ข่าว

โตโยต้า ประกาศแผนลงทุนในแกร๊บมูลค่า 1 พันล้านดอล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โตโยต้า ประกาศแผนลงทุนในแกร๊บมูลค่า 1 พันล้านดอล

  

     โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นประกาศทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ลงทุนในแกร็บ ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันเรียกรถรับส่งรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการลงทุนจากโตโยต้าในครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่สุดของค่ายรถยนต์ในอุตสาหกรรมเรียกรถรับส่ง

 

        ภายใต้ข้อตกลงลงทุนพันล้านดอลลาร์ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นครั้งนี้ทั้งแกร็บ และโตโยต้าจะช่วยกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายความร่วมมือทั้งในเรื่องของรถยนต์ และผลักดันให้เกิดโซลูชั่นใหม่ๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนายหมิง หม่า ประธานบริษัทแกร็บ ระบุว่า นอกจากจะพัฒนาให้เกิดโซลูชั่นใหม่ๆ แล้ว ยังจะมีการขยายการบริการแบบโอ2โอ (Online to Offine) บนมือถืออย่างแกร็บฟู้ด และแกร็บเพย์ในภูมิภาคด้วย รวมทั้งยังมีการเพิ่มบริการในด้านของประกันภัยในระดับพรีเมียมเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่

       นอกจากนี้ ผู้บริหารของโตโยต้า 1 คน จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดบริหารของแกร็บ และจะมีการส่งทีมงานเข้าไปร่วมทำงานในระดับลึกกับทีมงานของแกร๊บ ที่เปิดให้บริการใน 217 เมืองของ 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในรูปแบบของการเรียกรถรับส่ง บริการด้านอาหาร ส่งพัสดุ  บริการจ่ายเงินบนมือถือ และบริการทางการเงินผ่านมือถือโดยใช้แอพพลิเคชัน

      การเคลื่อนไหวของโตโยต้าครั้งนี้ มีขึ้่นหลังจากบริษัทบริการเรียกรถโดยสารอูเบอร์ เทคโนโลยี ตกลงขายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับแกร็บ บริษัทคู่แข่งรายใหญ่กว่าในภูมิภาค  โดยอูเบอร์จะถือหุ้นมากถึง 27.5% เมื่อรวมกิจการกันแล้ว

       ก่อนหน้านี้ ซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป ของญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในอูเบอร์ ทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญรายหนึ่งของแกร็บ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันมากว่า อูเบอร์น่าจะรวมกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับแกร็บ ซึ่งความเคลื่อนไหวของอูเบอร์ครั้งนี้เป็นการปรับกลยุทธ์ของนายดารา คอสโรว์ชาฮี ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ของอูเบอร์ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนนายทราวิส คาลานิก ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของอูเบอร์ เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว

ปรับตัวรับยุคเทคโนโลยี

     ที่ผ่านมา โตโยต้าเคยลงทุนในแกร๊บ เพื่อพัฒนาความร่วมมือระบบเก็บล็อกคนขับรถ ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือและการลงทุนที่มากขึ้นในครั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาระบบการเงิน ประกันภัย และการซ่อมบำรุง สำหรับรถยนต์ที่ดีขึ้น ซึ่งผู้บริหารทั้งจากโตโยต้าและ แกร๊บกล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ทั้งสองบริษัท ร่วมกันพัฒนาการเดินทางให้มีความปลอดภัย มีราคาที่เข้าถึงได้ สำหรับลูกค้าแกร๊บในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

      โตโยต้า ค่ายรถยนต์ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในโลก ประมาณ 221,000 ล้านดอลลาร์และมีเงินสดหมุนเวียนประมาณ 54,000 ล้านดอลลาร์พยายามปรับตัวเพื่อรับมือกับกระแสการเติบโตของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในรูปแบบของการปรับตัวของค่ายรถชั้นนำแห่งนี้คือการจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้

     อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของโตโยต้าครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากค่ายรถชั้นนำระดับโลกอย่างเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) สัญชาติสหรัฐ ลงทุนในบริษัทลิฟต์ อิงค์  ซึ่งให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้างเพื่อพัฒนารถขับเคลื่อนอัตโนมัติแข่งกับบรรดาผู้ให้บริการรถขับเคลื่อนอัตโนมัติรายอื่นๆ รวมถึงเวย์โม ของอัลฟาเบท อิงค์  เช่นเดียวกับฮอนด้า ที่ลงทุนในแกร๊บในรูปแบบของการเป็นหุ้นส่วนโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การขยายธุรกิจให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พึ่งฐานข้อมูลจากบิ๊กดาต้าต่อยอดธุรกิจ

       การลงทุนของโตโยต้าทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีฐานข้อมูลจำนวนมาก (บิ๊กดาต้า)ทั้งจากโตโยต้าและแกร๊บ แต่การลงทุนจากยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์กับแกร๊บครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะในปี 2559 ฮอนด้าได้ร่วมมือกับซอฟต์แบงก์และตีติ ชูซิง เพื่อลงทุนกว่า 750 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธุรกิจของแกร๊บเติบโตมากขึ้นหลังเข้าซื้อกิจการอูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ลดการแข่งขันในภูมิภาคนี้ไปทันที ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงสิ้นปี 2560 มีการเรียกใช้บริการจากผู้ใช้งานกว่า 1,000 ล้านเที่ยว ผ่านจำนวนผู้ขับกว่า 2 ล้านคน และมีการเรียกใช้บริการเฉลี่ย 3.5 ล้านเที่ยวต่อวัน

       มูลค่าธุรกิจของแกร๊บในปัจจุบันทะยานสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ และมีความเป็นไปได้สูงที่แกร๊บจะเข้าไประดมทุนนตลาดหลักทรัพย์ แม้นายแอนโธนี ตัน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จะมองว่ายังมีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ได้จบแค่การเข้าไปทำไอพีโอ เท่านั้น

ระบุยังไม่มีผลกับประเทศไทย

       แหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทแม่ได้ส่งหนังสือแจ้งมายังบริษัท เพื่อให้รับทราบว่าจะมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว เพื่อให้มีความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ ตรงกัน แต่การดำเนินการครั้งนี้จะยังไม่มีผลอะไรกับประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในด้านนี้มากนัก และธุรกิจของแกร็บในไทย ก็ยังมีปัญหากับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ซึ่งคงต้องใช้เวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการแก้ไขให้มีความชัดเจนก่อน นอกจากนี้ยังเห็นว่า รูปแบบคาร์ แชริ่ง ในไทยอาจจะต้องใช้เวลาในการยอมรับอีกระยะ 

        ทั้งนี้ที่ผ่านมา โตโยต้า ประเทศไทย สนใจการดำเนินการด้านคาร์ แชริ่ง อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคตเมื่อเข้าสู่ยุคที่ผู้บริโภคหมดแรงจูงใจที่จะซื้อรถ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในหลายที่ รวมถึงญี่ปุ่น ที่คนรุ่นใหม่ นิยมเดินทางด้วยบริการสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า และใช้รถยนต์บ้างหากจำเป็น แต่เป็นการเช่า หรือ คาร์แชริ่ง มากกว่าการซื้อรถเอง ซึ่งเห็นว่าเป็นภาระทั้งค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา รวมไปถึงภาระในการหาที่จอดรถ

โตโยต้าปูฐานความรู้คาร์แชริ่ง

        โดยโตโยต้า เริ่มต้นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นการปูทางสร้างการรับรู้ การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในพื้นที่ปิดคือ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการ “ซียู-โตโยต้า ฮา:โม่” (CU-TOYOTA HA:MO) โดยนำรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ขนาด 1 ที่นั่งมาให้บริการ ช่วงแรก 10 คัน ก่อนจะเพิ่มอีก 20 คัน ปีหน้า รวมเป็น 30 คัน หลังจากนั้นจะทบทวนโครงการซึ่งมีระยะเวลา 2 ปี พร้อมสรุปผล ก่อนทีจะเข้าสู่โครงการระยะที่ 2 ต่อไป 

       ซียู-โตโยต้า ฮา:โม จะจัดสถานีจอดรถภายในมหาวิทยาลัย 12 สถานี ติดตั้งสถานีชาร์จไฟ 10 สถานี เป้าหมายผู้ใช้งานมีทั้งอาจารย์ บุคลากร นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ที่สมัครสมาชิกโดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และค่าบริการใช้งาน 30 บาท/ครั้ง ในเวลา 20 นาที หากเกินคิดเพิ่มนาทีละ 2 บาท โดยผู้ใช้บริการสามารถจอดรถคืนที่สถานีไหนก็ได้ 

       ทั้งนี้โตโยต้ามีความคาดหวังว่าในอนาคต จะใช้โมเดลนี้ออกไปบริการภายนอก เช่น อาคารสำนักงาน หรือคอนโด ที่คนต้องการใช้รถเป็นครั้งคราวโดยไม่ต้องมีรถส่วนตัว 

เร่งเคลียร์ข้อกฎหมาย 

       สำหรับการดำเนินธุรกิจของแกร็บในไทยนั้น ก่อนหน้านี้นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายนอกจากจะเข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภคให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในแง่การเดินทาง ยังต้องการจะเป็น วัน สต๊อป เซอร์วิส แอพพลิเคชั่น ที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้ครบทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น การเรียกรถโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นแกร็บคาร์ แกร็บแท็กซี่ หรือ แกร็บไบค์ หรือ ส่งเอกสาร ส่งของ ส่งอาหาร หรือ แกร็บ ฟู้ดที่มีพันธมิตรกวกว่า 4,000 ร้าน

      โดยใน 8 ประเทศที่แกร็บให้บริการ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ก็พยายามจะพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองให้ก้าวเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าว แต่ในไทยเองนั้น ยังมีกระบวนการหลายอย่างที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะใช้เวลามากกว่า 1 ปีกว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

       “สิ่งที่เราต้องตระหนักคือทำทุกอย่างภายใต้กฎหมายของประเทศนั้นๆ ซึ่งก็มีการหารือใน Sandbox มาบ้างแต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยสิ่งที่แกร็บต้องรับผิดชอบคือ ผู้โดยสารที่ใช้บริการแกร็บในทุกๆวัน และผู้ขับขี่ที่เข้ามาร่วมกับแกร็บ”

 

ที่มา  กรุงเทพธุรกิจ
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ