ข่าว

ก.อุตฯเร่งแผนยกระดับอุตสาหกรรมตั้งกองทุนช่วยผู้ประกอบการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

               มีรายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่าขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทยุทธศาสตร์การเพิ่มผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยยุทธศาสตร์นี้จะมีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560-2564 มีเป้าหมายที่จะยกอันดับความสามารถการแข่งขันด้านผลิตภาพของไทยให้มีอันดับสูงขึ้นเพื่อให้สินค้าของไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

          ในการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านผลิตภาพ  ที่จัดทำโดยไอเอ็มดี เมื่อปี 2558 นั้น ไทยติดอยู่ในอันดับที่ 51 จากทั้งหมด 61 ประเทศ และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์  และมาเลเซีย  โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 50 กว่าๆ มานานแล้ว และตั้งเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นมาให้อยู่ภายในอันดับ 45 ของโลก ภายในปี 2564 

           “ไทยเคยอยู่อันดับสูงสุดที่ 42-45 เมื่อสิบปีก่อน และลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากประเทศอื่นพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นกว่าไทย หากไม่เร่งแก้ไขยอดการส่งออกของไทยก็จะลดลงเรื่อยๆ  ซึ่งเรื่องนี้ถูกละเลยมานาน มีเพียงสมัยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรมว.อุตสาหกรรมที่เข้ามาผลักดันเรื่องนี้ แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ล้มเลิกไป มาในปัจจุบันนี้ที่มีนายอุตตม สาวนายน เป็นรมว.อุตสาหกรรมที่นำเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการอย่างจริงจัง”

           ภายใต้แผนการที่วางไว้นั้น สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จะเข้ามาดำเนินงานตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว และจะมีการร่าง พ.ร.บ.เพิ่มผลิตภาพแห่งชาติขึ้นม เพื่อรองรับการทำงาน  รวมถึง การตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพ  ที่คาดว่าจะมีวงเงินหมุนเวียนราว 5,000 - 10,000 ล้านบาท  กำหนดเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการภายใน 2 เดือนนี้  ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา คาดว่ากว่าจะออกมาเป็นกฎหมายมีผลบังคับได้ภายใน 1 ปี

              “ลักษณะของกองทุน อาจไม่ได้ให้เป็นตัวเงินกับโรงงานโดยตรง แต่จะนำมาจ้างที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญให้เข้าไปช่วยผู้ประกอบการปรับปรุงโรงงาน แต่อาจจะมีกองทุนบางส่วนให้สินเชื่อโรงงานปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่จำเป็นในอัตราดอกเบี้ยต่ำ”

             แผนแม่บทยุทธศาสตร์ฯนี้ จะประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับกระดับกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการที่ดี  ซึ่งจะร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานแบบบูรณาการ มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเลขาธิการคณะกรรมการบูรณาการเพิ่มผลิตภาพอุตสาหกรรม เพื่อให้มีการจัดทำงบบูรณาการให้ทุกหน่วยงานที่ทำเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน

           ยุทธศาสตร์ที่ 2 ปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน มีการบูรณาการ การทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอิสระภายใต้กระทรวงแรงงาน ที่จะมีการวางแผนเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในด้านต่างๆ และการฝึกอบรมแรงงาน เนื่องจากการจัดอันดับประสิทธิภาพแรงงานไทยก็อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้กระบวนการผลิตมีของเสียมาก ได้ได้ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับค่าแรงงาน โดยเฉพาะการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่ผลผลิตจากแรงงานกลับเท่าเดิม ทำให้การแข่งขันด้านแรงงานไทยลดลง

         นอกจากนี้ จะนำกองทุนเพิ่มผลิตภาพ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในการยกระดับแรงงานด้วย ซึ่งในประเทศคู่แข่งอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ล้วนแต่มีกองทุนในรูปแบบนี้เข้ามาช่วยผู้ประกอบการ หากไทยไม่ทำก็จะยิ่งแข่งขันไม่ได้ ในส่วนของกระทรวงแรงงานก็จะเข้ามากำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานอย่างจริงจัง ซึ่งจะมีการตั้งมาตรฐานวิชาชีพเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาก็ได้เริ่มนำร่องทำไปแล้วในการตั้งมาตรฐานในสาขาวิชาชีพหลักๆ คาดว่าจะเห็นผลทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ

            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การปรับกระบวนการทำงานในส่วนของราชการ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตต่างๆ และขั้นตอนการขออนุญาต และจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้มากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการติดต่องานของภาคเอกชน และลดเวลาในการดำเนินงาน ซึ่งจะปรับการทำงานจากเดิมต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนอนุญาตมาเป็นการออกใบอนุญาตให้ก่อน เพื่อนำไปขอกู้ธนาคารหรือธุรกรรมอื่นๆ แล้วค่อยตรวจสอบที่หลัง ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

             “กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดประชุมร่วมกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เพื่อร่วมกันปรับปรุงแผนแม่บทยุทธศาสตร์การเพิ่มผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมให้สมบูรณ์ และมีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ