ข่าว

ชี้ขาด !! กทพ. จ่ายชดเชย บ.ทางด่วน 1.7 พันล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทพ. ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ชดเชยรายได้กว่า 1.7 พันล้าน ให้ บ.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ ใน 90 วัน

               21 ก.ย. 61  ที่ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ  วันนี้ได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีฟ้องการบังคับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ระหว่าง บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด กับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. รวม 2 สำนวน

 

 

 

               โดยคดีแรก หมายเลขดำ อ.994/2556 ที่พิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดง อ.932/2561 ซึ่ง บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ผู้ร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ชี้ขาดให้ กทพ. ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ให้กับ บจก.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ ในปี 2542 และ 2543 จำนวน 1,790,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา กรณีสืบเนื่องจากที่ บจก.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ ได้ก่อสร้างทางด่วนสายบางปะอิน ปากเกร็ด ตามสัญญาที่รัฐมนตรีมีมติให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ และกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ รังสิต ซึ่งบริษัทเห็นว่าเป็นทางแข่งขันกับทางด่วน สายบางปะอิน ปากเกร็ด ตามที่กำหนดในสัญญา โดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่ระบุไว้ว่าเป็นทางที่ไม่มีลักษณะแข่งขัน

               ดังนั้น จึงขอให้ กทพ. ชำระเงินค่าชดเชยที่ปริมาณจราจรและรายได้ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดว่า ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ รังสิต เป็นทางแข่งขันที่ทำให้ปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนสายบางปะอิน ปากเกร็ด ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งมีผลกระทบตามสัญญา จึงชี้ขาดให้ กทพ. ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่ บจก.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ สำหรับปี 2542 จำนวน 730,800,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา ข้อ 25.6 นับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 43 และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา ข้อ 25.6 นับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 44 เป็นต้นไป

 

 

 

               ส่วนคดีที่ 2 หมายเลขดำ อ.995/2556 ที่พิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดง อ.933/2561 ก็เป็นเรื่องที่ กทพ. ร้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีที่ บจก.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ ฟ้องไว้ดังกล่าว

               ซึ่งคดีทั้ง 2 สำนวน มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 43 คน พิจารณาลงมติพิพากษา เนื่องจากคดีมีมูลค่าทรัพย์สินสูง อีกทั้งยังจะเป็นการวางแนววินิจฉัยกฎหมายต่อไปด้วย ซึ่งคดีทั้ง 2 สำนวน มีนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นเจ้าของสำนวน

               อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วลงมติด้วยเสียงข้างมาก เห็นว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

               ดังนั้น จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ กทพ. ชำระเงินสำหรับ ปี 2542 จำนวน 730,800,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา ข้อ 25.6 นับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 43 และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา ข้อ 25.6 นับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 44 เป็นต้นไป แก่ บจก.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ โดยให้ชำระให้เสร็จภายใน 90 วัน นับแต่คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดด้วย และพิพากษาให้ยกคำร้องของ กทพ. ที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

 

 

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี คดีทั้ง 2 สำนวนดังกล่าว การลงมติในที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ก็มีตุลาการ 16 คน (รองประธานศาลปกครองสูงสุด 1 คน , ประธานแผนกคดีบริหารราชการแผ่นดินในศาลปกครองสูงสุด , ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด , ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด 2 คน และตุลาการศาลปกครองสูงสุด 11 คน) ที่เป็นเสียงข้างน้อย ที่มีความเห็นแย้งด้วยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตฯ ดังกล่าว ขัดต่อหลักกฎหมาย โดยการคำนวณของวิศวกรอิสระ ยังไม่ได้พิสูจน์หรือยืนยันได้เลยว่าทางยกระดับได้แย่งรถยนต์ รวมทั้งการวิธีการคำนวณก็ยังไม่แสดงให้เห็นถึงส่วนต่างปริมาณรถหรือรายได้ว่าเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง ดังนั้น การประเมินจึงไม่เป็นไปตามสัญญาที่ว่าการสร้างหรือการปรับปรุงถนนมีผลกระทบอย่างแรงทำให้ปริมาณการจราจรที่ใช้ทางด่วนบางประอิน - ปากเกร็ด ลดลง ดังนั้น การยอมรับคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ จึงขัดหลักกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ดังนั้น ตุลาการเสียงข้างน้อยที่มี นายประวิตร เจ้าของสำนวนรวมอยู่ด้วยนั้น จึงเห็นว่า ศาลปกครองสูงสุดชอบที่จะมีคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ

 

 

 

               ทั้งนี้ นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะรองโฆษกศาลปกครอง ได้กล่าวอธิบายถึงคดีดังกล่าวที่มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่า เหตุที่มีการนำข้ออุทธรณ์คดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ฯ เนื่องจากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ที่ว่า 1. เป็นการวินิจฉัยที่จะเป็นการวางหลักกฎหมาย 2. เป็นคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 3. เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์มูลค่าสูง โดยเป็นไปตามอำนาจของ นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ที่จะพิจารณาและมีคำสั่งเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้

               โดยข้ออุทธรณ์คดีนี้ ได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ที่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุด ทั้งสิ้น 43 คน ซึ่งเสียงข้างมากที่ลงมตินั้นมีจำนวน 26 คน ส่วนเสียงข้างน้อย จำนวน 16 คน ส่วนตุลาการอีก 1 คน นั้นได้ถอนตัวไม่ได้ร่วมวินิจฉัยและลงมติ เนื่องจากเคยร่วมในการพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลปกครองชั้นต้นมาก่อน อย่างไรก็ดี การนำคดีเข้าสู่การวินิจฉัยและลงมติโดยที่ประชุมใหญ่ฯ นั้น ที่ผ่านมา ก็มีหลายสิบสำนวน แต่ส่วนมากที่เคยตัดสินไปนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิ์ - อำนาจฟ้อง โดยคดีที่มีทุนทรัพย์นั้น คดีนี้ถือเป็นคดีแรกในรอบปีนี้ที่มีการวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ฯ เกี่ยวกับคดีทุนทรัพย์สูง ขณะที่การชำระเงินตามคำพิพากษานั้นก็ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่คดีถึงที่สุด ซึ่งคดีนี้ได้อ่านคำพิพากษาวันที่ 21 ก.ย. 61 ก็จะเริ่มนับวันชำระตั้งแต่ 22 ก.ย. 61 เป็นต้นไป

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ