พระเครื่อง

หน้าพรานมโนราห์(พรานบุญ)ของขลังไทยปักษ์ใต้จาก'มโนราห์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หน้าพรานมโนราห์(พรานบุญ)เครื่องรางของขลังไทยปักษ์ใต้จาก'มโนราห์' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

               พรานมโนราห์ หรือ พรานบุญ เป็นตัวตลกของมโนราห์ เมื่อออกรำจะต้องสวมหน้ากากเรียกว่า “หน้าพราน” ท่ารำของพรานนั้นจะเป็นท่ารำที่ตลก ไม่มีท่ารำที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสามารถของพรานแต่ละคน แต่ขะต้องมีท่ารำพื้นฐาน ดังนี้ ย่อตัวรำ หลังแอ่น ยื่นอกไปด้านหน้ามากๆ ท่ารำของพรานมีแปลกๆ ออกไป เช่น ทำให้ท้องป่องผิดปกติ อาจจะป่องไปด้านซ้ายบ้าง ด้านขวาบ้าง หรือทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องเคลื่อนไหวเป็นลอนคลื่น เป็นต้น

               การแต่งกายของพราน ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าโจงกระเบน บางครั้งนุ่งผ้ายาวปล่อยชายผ้าถึงพื้น มือถือใบชิง สะพายย่าม มือถือธนู ในย่ามของพรานจะใส่กะปิ เกลือ พริกขี้หนู ลักษณะเป็นการเตรียมตัวสำหรับเดินป่า

               ทั้งนี้มีคติความเชื่อว่า ในบรรดาพราน ป่าทั้งหลายจากทั่วทุกมุมโลก ถ้าจะให้ยกย่องว่าพรานท่านใดยิ่งใหญ่ และเป็นสุดพรานแห่งพรานนั้นขอยกให้ พรานบุญ ท่านเป็นสุดยอดของพรานทั้งปวง พรานบุญเคยช่วยชีวิต พระยานาคราช สามารถจับสัตว์กึ่งเทพได้ครูใหญ่พรานบุญ มีบ่วงนาคบาศ ที่สามารถใช้จับสัตว์อะไรก็ได้บนพื้นพิภพแห่งนี้

               พรานมโนราห์ผู้เป็นพรานที่มีความเก่งกาจสามารถไปมาได้แม้กระทั่งในป่าหิมพานต์ สามารถจับนางมโนราห์ได้เพียงนางเดียวเช้ารุ่งขึ้นก็ได้รับบำเหน็จจากกษัตริย์ครองเมือง ๑ เมืองพร้อมทรัพย์สมบัติและบริวารมากมาย แม้ในการละเล่นโนราห์ของภาคใต้เมื่อถึงเวลาพรานบุญออกมาแสดงก็จะเรียกเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขจากผู้ชมได้เสมอทุกเพศทุกวัยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ว่าจะแสดงกี่ครั้งก็ตาม

               เครื่องรางหน้ากากมโนราห์ มีคติความเชื่อที่สืบทอดกันมาหมู่คณะมโนราห์ว่า ศาสตร์วิชานี้จริงๆ แล้วต้องเรียกว่าศาสตร์วิชาครูใหญ่พรานบุญ เป็นศาสตร์วิชาเป็นวิชาแห่งมนตรามหาละลวย เสริมเมตตา เสริมเสน่ห์ เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ผู้ที่ได้พบได้เจอ ซึ่งก็คล้ายๆ กับมนตราของคณะลิเกของภาคกลาง เหมาะแก่ผู้ที่มีอาชีพนักแสดง และพ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวกับการใช้วาทศิลป์ในการโน้มน้าวจิตใจผู้คน ผู้ที่จะบูชาต้องเป็นคนที่เข้มงวดในการบูชา เช่น ถ้าบนบานศาลกล่าวสิ่งใดกับครูใหญ่พรานบุญแล้ว ถ้าสำเร็จต้องรีบแก้บนตามที่ได้บนบานไว้อย่าให้ขาดโดยเด็ดขาด

               ส่วนคาถาอาราธนาก่อนใช้หน้ากากมโนราห์ มีอยู่ ๓ บทที่นิยม คือ ๑.“อออา ออแอ ออหา ออมา ออรัก ออฤ ออฦา ทรัพย์มา คะมา” ๒.คาถาพรานบุญ (เทวดาให้เงิน) “โอม นะมา มีมา นะ เน นุ นิ นะ สวาหะ สวาโหม" และ ๓.คาถาเมตตา "ออ อา สะเน่หามนุสสะจิตติ ออ อา สะเน่หามนุสสะจิตตัง ออ อา มูลละพะลัง ออ อาพุทธานะมามิหัง"

ต้นตำรับหน้าพรานมโนราห์

               หน้าพราน พ่อท่านล้อม วัดต้นปีก จ.ตรัง พ.ศ.๒๕๕๑ ถือว่าเป็นต้นตำรับหน้าพรานมโนราห์ ปักษ์ใต้ จุดเริ่มต้นของการสร้างหน้าพรานขนาดบูชาห้อยคอครั้งเเรก

               ทั้งนี้ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ นายสมศักดิ์ จันทร์เพชร (หลวงจิ้มบ้านคลองเต็ง จ.ตรัง) ได้มีความเลื่อมใสนับถือในครูหมอมโนราห์ตาพรานเป็นอย่างมากจึงได้มาปรึกษาสอบถามครูหมอในขณะที่ประทับทรงว่า “ถ้าผมสร้างหน้าพรานขนาดพกพาจะได้ไหม” ครูหมอในขณะที่ประทับทรงได้ตอบว่า “ได้สิดีเหมือนกันกูจะใด้ตามไปคุ้มครองลูกหลาน” จากนั้นก็ได้มาปรึกษากับสำนักสักยันต์เณรดอย จ.ตรัง ในเรื่องการจัดสร้างเเกะบล็อกหาว่านมวลสารต่างๆ เเละได้ไปปรึกษาหารือกับพ่อท่านล้อมวัดต้นปีก จ.ตรัง เพราะท่านชอบมโนราห์เเละหน้าพรานมาก

               ทั้งนี้ หลวงจิ้มเเละทีมงานกำลังสะสมหามวลสารจากโรงครูมโนราห์บ้างจากหิ้งครูหมอบ้างจนได้มากพอสมควรจึงได้ให้เณรดอยเเกะบล็อกขึ้นมาเเละได้กดตัวอย่างขึ้นจำนวนหนึ่งเเล้วเอาไปให้พ่อท่านล้อมดูปรากฏว่าพ่อท่านล้อมถูกใจเป็นอย่างมากจนท่านเอ่ยปากบอกว่าให้ทำเผื่อท่านด้วยทางหลวงจิ้มเเละเณรดอยก็ได้บอกว่าให้ออกในนามพ่อท่านเลยก็ใด้พ่อท่านล้อมตอบตกลงเเละได้มากดพิมพ์เพิ่มเรื่อยๆได้อะไรดีมาก็ใส่ตำครกต่อครกจนเนื้อไม่เหมือนกันสักครกใช้เวลาในการสะสมมวลสารเเละกดพิมพ์เป็นเเรมปีจนใด้จำนวนของหน้าพรานประมาณพันกว่าชิ้นเท่านั้น

               ส่วนพิธีกรรมการปลุกเสกหลวงจิ้มเป็นคนเอาเข้าไปฝากเสกในโรงมโนราห์เวลาเข้าโรงครูใหญ่เท่านั้น (สามโรงครูมโนราห์ตามคำสั้งพ่อท่านล้อม...เเละเวลาวันให้เป็นวันดีก็นำไปให้ฆราวาสหรือหลวงพ่อต่างๆ ใน จ.ตรัง ช่วงนั้นพิธีเสกจตุคามเยอะมากเลยร่วมเอาฝากเสกหลายพิธี) เป็นเวลาปีกว่าเเละวาระสุดท้ายก็นำมาให้พ่อท่านล้อมวัดต้นปีกจ.ตรังปลุกเสกเดี่ยวปลุกเสกเป็นเวลาหนึ่งพรรษาเต็มเเละต่ออีกจนครบ ๑๐๘ วัน เเละได้เเบ่งกลับครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งให้พ่อท่านล้อม ไว้เเจกในงานกฐิน พ.ศ.๒๕๕๑

               ครั้งเรกท่านเเจกคนไม่กล้ารับเพราะคนใต้กลัวเกรงในหน้าพรานเพราะกลัวจะบูชาผิดเเล้วจะ ให้โทษเเต่ระยะผ่านมานานจนมีประสบการณ์มากมายจนมีคนมาขอท่านมากทั้งในเเละต่างจังหวัดจนไม่พอความต้องการ คณะศิษย์จากพัทลุงจึงสร้างออกมาอีกชุดเป็นเนื้อโลหะหล่อตอกโค้ดจำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ หน้า คนเอาไปใช้เเล้วเกิดประสบการณ์มากมายทั้งเเคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ โชคลาภ และค้าขาย

               จากนั้นเป็นต้นมาหลายสำนักหลายจังหวัดจัดสร้างขึ้นตามๆ กัน เช่น ของอาจารย์ประสูติ วัดในเตา พ่อท่านเขียว กิตฺติคุโณ วัดห้วยเงาะ จ.ปัตตานี พ่อท่านบุญให้วัดท่าม่วง เเละอีกหลายหลวงพ่อที่นับถือครูหมอตาพรานตั้งเเต่บรรพบุรุษเดิม

พรานมโนราห์ พ่อท่านเขียว

               สืบเนื่องจากการทำบันทึกประวัติของพ่อท่านเขียวท่านกล่าวความเป็นมาของท่านไว้ประโยคหนึ่งว่า “ปู่ฉันเป็นเสือเขาอ้อ พ่อแม่ฉันท่านเป็นคนหน้าถ้ำทำโนราโรงครู”

               ในความหมายคือปู่ของพ่อท่านเขียว ท่านเป็นผู้เรียนวิชาอาคมแก่กล้าจากสำนักเขาอ้อส่วนบิดามารดาของท่านมีเชื้อสายโนราทำพิธีกรรมโนราโรงครูซึ่งเป็นศาสตร์ชั้นสูงในสายวิชาโนราห์พ่อท่านเขียวเป็นบุตรชายต้องผ่านพิธีกรรมและเรียนรู้ศาสตร์นี้มาอย่างเชี่ยวชาญก่อนที่ท่านจะบวชถวายชีวิตเป็นพุทธบูชาจนถึงปัจจุบัน

               เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ พ่อท่านเขียวให้ทำหน้าพรานโนราห์เป็นสีทองศิษย์กรุงเทพฯ ไม่เข้าใจคิดในใจว่าเคยเห็นแต่สีแดง ในความเป็นจริงสิ่งที่ท่านให้ทำมาคือ “พรานหน้าทอง หรือพรานเฒ่าหน้าทอง” เป็นวิชาการสร้างหน้าพรานขั้นสูงสุดและบูชาเกิดโชคลาภค้าขาย ขอได้ไหว้รับท่านว่าพรานหน้าทองดีอย่างนี้ พ่อท่านเขียวกล่าวว่า “ไม่มีการค้าใดได้ผลกำไรมากเท่ากับพรานบุญผู้จับมโนราห์ได้นางเดียวรุ่งเช้าได้บำเหน็จรางวัลเป็นเมือง ๑ เมือง พร้อมทรัพย์สินบริวารมากมาย”

               การจัดสร้างหน้าพรานนั้นเริ่มทำ ขนาดบูชาก่อน จึงทำขนาดห้อยคอ เริ่มจัดสร้าง พ.ศ. ๒๕๔๗ ปลุกเสกเรื่อยมาถึง พ.ศ.๒๕๕๐ จึงมีให้ออกบูชาทำบุญหลายปีที่ผ่านมา พระครุวรนาถโพธิคุณ (อุดม อริโย) เจ้าอาวาสวัดห้วยเงาะ ท่านบอกกับคณะศิษย์ว่าค่าน้ำค่าไฟค่าใช้จ่ายของวัดเดือนละหลายหมื่นบาทได้จากการบูชาหน้าพรานของผู้ที่ศรัทธามาเป็นเวลา ๗-๘ หน้าพรานเนื้อโลหะหมดจากวัดห้วยเงาะ

               สำหรับ บรมครูหน้าตาพราน “รุ่นเทวดาให้เงิน” พ่อท่านเขียว กิตติคุโณ สร้างโดยพระครูวรนาถโพธิคุณ (อุดมอริโย) เจ้าอาวาสวัดอรัญสิการาม (วัดห้วยเงาะ) จ.ปัตตานี วัตถุประสงค์เพื่อซ่อมแซมเสนาสนะ (อุโบสถกุฏิสงฆ์) ภายในวัดห้วยเงาะ จ.ปัตตานี ฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดห้วยเงาะ ๐๘-๑๓๔๔-๕๙๔๙, ๐๘-๙๔๗๕-๙๘๕๙ และ ๐๘-๖๖๙๗-๐๕๑๘


  หน้าพรานมโนราห์(พรานบุญ)ของขลังไทยปักษ์ใต้จาก'มโนราห์'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ