามปิดบัญชีเงินเยียวยาการใช้งานคลื่นความถี่ 1800 ในอดีต ที่ในขณะน้ันมีฐานลูกค้าอยู่ถึง 17-18 ล้านเลขหมาย แต่กลับเคาะตัวเลขออกมาเพียง 3,381 ล้านบาทเท่านั้นทั้งที่มีระยะเวลาเยียวยาร่วม 2 ปี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ