ข่าว

จู่โจม 4 จุด ทลายแหล่งค้า 'ฟิลเลอร์เถื่อน' ข้ามชาติ 30 ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สาวๆอยากสวยระวังหน้าพัง ‘บก.ปคบ.’- ‘ตำรวจสากล’ บุกค้น 4 จุด ทลายแหล่งซุกซ่อน ‘ฟิลเลอร์เถื่อน’ ส่งขายข้ามชาติ 30 ล้าน ยึดของกลางกว่า 1.6 แสนชิ้น

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 67 พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. และ สำนักงานกลางแห่งชาติตำรวจสากลกรุงเทพ(Interpol NCB Bangkok) ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเครือข่ายลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายข้ามชาติ ภายหลังตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยเฉพาะ ฟิลเลอร์ รวม 119 รายการ รวมทั้งสิ้น 168,781 ชิ้น มูลค่ากว่า 30,000,000 บาท

 

โดยเมื่อ เดือนต.ค.66 ประเทศสิงคโปร์ ตรวจยึดพัสดุไปรษณีย์บรรจุสินค้าผิดกฎหมาย ผู้บริโภคในประเทศสิงคโปร์สั่งซื้อทางแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่ง เมื่อองค์การตำรวจสากลตรวจสอบการจดทะเบียนของผู้ผลิตและการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปรากฏว่า ไม่พบข้อมูลการการจดทะเบียนของผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่ผู้ขายกล่าวอ้าง

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงสืบสวนจนทราบแหล่งที่เก็บผลิตภัณฑ์ และกลุ่มผู้กระทำความผิด จากการตรวจสอบกลุ่มเครือข่ายดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายยาแผนปัจจุบันแต่อย่างใด จึงขอหมายเข้าตรวจค้น บ้านพักในจ.นนทบุรี 2 หลัง และโกดังสินค้า ในจ.นนทบุรี 2 แห่ง ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย แบบเดียวกับที่ประเทศสิงค์โปร์ตรวจพบ จำนวน 4,200 กล่อง พร้อมผลิตภัณฑ์ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง ผิดกฎหมาย ยี่ห้อต่างๆ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ยา 108 รายการ ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ 6 รายการ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 2 รายการ

บก.ปคบ.ร่วมกับ ตำรวจสากล จับผลิตภัณฑ์เสริมความงามเถื่อน มูลค่า 30 ล้านบาท

รวมตรวจค้น 4 จุด ยึดของกลาง 119 รายการ 168,781 ชิ้น มูลค่า 30,044,160 บาท

 

จากการสืบสวนทราบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของกลุ่มเครือข่าย น.ส.นันตพรฯ (สงวนนามสกุล) มีชื่อเป็นผู้เช่าโกดังเก็บสินค้าดังกล่าว และอยู่ในรายชื่อกลุ่มบุคคลที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายขององค์กร ตำรวจสากล โดยกลุ่มผู้กระทำผิดได้ลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นนำมาเก็บซุกซ่อนไว้ในบ้านพักและโกดัง

 

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ใช้ฉีดเข้าร่างกาย มีวิธีการเก็บรักษาเฉพาะ หากเก็บในสถานที่และอุณภูมิที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้คุณภาพลดลง โดยเครือข่ายดังกล่าว มีการกระจายการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่าน แพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้ผู้จำหน่ายหลายชื่อ  มีการจำหน่ายไปยังกลุ่มลุกค้าชาวไทย และ ต่างชาติในโซนประเทศแถบเอเชีย รวม 4 ประเทศ คือ 1. ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 2. ประเทศมาเลเซีย 3. ประเทศสิงคโปร์ และ 4.ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

จากการสืบสวน พบการใช้บัญชีธนาคารของ กลุ่มเครือข่ายร่วม 10 บัญชี มีการโอนเงินยักย้ายถ่ายเทเงิน เพื่อปกปิดการกระทำความผิด มีเงินหมุนเวียนในการขายผลิตภัณฑ์ ปีละกว่า 10,000,000 บาท โดยในวันที่ตรวจค้น น.ส.นันตพรฯ พร้อมพวก ไหวตัวหลบหนีไป

 

เบื้องต้น ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ฐานผลิต ขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต , ผลิต ขาย หรือนําหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา , พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ฐาน ผลิต หรือนำเข้า เครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้อนุญาต และ ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง

 

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า การตรวจค้นในครั้งนี้ถือเป็นปฏิบัติการปราบปรามเวชภัณฑ์ สินค้าสุขภาพ เครื่องสำอางที่เป็นเป้าหมายของการปลอมแปลง และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ที่แพร่หลายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ตาม “ภารกิจ PANGEA ครั้งที่ 16"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ