ข่าว

"เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา"ยกฟ้อง 6 ตร.พ้นผิดฆ่าอำพรางโจ๋

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา"ชี้พิรุธพยานโจทก์ อ้างอยู่สน.เห็นช่วงคุมตัวคำให้การแต่ละช่วงขัดคำเบิกความ พบมีขอเงินญาติผู้ตายช่วงคุ้มครองพยาน ใช้มือถือขัดเวลาเกิดเหตุ


             11 ตุลาคม 2561  ที่ห้องพิจารณา  902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีคดีฆ่าอำพรางแขวนคอ ผู้ต้องหาวัยรุ่น 17 ปี หมายเลขดำ อ.3252/2552  ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1

 

             รวมทั้งนายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง บิดาผู้เสียชีวิต เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 54ปี อดีตผู้บังคับหมู่งานสืบสวน , ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง อายุ 49 ปี อดีตผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม , ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 48 ปี อดีตผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม , พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ  57 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ , พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 51 ปี อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ยศ-ตำแหน่งทั้งหมด ขณะเกิดเหตุ)

 

             เป็นจำเลยที่ 1- 6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 200 , 289(4) ประกอบ มาตรา 83,90 ,91

 

             โดยอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 ก.ย.52 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า วันที่ 22 ก.ค.47 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์จักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เหตุเกิดที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จากนั้นจำเลยทั้งหก ได้ปิดบังเหตุแห่งการตายของนายเกียรติศักดิ์ และร่วมกันย้ายศพจากท้องที่เกิดเหตุ ไปแขวนคอ ที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน หมู่ที่ 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ต่อมาวันที่ 30 ก.ค.47 - 27 เม.ย.48 จำเลยที่ 4 - 6 ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การเท็จ ระบุว่าในวันที่ผู้ตายถูกทำร้าย ยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เพื่อให้เชื่อว่าพวกจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

 

             ซึ่ง "ศาลชั้นต้น" มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.55 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย , ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 6 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และจำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เพียงคนเดียว 

 

             ต่อมาชั้นอุทธรณ์ ก็ได้อ่านคำศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.58 ซึ่งศาลพิพากษายืนให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1,3 ส่วนจำเลยที่ 2 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกเป็นเวลา 50 ปี ขณะที่จำเลยที่ 4 ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาแก้จากที่ยกฟ้องเป็นให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต เนื่องจากเห็นว่ามีการหลอกลวงญาติผู้ตายว่า ผู้ตายได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว แต่จริงๆแล้วยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงบ่งชี้มีว่าเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1-3 วางแผนฆ่าผู้ตายโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ส่วนของจำเลยที่ 5-6 ศาลอุทธรณ์แก้ให้จำคุกเหลือคนละ 5 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ

 

             ต่อมาโจทก์-จำเลย ต่างก็ยื่นฎีกา โดยระหว่างอุทธรณ์-ฎีกานั้น "พ.ต.ท.สำเภา" อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 4 , "พ.ต.อ.มนตรี" อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 5 , "พ.ต.ท.สุมิตร" อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 6 ได้ประกันตัวคนละ 1 ล้านบาท และศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตศาล

 

             ซึ่งวันนี้ศาลได้เบิกตัว "ด.ต.อังคาร" อายุ 54 ปี จำเลยที่ 1 กับ "ด.ต.พรรณศิลป์" อายุ 48 ปี จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิต  และ "ด.ต.สุดธินันท์" อายุ 49 ปี จำเลยที่ 2 โทษจำคุก 50 ปี มาจากเรือนจำบางขวาง เพื่อฟังคำพิพากษา ขณะที่ "พ.ต.ท.สำเภาฎ" อายุ 57 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต กับ "พ.ต.ท.สุมิตร" อายุ 51 ปี อดีตรอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ที่ศาลอุทธรณ์จำคุก 5 ปี ที่ได้ประกันตัว ก็เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษาฎีกา

 

             ส่วน "พ.ต.อ.มนตรี" อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 5 ที่ศาลอุทธรณ์จำคุก 5 ปี ซึ่งนัดฟังคำพิพากษาฎีกาครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมาไม่ได้มาศาลแล้วถูกออกหมายจับพร้อมสั่งปรับนายประกัน 1 ล้านบาทนั้น วันนี้ก็ยังไม่มาศาลอีก  ศาลจึงให้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยทันที โดยวันนี้มีญาติและเพื่อนกลุ่มตำรวจ ก็มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยเต็มห้องพิจารณาคดี ส่วนฝ่ายครอบครัวผู้เสียชีวิตก็มีมาศาลเช่นกัน

 

             ทั้งนี้ส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ระบุว่า คดีข้อเท็จจริงฟังได้ยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่าวันที่ 16 ก.ค.47 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวนายเกียรติศักดิ์ ผู้เสียชีวิต ข้อหาลักทรัพย์และรับของโจร ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังนายเกียรติศักดิ์ ระหว่างสอบสวนโดยนำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่ สภ.กาฬสินธุ์เป็นเวลา 12 วัน นับแต่วันที่ 17 ก.ค.47 ต่อมาวันที่ 22 ก.ค. จำเลยที่ 4 ติดต่อให้สมาชิกเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ยื่นประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ ซึ่งศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัว

 

             โดยจำเลยที่ 6 ทำบันทึกปล่อยตัวเมื่อเวลา 16.35 น. และในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 ได้นำตัวนายเกียรติศักดิ์ขึ้นไปที่ห้องสืบสวนชั้นที่ 2 ของ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งวันรุ่งขึ้นมีผู้พบนายเกียรติศักดิ์ในสภาพแขวนคอที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด สภาพมีบาดแผลตามร่างกายหลายแห่ง แพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตจากขาดอากาศหายใจเพราะถูกรัดคอ แต่ศพมีบาดแผลจากการแขวนคอซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการตาย

 

             ต่อมา ผบก.สภ.กาฬสินธุ์ จึงตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งสรุปว่าไม่มีหลักฐานชี้ชัด หรือน่าสงสัยว่าข้าราชการการตำรวจรายใดของ สภ.กาฬสินธุ์ มีส่วนรู้เห็นการหายตัวไปและการตาย เห็นควรให้ยุติเรื่อง ต่อมานางพิกุล พรหมจันทร์ อาของผู้เสียชีวิต ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อ้างว่าผู้ตาย ถูกตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่าโดยใช้เชือกรัดคอจากนั้นนำศพไปแขวนคอเพื่ออำพรางคดี ต่อมาวันที่ 3 มิ.ย.48 ดีเอสไอจึงรับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษแล้วแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งหก

 

             คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของอัยการโจทก์ , โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งหกว่า จำเลยร่วมฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , จำเลยที่ 5-6 ร่วมกันย้ายศพฯ , จำเลยที่ 4-6 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการอันมิชอบฯ หรือไม่ 

 

             "ศาลฎีกา"เห็นว่า อัยการโจทก์และโจทก์ร่วม มีพยานซึ่งเดินทางไป สภ.กาฬสินธุ์ ในคดีอื่น ช่วงวันเกิดเหตุที่ 22 ก.ค.47 เบิกความว่า พบจำเลยที่ 2 กับเจ้าพนักงานตำรวจอีกคน ควบคุมตัวนายเกียรติศักดิ์ มาในห้องสืบสวนและถ่ายรูปแล้วด่าทอผู้ตาย ซึ่งช่วงเวลาหลังจากการเคารพธงชาติประมาณ 15 นาที นายเกียรติศักดิ์ ขอยืมมือถือของพยานเพื่อติดต่อที่บ้าน ระหว่างนั้นพยานก็ได้ยินผู้ตายคุยโทรศัพท์กับมารดาว่าให้รีบมารับ เขาจะเอาไปฆ่า

 

             กระทั่งเวลาประมาณ 19.45 น. เห็นจำเลยที่ 1, 3 นำตัวนายเกียรติศักดิ์ออกไปจากห้องสืบสวน แล้วจำเลยที่ 2 พูดว่ามีแต่วัยรุ่นเท่านั้นแหละที่ทำผิด หลังจากนั้นมีผู้หญิงอายุประมาณ 30 ปี มาถามหานายเกียรติศักดิ์ พยานก็บอกว่าเขาเพิ่งเอาตัวออกไป กระทั่งปลายเดือน ก.ค.47 มีตำรวจที่รู้จักกันพาพยานไปที่ สภ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพยานได้เห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ซึ่งตำรวจที่รู้จักกันดังกล่าวขอให้พยานช่วยเหลือ จะมีคนเดือดร้อนมาก โดยพยานบอกว่าจะพูดตามความจริงเท่านั้น ระหว่างนั้นก็บอกว่าหากไม่ช่วยและพูดความจริงจะถูกแขวนคอเหมือนผู้ตาย

 

             ขณะนั้นมีก็จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ด้วยแต่ไม่ได้พูดอะไรกับพยาน จนวันรุ่งขึ้นก็พาพยานไปพบจำเลยที่ 5 ที่ห้องทำงานอีก มีจำเลยที่ 4,6 อยู่ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 5 จะให้พยาน ให้การว่าเห็นผู้ตายอยู่ที่อื่น เพื่อความปลอดภัยของพยานจึงตกลงให้การตามนั้น ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร มาสอบปากคำ ตำรวจที่รู้จักกันก็นำกระดาษที่มีข้อความตามที่ตกลงกันไว้มาให้พยานท่อง โดย พนักงานสอบสวน สภ.จังหาร มาสอบปากคำพยาน รวม 3 ครั้ง จากนั้นก็ยังมีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ทั้งญาติผู้ตาย กรรมการสิทธิมนุษยชน และพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามจะมาสอบปากพยาน แต่ตำรวจที่รู้จักกันก็จะพาพยานหลบหนีไปทุกครั้ง

 

             กระทั่งเดือน ต.ค.47 ภรรยาของตำรวจที่รู้จักกันนั้นแจ้งว่า สามีไปประชุมกับจำเลยที่ 6 และทราบว่ามีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยจะมาสอบปากคำพยานแต่ตำรวจไม่สามารถควบคุมพยานได้และกำลังจะจัดการ จึงให้พยานทำบันทึกเล่าความจริงมอบให้คนที่ไว้ใจและหลบหนีไป พยานจึงทำบันทึกเล่าความจริงทั้งหมดมอบให้น้องสาว แล้วพยานหลบหนีไปจังหวัดอื่น กระทั่งได้ติดต่อกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเพราะหมดทางหลบหนี จึงได้พาพยานไปให้การตามความจริง แต่ไม่ได้ให้การว่าตำรวจคนใดเป็นผู้นำผู้ตายออกไปจาก สภ.กาฬสินธุ์ เพราะยังกลัวอยู่ จนพยานได้ติดต่อกับนางพิกุล อาของผู้ตาย จึงมารับแล้วพาไปพบประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้การตามความจริงทั้งหมด และปลายปี 2547 ก็ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอด้วย

 

             "ศาลฎีกา" เห็นว่า พยานดังกล่าว เป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความทำนองว่า ได้ให้การไปตามที่จำเลยที่ 5 บอกซึ่งเป็นความเท็จ โดยพยานให้การตามความจริงทั้งหมดต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและดีเอสไอ ยืนยันว่าจำเลยที่ 1,3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนชั้น 2 สภ.กาฬสินธุ์ ซึ่งการรับฟังพยานนี้ต้องฟังด้วยความระมัดระวัง โดยพยานปากนี้ให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงวันที่ 1 ส.ค.47 , ให้การต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร รวม 3 ครั้ง วันที่ 3 ส.ค.47 , 21 ต.ค.47 , 27 เม.ย.48 และให้การต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามอีก 3 ครั้ง วันที่ 17 , 23 พ.ย.47 , 8 มิ.ย.48 ซึ่งพยานเบิกความว่า ก่อนให้การตำรวจที่รู้จักกันจะนำกระดาษที่มีข้อความตามที่ตกลงมาให้ท่อง โดยท่องกับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีความยาว 4 หน้ากระดาษ และยังตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า ส่วนเรื่องผู้ตายขอยืมมือถือ จำเลยที่ 5 ไม่ได้ขอร้องให้พยานให้การอย่างไร จึงให้การตามความจริง รวมทั้งไม่ได้ขอร้องเรื่องว่าตำรวจคนใดล็อกคอพาผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน และไม่มีตำรวจคนใดขู่จะฆ่าพยานด้วย

 

             จากคำเบิกความ แสดงว่า ข้อความที่พิมพ์มาเตรียมให้พยานท่องมีมากถึง 4 หน้ากระดาษ และเรื่องผู้ตายยืมมือถือที่ห้องสืบสวน รวมทั้งตำรวจคนใดล็อกคอผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน พยานสามารถให้การอย่างไรก็ได้ไปตามความจริงที่พยานพบเห็นมา แต่เมื่อพิจารณาคำให้การของพยานลงวันที่ 3 ส.ค.47 พยานให้การไว้ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ และเนื้อหาโดยสรุปก็ไม่ได้ให้การเช่นเดียวกับที่เบิกความต่อศาลทั้งที่พยานสามารถให้การได้

 

             ส่วนคำให้การครั้งต่อมาอื่น ๆ พยานก็ให้การเพิ่มเติมเพียงว่าขณะอยู่ในห้องสืบสวนเห็นชายสองคนเชื่อว่าเป็นตำรวจพาผู้ตายเข้ามาในห้องสืบสวน และได้ยินเสียงตำรวจพูดว่าคนที่กระทำผิดมีแต่รุ่นนี้ พร้อมชี้ไปที่ผู้ตาย หลังจากพูดจบแล้วก็เดินกันออกไปจากห้องสืบสวน ซึ่งคำให้การทั้ง 3 ครั้งพยานไม่เคยให้การเลยว่าได้ยินผู้ตายพูดโทรศัพท์ว่า เขาจะเอาผมไปฆ่า หรือเห็นตำรวจคนใดบ้างล็อกคอผู้ตายออกไป หรือบอกผู้หญิงที่มาถามหาผู้ตายว่าเขาเอาตัวไปแล้ว

 

             ส่วนที่ได้ความจากคำเบิกความของพยานว่า หลังให้การต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร วันที่ 21 ต.ค47แล้ว ได้ติดต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามว่าหมดหนทางหลบหนีจึงพาตัวพยานไปที่กองปราบปรามและให้การอีกครั้งวันที่ 17 พ.ย.47 ว่าถูกผู้มีอิทธิพลใน จ.กาฬสินธุ์ ข่มขู่เกรงจะได้รับอันตรายเพราะตำรวจในพื้นที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้จึงขอความคุ้มครองให้ช่วยเหลือพยาน ขณะที่ได้ความจากพนักงานสอบสวนกองปราบปรามว่าได้จัดตำรวจคุ้มครองพยาน และพาไปพักแฟลตตำรวจ

 

             ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขณะนั้นพยานไม่ได้ถูกตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ข่มขู่ โดยพยานอยู่ในความคุ้มครองของตำรวจกองปราบปรามแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่พยานจะต้องเกรงกลัวอิทธิพลอีก แต่เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของพยานลงวันที่ 23 พ.ย.47 แล้ว พยานให้การรายละเอียดต่าง ๆ ช่วงที่ไป สภ.กาฬสินธุ์ วันเกิดเหตุ และรายละเอียดเหตุการณ์แต่ละช่วงขณะพยานอยู่ในห้องสืบสวนเท่านั้น ไม่ได้ให้การว่าหลังจากผู้ตายถูกฆ่าแล้ว มีตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ พาพยานไปที่สถานีตำรวจเพื่อขอให้พยานช่วยเหลือ หรือพาพยานไปพบจำเลยที่ 5 ที่ห้องทำงานเพื่อขอให้พยานให้การตามที่พิมพ์ให้ท่อง ทั้งที่ขณะนั้นได้คุ้มครองพยานแล้วสามารถให้การไปตามความจริงตามที่เบิกความต่อศาลได้

 

             และพยานก็ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจที่รู้จักกันซึ่งอ้างว่าพาไปที่สถานีตำรวจ ประกอบกับพฤติการณ์เมื่อได้รับความคุ้มครองพยานแล้วเหตุใดจึงต้องโทรศัพท์ติดต่ออาของผู้ตายให้มารับพยานออกไปจากความคุ้มครองของกองปราบปรามอีกโดยที่ไม่ปรากฏว่าพยานมีเหตุขัดแย้งกับตำรวจกองปราบปรามหรือถูกข่มขู่จากตำรวจคนใดในกองปราบปราม ซึ่งอาของผู้ตายได้พาพยานไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอีก ซึ่งหลังจากอาของผู้ตายพาพยานไปให้การแล้ว พยานได้ติดต่อขอเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางไป จ.สระแก้ว และยังติดมาขอเงินอีกครั้งเพื่อวางมัดจำห้องเช่า

 

             ทั้งที่อาของผู้ตายทราบอยู่แล้วว่าพยานในความคุ้มครองก็สามารถที่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไปสอบปากคำได้แต่กลับไม่ทำแต่ไปรับพยานออกมา อีกทั้งคำให้การต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามวันที่ 8 มิ.ย.48 พยานก็ไม่ได้ให้การไปตามความจริงเช่นเดียวกับที่พยานให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและที่เบิกความต่อศาล พฤติการณ์ดังกล่าวของพยานเป็นพิรุธ ส่อแสดงให้สงสัยว่าพยานถูกข่มขู่เพื่อให้การเท็จในชั้นสอบสวน และเกรงกลัวอันตรายตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่

 

             ส่วนที่พยาน เบิกความว่า ช่วงเดือน ต.ค.47 ภรรยาของตำรวจที่รู้จักกัน แจ้งพยานว่าให้ทำบันทึกเล่าความจริงมอบให้คนที่ไว้วางใจแล้วหลบหนีไป พยานจึงทำบันทึกเล่าความจริงมอบให้น้องสาวไว้นั้น เหตุใดโจทก์-โจทก์ร่วม จึงไม่นำบันทึกเล่าความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นมาแสดงต่อศาล หรือนำน้องสาวพยานมาเบิกความเพื่อยืนยันในข้อนี้ และแม้ว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาเรื่องเวลาที่พยานอ้างว่าเห็นจำเลยพาผู้ตายออกไปเป็นเวลาที่อาจคลาดเคลื่อนนั้น

 

             แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ก็พบว่าใช้โทรศัพท์ช่วงค่ำในวันที่ 22 ก.ค.47 เวลา 19.12.08 น. ที่บริเวณถนนบายพาสกาฬสินธุ์ และเวลา 19.12.36 น. ที่เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด หากนับตั้งแต่จำเลยที่ 1, 3 เริ่มพาผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน หลังจากเวลา 19.00 น. ไปแต่ไม่เกิน 19.15 น. แล้วขึ้นรถเดินทางออกจาก สภ.กาฬสินธุ์ ถึงถนนบายพาสกาฬสินธุ์นั้นเป็นไปไม่ได้ พยานจึงเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธโดยตลอด ดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาเป็นพิรุธ

 

             พฤติการณ์จึงน่าสงสัยว่าจำเลยทั้งหกร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ และร่วมเป็นเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการมิชอบฯ ช่วยเหลือจำเลยที่ 1-3 ไม่ให้ต้องรับโทษหรือไม่ "ศาลฎีกา" เห็นควรให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนี้ให้จำเลยทั้งหก ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์-โจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6

 

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อจบการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาความยาว 26 หน้า ซึ่งผลให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหกแล้ว บรรดาญาติพี่น้องต่างสวมกอดจำเลยด้วยความดีใจ ขณะที่จำเลยได้ก้มลงกราบแสดงความขอบคุณศาลด้วย

 

             ต่อมา "นายรัษฎา มนูรัษฏา" กรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความฯ ในฐานะทนายความของญาติผู้ตายโจทก์ร่วม กล่าวว่า วันนี้ศาลฎีกายกฟ้องจำเลยที่เป็นตำรวจทั้ง 6 ราย ถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ตนเคารพคำพิพากษาของศาลฎีกาแต่ยังไม่เห็นพ้องด้วย โดยคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2547 มีวัยรุ่นถูกตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ จับกุมแล้วในวันรุ่งขึ้นพบว่าถูกแขวนคอตายอยู่ในกระท่อม จ.ร้อยเอ็ด

 

             หลังเกิดเหตุญาติผู้ตายได้ขอความช่วยเหลือทางคดีมายังสภาทนายความฯ ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย แต่งตั้งคณะทำงานแล้วให้ความช่วยเหลือญาติที่เข้าเป็นโจทก์ร่วม อย่างไรก็ตาม เห็นว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลย 5 ราย ยกฟ้อง 1 ราย เราไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกทั้ง 6 คน ขณะที่ศาลฎีกายกฟ้อง โดยหยิบยกความเห็นของพยานที่ให้ผู้ตายยืมโทรศัพท์เพื่อโทรติดต่อหาย่าผู้ตาย ซึ่งยังมีข้อสงสัย

 

             เราเห็นว่ายังมีพยานปากสำคัญอื่นๆ อีก โดยเฉพาะย่าของผู้ตายและมีบุคคลมาประกันตัวให้ผู้ตาย โดยที่ญาติไม่ทราบเรื่อง แล้วตำรวจทำบันทึกประจำวันว่าปล่อยตัวกลับบ้านไปแล้ว พยานเหล่านี้อยู่ในสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอทำไว้อย่างดีที่สุด ซึ่งศาลฎีกายังไม่ได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้ เราก็จะได้ศึกษาในเชิงวิชาการว่ารายละเอียดคำพิพากษาเป็นอย่างไร  

 

             นอกจากนี้แล้วอยากจะฝากถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตใน จ.กาฬสินธุ์ กว่า 20 รายในช่วงปี 2546 - 2547 แล้วยังหาตัวคนร้ายไม่ได้เลย คดีมีอายุความนาน 20 ปี จึงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องสั่งการให้สืบหาตัวคนร้ายที่แท้จริงมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ หากหัวหน้าสถานีตำรวจระบุได้สืบหาตัวคนร้ายมาแล้วเป็นเวลานาน แต่ไม่ทราบตัวผู้กระทำผิดให้งดการสืบสวนสอบสวนนั้น ตนคิดว่าญาติพี่น้องของคนตายเขายังสงสัยอยู่ว่าคนร้ายที่ทำให้ลูกหรือคนในครอบครัวเขาตายเมื่อไหร่จะถูกนำตัวมาลงโทษ ทั้งนี้ ขอให้มีการคุ้มครองพยานในคดีนี้ที่เขาออกมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือว่ามีความเสี่ยงที่ออกมาพูดความจริง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ต้องให้ความสำคัญ

 

             ขณะที่ "นางพิกุล พรหมจันทร์" อาของญาติของผู้ตาย กล่าวว่า ศาลฎีกาได้หยิบยกคำฎีกาของจำเลยมา ฎีกาของโจทก์แทบไม่หยิบยกมาเลย พยานคดีนี้ไม่ได้มีแค่คนเดียว มีการผ่าพิสูจน์ศพของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ด้วย เรื่องการใช้โทรศัพท์ในเขตพื้นที่ก็เป็นการดำเนินการของ พล.ต.ท.ไมตรี ฉิมเฉิด ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บังคับการปราบปรามภาค 4 ได้ดำเนินการอย่างดีที่สุด รอบคอบที่สุด แทบจะไม่มีพิรุธ เป็นข้อสงสัยว่าทำไมศาลฎีกาไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา

 

             ผู้สื่อข่าวถามว่าในการรวบรวมพยานหลักฐาน ได้นำข้อมูลสัญญาณมือถือเชื่อมโยงในคดีหรือไม่ "นางพิกุล" กล่าวว่า ขณะนั้นเราไม่สามารถที่จะใช้อำนาจขอข้อมูลได้ เพราะเป็นอำนาจของพนักงานสืบสวนสอบสวนกองปราบปรามซึ่งทางนั้นได้ทำอย่างรอบคอบแล้ว

 

             ขณะที่ "นายรัษฎา" ทนายความ กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า คดีนี้มีการหาหลักฐานเชื่อมโยงจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และพบว่ามีสัญญาณโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 ไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุที่พบศพผู้ตาย ในเขต อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าช่วงเวลามีความคลาดเคลื่อนไม่ใกล้เคียงกัน เพราะระยะทางจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ค่อนข้างไกล แต่ข้อเท็จจริงจุดที่เกิดเหตุ จ.กาฬสินธุ์ กับ จ.ร้อยเอ็ด ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็สามารถไปถึงกันได้ ซึ่งตนเคยลงไปดูที่เกิดเหตุแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องไปสืบสวนหาตัวคนร้ายที่ทำให้เสียชีวิต โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี

 

             ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีโอกาสที่จะพบพยานหลักฐานใหม่ สำหรับรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่ "นายรัษฎา" ทนายความ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรื้อฟื้นคดี ถ้ามีพยานหลักฐานเราก็สามารถเอาคนผิดมาฟ้องคดีได้ คงไม่ได้รื้อฟื้นเพราะศาลฎีกายกฟ้องจำเลยไปแล้ว การรื้อฟื้นคดีเป็นเรื่องที่ฝ่ายจำเลยจะยกขึ้นมาเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ กรณีลักษณะนี้มีหลายคนเสียชีวิต บางคนตายใจกลางเมือง บางคนนั่งแขวนคออยู่ที่สวนสาธารณะ แต่หาตัวคนร้ายไม่ได้ ซึ่งคดียังไม่ขาดอายุความ ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องดำเนินการ ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มาร้องเรียนที่สภาทนายความฯ หลายราย  สื่อมวลชนควรจะต้องไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิตและยังไม่ได้ตัวคนร้ายจะมีมาตรการหรือดำเนินการอย่างไร

 

            ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ให้ข้อมูลว่ามีเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ในท้องที่ จ.กาฬสินธุ์ กว่า 20 รายนั้น ปัจจุบันได้มีการทำสำนวนส่งฟ้องศาลแล้วกี่ราย "นางพิกุล" อาของนายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากคดีนี้แล้วดีเอสไอ ดำเนินการอยู่อีก 2 คดี อยู่ในสำนักคดีอาญา 1 ของดีเอสไอ ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน แต่คดียังไม่ได้ส่งให้อัยการฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล รวมแล้วคดีการฆ่าลักษณะนี้ที่ จ.กาฬสินธุ์ ดีเอสไอรับไว้ทั้งหมด 3 คดีซึ่งโดนแขวนคอตายลักษณะเดียวกัน

 

             "นางพิกุล" อาของผู้ตาย ยังกล่าวด้วยว่า ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ได้ระบุถึงมูลเหตุจูงใจที่นายเกียรติศักดิ์ถูกฆ่าไว้ในหน้า 33 ด้วยว่าน่าจะไปรู้เห็นพัวพันเกี่ยวกับการซื้อขายยาเสพติด พร้อมหยิบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหน้า 33 ขึ้นมาโชว์ให้ผู้สื่อข่าวดูด้วยและกล่าวว่า "ทุกวันนี้มีความวิตกในความปลอดภัย ซึ่งตนก็ไม่เคยมีปัญหาพิพาทกับใคร ถ้าตนเกิดเสียชีวิตก็ขอให้สื่อมวลชนทุกคนเป็นพยานว่ามีเรื่องนี้เรื่องเดียว"

 

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เกิดขึ้นในปี 2547 ช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญใน จ.กาฬสินธุ์ อย่างต่อเนื่องที่สามารถตรวจสอบรายชื่อได้มีทั้งสิ้น 28 ราย โดยเฉพาะกรณีการฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ญาติของนายเกียรติศักดิ์ได้เข้าร้องเรียนสาเหตุการเสียชีวิตต่อดีเอสไอ พนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถจับกุมตัวจำเลยทั้งหกได้

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ