ข่าว

นำร่องรถไฟเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ-ระยอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คมนาคมนำร่องรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง แผนพัฒนาเชิงพาณิชย์พร้อมสุด เร่งชงบอร์ดพีพีพี ไม่เกินก.ย. หวังเปิดประมูลภายในปีนี้ “สมคิด” สั่งเร่งสรุปเสนอนายกฯ

               นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมการใช้พื้นที่ตามแนวเขตทางโครงการพัฒนาภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมว่า ในเบื้องต้นมีความชัดเจนเรื่องรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง สามารถนำมาพัฒนานำร่องเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด ทั้งแผนรายละเอียดและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟ ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำแผนรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อนำผลศึกษารายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ

               “ได้กำหนดเวลาดำเนินการหลังจากนี้ให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดประเด็นต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อสรุปรายละเอียดเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนโยบายของนายกรัฐมนตรีต้องการให้หน่วยงานต่างๆ มองโอกาสของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่เพียงพัฒนาโครงการรถไฟเพื่อจัดเก็บรายได้จากการเดินรถ แต่จะต้องพัฒนาพื้นที่เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ และเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” นายสมคิดกล่าว

               ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนการพัฒนาสถานีในเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ค่อนข้างชัดเจน สามารถนำเป็นเส้นทางที่จะนำร่องดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ก่อนอันดับแรก เนื่องจากสถานะโครงการปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ และคาดว่าจะเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ได้ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ และเมื่อผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการพีพีพีแล้วจะเริ่มต้นขั้นตอนเปิดประกวดราคาได้ทันทีภายในปีนี้ เช่นเดียวกับการเปิดประมูลงานพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของเส้นทางรถไฟ

               “ในเบื้องต้นจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน 4-5 สถานีหลัก เช่น ลาดกระบัง ศรีราชา และระยอง เป็นต้น ส่วนใหญ่พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟจะเป็นที่ราชพัสดุอยู่แล้ว ดังนั้นโจทย์แรกคือจะต้องเร่งนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างไร และต้องสรุปผลตอบแทนทางการเงินให้ได้ เพื่อเปิดเอกชนเข้ามาร่วมทุน ซึ่งจะร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าในสถานีควรจะมีองค์ประกอบอะไร” นายอาคมกล่าว

               นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยังทำแผนควบคู่ไปด้วย คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะพัฒนาสถานีบ่อฝ้าย สถานีราชบุรี และสถานีเพชรบุรี ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช จะพัฒนาบริเวณสถานีสระบุรี ปากช่อง และโคราช โดยแผนทั้งหมดนี้จะเสร็จภายใน 2 เดือนข้างหน้า โดยการจัดผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน นอกเหนือจากการพัฒนาที่ดินของภาครัฐ คือ พื้นที่ส่วนที่เวนคืนเข้ามา โดยประเด็นนี้จะต้องศึกษาข้อกฎหมายก่อน และอีกส่วนคือการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการสมัครใจนำพื้นที่เข้ามาร่วมกันจัดรูปที่ดินใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเอกชนและประชาชนรายนั้นๆ จะยังได้สิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน

               นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สถานะของรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง ปัจจุบันพบว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และโครงการกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็ยังเป็นไปตามแผน โดยจะก่อสร้างเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฝ่ายญี่ปุ่นยังเสนอให้ไทยเร่งรัดสรุปรูปแบบการพัฒนาพื้นที่สองข้างทาง ซึ่ง สนข.ก็รับมาดูรายละเอียดแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ