ข่าว

"โต้ง" แนะรัฐ เพิ่มค่าแรงในสาขาที่ขาดแคลนคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กิตติรัตน์" จี้ รัฐ เตรียม "แรงงาน" รับ ศก. ยุคใหม่ ชี้ ควรเพิ่มค่าจ้าง ในสาขาขาดแคลน แนะ "ศธ.-สภาพัฒน์ฯ" วางแผนใช้คนในอนาคต วอน เน้นดูแลสวัสดิการสาธารสุข


 
          30 เมษายน60 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีภาครัฐเตรียมความพร้อมแรงงานให้แก่เอกชนในยุคเศรษฐกิจใหม่ว่า การเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ใช่เรื่องของการจะเอาแรงงานไร้ฝีมือไปสู่แรงงานฝีมือสูง เราต้องดูเรื่องของการเปลี่ยนกลไกจากสังคมอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมากเป็นหลักไปเป็นทรัพยากรบุคคลหรือแรงงาน ซึ่งสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เพราะในระยะต่อไปเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่แรงงานมากขึ้น เราจำเป็นต้องเตรียมคนให้พร้อมที่จะขยับขึ้นไปในเรื่องของการเป็นผู้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือ อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องแรงงาน  ในยุคที่ตนมีโอกาสดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เราได้ขอให้ผู้จ้างงานและผู้ถูกจ้างงานได้เห็นกลไกการปรับค่าแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การปรับครั้งนั้นมีเสียงต่อว่าพอสมควร ว่าอยู่ๆ เราจะปรับค่าแรงขึ้นโดยผลิตภาพแรงงานยังไม่ดีขึ้นจะไม่มีผลเสียหรือ เมื่อมีการปรับเช่นนั้นนายจ้างย่อมไม่ต้องการให้เกิดผลขาดทุนจากการปรับค่าแรงขึ้น เพราะฉะนั้นนายจ้างจะเริ่มทำงานจริงจังกับแรงงานขององค์กร เพราะว่าต้องการความคุ้มค่า จะจัดเครื่องไม้เครื่องมือหรือฝึกอบรม จัดระบบการทำงานต่างๆ ลดคนงานลงในบางส่วนที่เกินความจำเป็นก็จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ถูกจ้างเมื่อได้รับค่าจ้างที่ดีขึ้นย่อมไม่อยากเสี่ยงต่อการสูญเสียงาน ก็จะเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เราอยู่ในระบบซึ่งมีอัตราการว่างงานน้อย

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์นั้น ค่าจ้างในหมวดนั้นควรขยับสูงขึ้นตามความขาดแคลน หากมีการดำเนินการอย่างเหมาะสมและมีการประสานไปยังสถาบันการศึกษาหรือสถาบันที่มีการจัดฝึกอบรมบุคลากรที่อยู่ในสาขานั้นแต่เนิ่นๆ ก็จะมีการผลิตบุคลากรในสาขานั้นเพิ่มเติมเข้ามา ตนเห็นว่าอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะ แม้ว่าสาขานั้นจะมีการขาดแคลนแรงงาน แต่ก็ไม่มีกลไกที่จะไปปรับผลตอบแทนให้กับบุคลากรในสาขานั้นอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ แรงงานยังจะต้องเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณซึ่งอาจหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้มากเหมือนเดิม มีรายได้น้อยลง จึงจำเป็นต้องมีเงินออมด้วย

"หน้าที่ภาครัฐในการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้กับภาคเอกชน ภาครัฐควรจะช่วยในเรื่องของการเตรียมการ คือ การจัดวางระบบการศึกษาที่สามารถรองรับผู้เข้าสู่ระบบการศึกษาต่างๆให้มีเส้นทางเดินในการศึกษา แล้วจบออกมามีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน การเตรียมการเรื่องเหล่านี้ กระทรวงศึกษาฯควรทำงานอย่างใกล้ชิดมากกับสภาพัฒน์ฯ ในการวางแผนและใช้กำลังคนในอนาคต การเตรียมการเพื่อให้มีการศึกษาที่เหมาะสมเป็นผู้ที่สามารถทำงานได้ เป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐ อีกประเด็นหนึ่งคือ สวัสดิการ เช่น การออม และการจัดระบบประกันสังคม การจัดสวัสดิการแรงงานยังหมายถึงการที่แรงงานอาจจะถูกเลิกจ้างงาน การมีกองทุนเพื่อดูแลแรงงานเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันการที่จะดูแลแรงงานให้สามารถมีสวัสดิการที่ดี โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุขถือว่าเป็นข้อฝากไปยังรัฐในการดูแลแรงงาน" นายกิตติรัตน์ กล่าว
 
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือ การสร้างงานในชุมชน และการบริโภคภายในประเทศ เพราะเมื่อคนออกจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม หมู่บ้านในชนบทเป็นที่อยู่ของเด็กและคนชรา คนหนุ่มสาวไปทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเพราะครอบครัวแยกกันอยู่ ทำอย่างไรให้สังคมชนบทสามารถเติบโตคู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ