ข่าว

ย้อนรอย...ก่อการร้ายในไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย...ก่อการร้ายในไทย : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

              แม้หน่วยงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. จะออกมายืนยันอย่างแข็งขันว่า ประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายการก่อเหตุของเครือข่ายก่อการร้ายสากล แต่การจับกุม "นายอาทริส ฮุสเซน" ชาวเลบานอน ถือสัญชาติสวีเดน ซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อการร้ายกลุ่ม "ฮิซบอลเลาะห์" พร้อมกับการตรวจยึดปุ๋ยยูเรียน้ำหนักกว่า 4,000 กิโลกรัม พร้อมอุปกรณ์ในการประกอบวัตถุระเบิดจำนวนมาก สร้างความหวาดวิตกให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ขณะที่สหรัฐและอีกหลายประเทศทั่วโลกต่างๆ ออกประกาศแจ้งเตือนพลเมืองของตัวเองให้ระมัดระวังตัวหากจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
 
              เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ไทยต้องทบทวนสถานการณ์การตกเป็นเป้าก่อการร้ายโดยเครือข่ายก่อการร้ายสากลอีกครั้ง เพราะเหตุการณ์ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายสากลไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเคยเกิดเหตุก่อการร้ายสากลมาแล้วกว่า 10 ครั้ง
 
              ครั้งที่ 1...ธันวาคม 2515 ขบวนการก่อการร้ายปาเลสไตน์ อัลฟาตาห์ กลุ่ม "BLACK SEPTEMBER" บุกยึดสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกรุงเทพฯ และจับบุคคลที่อยู่ภายในสถานทูต 6 คนเป็นตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้ทางการอิสราเอลปล่อยเชลยศึกชาวอาหรับจำนวน 35 คน รวมถึง นายเคโชโอกาโมโต สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นซึ่งถูกอิสราเอลจับกุม ทางการไทยเข้าเจรจาต่อรอง ปรากฏว่าผู้ก่อการร้ายยอมมอบอาวุธและปล่อยตัวประกันแลกกับการที่ฝ่ายไทยต้องจัดเครื่องบินเที่ยวพิเศษนำตัวผู้ก่อการร้ายไปส่งยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์
 
              ครั้งที่ 2...เมษายน 2519 แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (MORO NATIONAL LIBERATION FRONT OF MINDANAO) 3 คนก่อเหตุยึดเครืองบินจากประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมจับผู้โดยสาร 70 คน เป็นตัวประกันบินเข้ามาจอดในประเทศไทย เรียกร้องเงินค่าไถ่จากฟิลิปปินส์ 3 แสนดอลลาร์สหรัฐ และให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 2 คน ผู้ต้องหายึดเครื่องบินอีก 2 ลำ พร้อมขอเติมน้ำมันเครื่องบิน ต่อมาทางการฟิลิปปินส์ได้ส่งเครื่องบินมาเปลี่ยนก่อนที่ผู้ก่อการร้ายจะควบคุมเครื่องบินเดินทางต่อไปยังประเทศลิเบีย
 
              ครั้งที่ 3...มีนาคม 2524 ขบวนการคอมมานโดญิฮาด (COMMANDO JIHAD MOVEMENT) 5 คน ยึดเครื่องบินจากอินโดนีเซียเพื่อเดินทางไปยังศรีลังกา แต่ได้แวะลงที่ประเทศไทย ผู้ก่อการร้ายเรียกร้องให้อินโดนีเซียปล่อยนักโทษการเมือง 84 คน ห้ามไม่ให้มีทหารอิสราเอลในกองทัพอินโดนีเซีย พร้อมทั้งประณามรองประธานาธิบดี อาดัม มาลิก ของอินโดนีเซีย การเจรจาต่อรองในครั้งนั้นล้มเหลว หน่วยคอมมานโดกองทัพอากาศไทย ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดจู่โจมกรมรบพิเศษที่ 5 ของอินโดนีเซีย บุกยึดเครื่องบินคืน ทำให้ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตไป 4 คน ถูกควบคุมตัวได้ 1 คน เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินเสียชีวิต 1 คน เจ้าหน้าที่ชุดจู่โจมของอินโดนีเซียเสียชีวิต 1 คน ขณะที่ผู้โดยสารปลอดภัย
 
              ครั้งที่ 4...ธันวาคม 2525 แห่ขบวนการอิสลามงอิรัก (IRAQi ISLAMIC ACTION ORGANIZATION) ลอบวางระเบิดสำนักงานบริษัทเอ.อี.นานา ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการสถานกงสุลกิตติมศักดิ์อิรักประจำกรุงเทพฯ ทำให้ตัวอาคารพังถล่มเป็นเหตุให้ตำรวจไทยเสียชีวิต 1 คน รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บอีก 17 คน
 
              ครั้งที่ 5...เมษายน 2531 สมาชิกขบวนการฮิซบอลเลาะห์ (HIZBALLAH)  6-8 คน ยึดเครื่องบินของสายการบินคูเวตจากกรุงเทพฯ ไปลงที่เมืองมาชาต ประเทศอิหร่าน จับผู้โดยสารและลูกเรือ 112 คนเป็นตัวประกัน ซึ่งในจำนวนนั้น 3 คนเป็นเชื้อพระวงศ์ของคูเวต ผู้ก่อการร้ายเรียกร้องให้รัฐบาลคูเวตปล่อยตัวนักโทษชาวมุสลิมนิกายชีอะต์ 17 คน ซึ่งถูกคุมขังในข้อหาขับรถบรรทุกระเบิดพุ่งชนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และวางระเบิดสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในคูเวต
 
              ครั้งที่ 6...มกราคม 2532 คนร้ายลอบสังหารนายซาเลห์ อัล-มาลิกิ เลขานุการตรีสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงเทพฯ เหตุเกิดที่หน้าบริษัทแห่งหนึ่งย่านถนนสาทรใต้ ต่อมาขบวนการก่อการร้ายกลุ่มเดอะ โซลเยอร์ ออฟ จัสติส (THE SOLDIERS OF JUSTICE : TRUTH) กับกลุ่มอิสลามิกญิฮาด (ISLAMIC JIHAD) อ้างความรับผิดชอบ
 
              ครั้งที่ 7...ตุลาคม 2532 นักศึกษาพม่า 2 คน จี้เครื่องบินของสายการบินพม่าจากเมืองมะริดมาลงที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า พล.ท.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เข้าเจรจาต่อรอง สุดท้ายคนร้ายได้ยอมมอบตัว
 
              ครั้งที่ 8...พฤศจิกายน 2532 นักศึกษาพม่า 2 คน จี้เครื่องบินของสายการบินไทย ซึ่งมีกำหนดเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองย่างกุ้ง จากสนามบินดอนเมืองไปลงที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และเรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ สุดท้ายผู้ก่อการร้ายยอมมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่อินเดีย
 
              ครั้งที่ 9...มีนาคม 2537 คนร้ายชาวอิหร่าน ขับรถบรรทุกหกล้อ บรรทุกแท็งก์น้ำ ซึ่งภายในบรรจุระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ ประกอบด้วยระเบิดซีโฟร์ 2 ลูก และแอมโมเนียมไนเตรท พร้อมเชื้อปะทุอีกจำนวนมาก หวังบุกพุ่งชนสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย หรือสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โชคดีเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์รับจ้างเสียก่อน
 
              ครั้งที่ 10...ตุลาคม 2542 นักศึกษาพม่าหัวรุนแรง 5 คน บุกยึดสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย จับตัวประกันไว้ 30 คน เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง พร้อมทั้งให้เปิดการเจรจาคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนประชาชน และให้รัฐบาลทหารร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนตั้งรัฐบาลผสม ทางการไทยได้เข้าเจรจา โดยจัดเฮลิคอปเตอร์พร้อมตัวประกันสำคัญคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ (ขณะนั้น)ไ ปส่งที่บ้านแม่เพี้ยเล็ก เขตอิทธิพลของกะเหรี่ยงเคเอ็น ยู
 
              ครั้งที่ 11...มกราคม 2543 กองกำลังทหารกะเหรี่ยงกลุ่ม "ก็อดอาร์มี" 10 คน บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี จับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยไว้เป็นตัวประกัน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการปราบปรามชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ทางการไทยได้สนธิกำลังหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากลเข้าช่วยเหลือตัวประกัน และยึดพื้นที่คืน ปรากฏว่าทหารก็อดอาร์มีเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยบาดเจ็บ 8 นาย
 
              เหตุการณ์ร้ายดังกล่าวยังไม่นับรวมการจับกุม "ริดวน อิซามุดดิน" หรือ "ฮัมบาลี" แกนนำกลุ่มก่อการร้ายเจไอ และเป็นตัวการประสานงานคนสำคัญระหว่างกลุ่มเจไอ กับ อัล-ไกดา ซึ่งถูกทางการไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอสหรัฐควบคุมตัวได้ขณะกบดานอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อปลายปี 2546 โดยนายฮัมบาลี ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่บงการให้มีการวางระเบิดสถานบันเทิงในเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2551 ทางการไทยยังจับกุมนายวิคเตอร์ บูท ซึ่งถูกกล่าวหาจากทางการสหรัฐว่า เป็นราชาค้าอาวุธชื่อดัง ชาวรัสเซีย ได้ ขณะนำเครื่องบินแวะเติมน้ำมันที่สนามบินดอนเมือง 
 
              เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มักได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานด้านความมั่นคงว่า กลุ่มขบวนการก่อการร้ายไม่ได้มีเป้าหมายจะโจมตีประเทศไทยโดยตรง เพียงแต่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน หรือใช้เป็นสถานที่กบดานเพื่อรอเวลาไปลงมือปฏิบัติการต่างๆ ในประเทศอื่น แต่ทุกเหตุการณ์ไม่ได้การันตีว่าประเทศไทยจะปลอดภัยจากเหตุการณ์ก่อการร้าย!!

...........

(หมายเหตุ : ย้อนรอย...ก่อการร้ายในไทย : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ