ข่าว

“สมคิด”สั่งเร่งปล่อยกู้ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สมคิด”สั่งเร่งปล่อยกู้ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี 8.3 หมื่นล.ในปีนี้

                 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมมาตรการสนับสนุนด้านการเงินแก่เอสเอ็มอี ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ปลัดกระทรวงการคลัง และตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ ว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้วางเป้าหมายที่จะช่วยเหลือด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆได้เต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะอัดฉีดสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีเอสเอ็มอีบางส่วนยังเข้าไม่ถึงวงเงินสินเชื่อ โดยได้ให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปเข้าไปค้ำประกันวงเงินกู้ให้หมด 8.3 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ 
               นอกจากนี้ จะต้องเร่งส่งเสริม เอสเอ็มอี ให้มีการส่งออกมากขึ้น โดยการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ให้เอสเอ็มอีได้ประโยชน์ของเครื่องมือทางการเงิน ในการบริหารความเสี่ยงได้มากขึ้น เพื่อขยายการส่งออก ซึ่งได้ให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) เข้าไปช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น เพื่อให้เอสเอ็มอีขยายตลาดต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง 
             “ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือจากนั้นก็นำไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังให้ชัดเจนภายในเดือนนี้  ก่อนที่จะประกาศออกมาเป็นมาตรการช่วยเหลือต่อไป” 
                   นายสมคิด กล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอีไม่ได้มีเพียงมาตรการด้านการเงิน แต่จะต้องมีมาตรการการให้ความรู้ในการทำธุรกิจยุคใหม่ให้กับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด โดยในส่วนนี้ได้ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผลิตบุคลากรเพื่อที่จะไปเป็นโค้ชให้กับเอสเอ็มอีให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ 
              รวมทั้งจัดหาโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมารองรับ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ให้เป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ และจัดหาห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือ และโรงงานต้นแบบเพื่อให้ความรู้ในทุกๆด้านกับเอสเอ็มอี โดยจะนำร่องแห่งแรกที่ จ.อุบลราชธานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สอท. จังหวัด และหอการค้าจังหวัด จัดทำศูนย์ให้ความรู้และโรงงานต้นแบบให้กับเอสเอ็มอี และจะกระจายโมเดลนี้ไปยังศูนย์ภูมิภาคที่เหลือทั้ง 10 แห่ง ซึ่งจะต้องตั้งให้เสร็จภายในวันที่ 31 ก.ย.นี้ รวมทั้งยังได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ให้ความรู้และพื้นที่ส่วนกลางและห้องปฏิบัติการให้เอสเอ็มอีเข้ามาทดสอบสินค้า และให้ความรู้ด้านต่างๆ
                  นายนิธศ มนุญพร  กรรมการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า เพื่อเร่งรัดให้ธนาคารต่างๆปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ บสย. ค้ำประกันวงเงิน 1 แสนล้านบาท แต่ล่าสุด มียอดค้ำประกันเพียง 16,700 ล้านบาท คงเหลืออีก 83,300 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เร่งรัดให้ค้ำประกันวงเงินจำนวนนี้ให้หมดภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ 
                   ดังนั้น บสย. จึงมีแนวคิดที่จะเสนอ ครม. ให้ฟรีค่าธรรมเนียม 1.75% ในปีแรกให้กับเอสเอ็มอี โดยฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยอุดหนุนในส่วนนี้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมารัฐบาลให้ฟรีในส่วนนี้ จึงมีเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ควรจะเพิ่ม Max Claim จาก 23.75% เป็น 30% รวมทั้งจัดสรรโควตาวงเงิน 83,300 ล้านบาทกระจายให้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆให้ปล่อยสินเชื่อตามโควตาที่ได้ภายในปีนี้ ซึ่งเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ปล่อยสินเชื่อได้ทั้งหมดภายในปีนี้ 
                  “หลังจากนี้จะต้องหารือกับธนาคารพาณิชย์ และกระทรวงการคลังในการแบ่งเบาภาระการค้ำประกันที่เพิ่มขึ้นอีก 7% มีมูลค่า 7 พันล้านบาท ระหว่างรัฐบาล และธนาคารพาณิชย์อย่างไร ซึ่งหากเพิ่มวงเงินค้ำประกันเป็น 30% ก็จะช่วยจูงในให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น”
                  นอกจากนี้ ยังร่วมกันหาแนวทางให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) มากขึ้นที่อาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถรับมือกับค่าเงินที่เคลื่อนไหวในทิศทางผันผวน และช่วยให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น
                โดย แนวทางแก้ไขปัญหานี้ บสย. ไม่สามารถเข้าไปรับประกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินโดยตรงได้ แต่จะช่วยเหลือทางอ้อมผ่านทางการค้ำประกันวงเงินความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกับธนาคารพาณิชย์ ให้กับ เอสเอ็มอี ที่ต้องการจะทำประกันความเสี่ยงของค่าเงิน ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีได้เข้ามาบริหารความเสี่ยงของค่าเงินผ่านทางธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ