ข่าว

“อมตะกรุ๊ป”ผนึก“ซาบ” ตั้งเมืองการบินใน“อีอีซี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“อมตะกรุ๊ป”ผนึก“ซาบ” ตั้งเมืองการบินใน“อีอีซี”

                นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงความร่วมมือกับ บริษัท ซาบ เอบี ผู้ผลิตและให้บริการอากาศยาน สัญชาติสวีเดน ว่า บริษัทอมตะฯได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเมืองอากาศยาน กับ บริษัท Saab AB โดยมีนายโฮคัน บุชเคอ (Mr . Hakan Buskhe) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้าร่วมลงนามในความตกลงดังกล่าว ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การ พัฒนา “เมืองอัจฉริยะ และเมืองอากาศยาน” ในนิคมอมตะนคร จ.ชลบุรี ที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

             ทั้งนี้ แนวทางความร่วมมือจะครอบคลุมการศึกษาและพัฒนาทั้งทางด้านการจราจรภายในเมืองอัจฉริยะ  การวางระบบผังเมืองอัจฉริยะ การฝึกอบรมแบบการบินจำลอง และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ที่จะทำให้ไทย เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอากาศยานทั้งในระดับเอเซีย และในระดับโลก คาดว่าในช่วงต้นปีหน้าโครงการลงทุนต่างๆจะชัดเจน โดยแนวทางความร่วมมือกับ Saab จะเป็นในรูปแบบการตั้งบริษัทลูกของอมตะ เข้ามาร่วมลงทุนกับ ซาบ แต่จะมีรายละเอียดสัดส่วนการลงทุนเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา

               “สาเหตุที ซาบ เลือกที่จะลงทุนในไทย เนื่องจากมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีเที่ยวบินเข้ามาใช้สูงถึง 58 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จึงต้องเร่งขยายสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาขึ้นรองรับ รวมทั้งธุรกิจการบินในภูมิภาคนี้เติบโตรวดเร็ว โดยศูนย์ฝึกอบรมนักบินนี้สามารถรองรับการฝึกบินได้ทั้งเครื่องบินของสหรัฐ และยุโรป ซึ่งจะช่วยรองรับการผลิตนักบินป้อนให้กับสายการบินต่างๆในภูมิภาคนี้”

ทุนชิ้นส่วนเครื่องบินเล็งลงทุน

               โดยในขณะนี้มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เข้ามาลงทุนในนิคมของอมตะแล้วกว่า 10 โรงงาน และอยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนอีก 3-4 รายจากสหรัฐ และยุโรป เนื่องจากโครงการสนามบินอู่ตะเภา เป็นแรงผลักดันทำให้มีอุตสาหกรรมการบินเข้ามาลงทุนใน อีอีซี และนิคมฯอมตะเพิ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเมืองอากาศยาน จะนำไปสู่การพัฒนา และรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่สำคัญของประเทศ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า 

             นายวิกรม กล่าวอีกว่า ได้เตรียมที่ดินไว้ 8 พันไร่ พัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ และเมืองอากาศยาน ขณะนี้มีโครงการลงทุนกว่า 11 โครงการที่เป็นรูปธรรม ใช้เงินลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะ การสัญจรอัจฉริยะ 3 ชุมชนอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ มหาวิทยาลัย ระบบอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เมืองอากาศยานอัจฉริยะ และนวัตกรรมอัจฉริยะ

               นอกจากนี้ แนวทางการลงทุนของอมตะ จะมุ่งเน้นการเข้าในร่วมลงทุนกับลูกค้าที่เข้ามาอยู่ในนิคมฯ ทำให้ขณะนี้มีบริษัทลูกร่วมทุนแล้วเกือบ 40 บริษัท และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 50 บริษัท ซึ่งจะเป็นแนวทางการขยายธุรกิจในอนาคต

                นายโรเบิร์ด ฮิวสัน หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ บริษัท ซาบ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า บริษัท ซาบ เอบี เป็นสัญชาติสวีเดนที่ผลิตและให้บริการเกี่ยวกับ อากาศยานด้านการป้องกันประเทศ  อากาศยานด้านการทหาร และอากาศยานเพื่อความมั่นคงของพลเรือน ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก โดยซาบได้เริ่มเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯในปี2541

                โดยสาเหตุที่เลือกลงทุนในไทย เพราะว่าไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน เชื่อมั่นว่าธุรกิจการบินจะเติบโตได้ดี และไทยยังเป็นประเทศสำคัญในอาเซียน ซึ่งส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ ซึ่งการลงนามเอ็มโอยูร่วมกับ บ.อมตะ ในครั้งนี้ เพื่อศึกษาโครงการเมืองการบินในสมาร์ทซิตี้ ซึ่งการที่เลือกที่จะร่วมลงทุนกับ อมตะ เพราะว่ามีบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทยหลายรายชักชวนเข้ามา และอมตะยังมีแนวคิดการดำเนินงานสอดคล้องกับซาบ ในเรื่องการทำสมาร์ทซิตี้ ทำให้มีระบบงานรองรับการลงทุนของซาบที่ดี โดยโครงการศึกษาในครั้งนี้มีอายุ 2 ปี ซึ่งจะต้องใช้เวลาเป็นปีในการศึกษาจนกว่าจะตัดสินใจลงทุน 

                พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนายโฮคัน บุชเคอ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซาบ ซึ่งเป็นบริษัทด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงจากประเทศสวีเดน วานนี้ (5ต.ค.) ว่า ผู้บริหารของซาบมองว่าพื้นที่อีอีซีในไทยเป็นพื้นที่มีศักยภาพสามารถเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงของซาบ ได้เพราะปัจจุบันซาบ มีการผลิตและส่งออกเครื่องบินทั้งเครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์ขนาด 30-70 ที่นั่ง ซึ่งปัจจุบันส่วนของไทยเองมีการนำเข้าเครื่องบินรบจากซาบ แต่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีการใช้เครื่องบินพาณิชย์ เช่น มาเลเซีย และเมียนมา

                 สำหรับการหารือกับนายมาซามิตสึ โอคามูระ กรรมการและประธานกลุ่มระบบอิเล็กทรอนิกส์บริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริค ได้เข้าพบหารือได้ให้ข้อมูลถึงแผนที่อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทล็อกซ์เล่ย์ของไทยที่จะพัฒนากิจการด้านอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการผลิตสินค้าเพื่อใช้ใสครัวเรือนโดยการนำเทคโนโลยีทีมิตซูบิชิมีความเชี่ยวชาญคือดาวเทียมสื่อสาร เรดาร์และอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์(IoT)

                 ทั้งนี้การเดินทางมาประเทศไทยของประธานกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของมิตซูบิชิ อิเล็กทริค ครั้งนี้สืบเนื่องจากที่บริษัทได้ร่วมคณะนักลงทุนของญี่ปุ่น600คนที่มาเยือนไทยในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งไทยหวังว่าทางนักลงทุนจะพิจารณาเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งผลักดัน เพื่อยกขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทย ซึ่งอุตสาหกรรมดาวเทียมและส่วนประกอบเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายของประเทศไทยที่รัฐบาลให้การสนับสนุนซึ่งหากมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ