ข่าว

บีซีพีจี ทุ่ม 1.23 หมื่นล้านซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บีซีพีจี ทุ่ม 1.23 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย 182 เมกะวัตต์ คาดแล้วสิ้นไตรมาส 2ปีนี้ พร้อมรับรู้กำไรทันที

           นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัท เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2560 มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (SEGHPL) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ในสัดส่วน 33.33% มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 357.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 12,341 ล้านบาท คาดว่าจะซื้อขายเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันที โดยการลงทุนในครั้งนี้ ทำให้บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพของอินโดนีเซียรวม 3 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 182 เมกะวัตต์

          ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำที่ผลิตได้รวมเทียบเท่า 995 เมกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PLN) ภายใต้สัญญารับซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาว สำหรับ 3 โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ วายาง วินดู (Wayang Windu) กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 347 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 227 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 20% ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Salak มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 377 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 17.3% และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Darajat มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 271 เมกะวัตต์

             โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 17.3% ซึ่งโรงไฟฟ้าSalak และโรงไฟฟ้า Darajat ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าว บริษัทฯจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่1/2560 ในวันอังคารที่ 13 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นต่อไป

             นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า การลงทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 600 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเทียบเงินลงทุนและความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพที่คิดเป็นสามเท่าของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ จะทำให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่ากับพลังงานแสงอาทิตย์รวมเกือบ 1,000 เมกะวัตต์ หรือไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น จากเดิมบริษัทฯตั้งเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ