ข่าว

ลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรดีหรือไม่ ตอน 2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย – รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ   [email protected] 

 

      ในสัปดาห์ที่แล้วผมเล่าให้ฟังถึงวิธีคิดของคนทำงานประจำที่อยากทำการเกษตรเป็นอาชีพ โดยมีความพร้อมทางด้านทรัพยากรที่ต่างกัน รวมถึงสิ่งที่จะต้องเผชิญหากต้องถลำตัวมาทำแล้วทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็มาจากการทำการวิจัยของคนที่อยากทำการเกษตรเป็นอาชีพเสริม แต่ไม่มีข้อมูลที่สร้างความมั่นใจให้ตัวเองและไม่สามารถหาคำตอบได้จากใครคนใดคนหนึ่งได้อย่างชัดเจน     

ลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรดีหรือไม่ ตอน 2

         หลังจากที่ลูกศิษย์ผมที่ชื่อ นิวัฒน์ อินเพน ได้ข้อมูลในด้านต่างๆ ครบถ้วนแล้ว และได้ความมั่นใจเห็นภาพทุกมิติของการจะทำการเกษตรเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากงานประจำแล้วว่าจะต้องเจออะไรบ้าง อีกเรื่องหนึ่งที่ผมลืมบอกไปคือลูกศิษย์ผมคนนี้ถึงแม้จะมีบ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัด แต่ก็รู้เรื่องเกี่ยวกับการเกษตรน้อยมากเพราะแกถนัดเรื่องเทคโนโลยี แม้กระทั่งตอนที่จะทำวิจัยเกี่ยวกับการเกษตรนี่ก็ยังคิดนานคิดช้ากว่าคนอื่นอยู่หลายเท่า แต่โชคดีที่เรียนร่วมชั้นอยู่กับเพื่อนๆ ที่ทำงานด้านการเกษตร ตรงนี้คงเป็นอีกจุดนึงที่ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรและสิ่งที่เกี่ยวข้องไปแบบไม่รู้ตัว

        ช่วงแรกที่ผมสังเกตเห็นหลังจากที่นิวัฒน์ทำงานวิจัยเสร็จก็คือในเฟซบุ๊กของเขาเริ่มโพสต์ภาพเกี่ยวกับพืชผักสวนครัวที่เขาปลูกอย่าง กระเพรา โหระพา พริก ตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายๆ ริมรั้วไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมาก ปลูกไปปลูกมาก็มีเพื่อนร่วมงานสั่งซื้อไปกินบ้าง ขายตามร้านอาหาร ตามตลาดบ้างได้เรื่อยๆ ก็ดูว่าเขาเริ่มมีความสุขกับการทำการเกษตรริมรั้วแบบที่ใช้เวลาในวันหยุดทำกันของพวกมนุษย์เงินเดือน 

         แต่อาจจะเป็นโชคดีตรงที่นิวัฒน์เองพอมีที่ทางเป็นของตนเองอยู่บ้าง หลังจากนั้นไม่นานผมก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีก คือเริ่มมีการปรับพื้นที่ทำเกษตรที่ดูเป็นงานเป็นการเพิ่มขึ้น มีการปลูกกล้วยหอม และฝรั่งเพิ่มขึ้นแต่ก็เป็นจำนวนไม่มาก ผมได้ลองถามดูว่าทำไมไม่ปลูกเยอะๆ ไหนๆ ก็ปรับที่ทางทางแล้ว คำตอบที่ได้คือมีทุนไม่มาก ไม่มีแรงงานดูแล เวลาที่ตัวเองจะมาดูแลก็มีจำกัด ที่สำคัญตลาดรองรับก็มีจำกัดเช่นกัน

             ซึ่งผมฟังวิธีคิดแล้วก็เป็นการทำการเกษตรที่ไม่เสี่ยงมาก ส่วนหนึ่งนิวัฒน์คงได้เห็นข้อมูลจากงานวิจัยที่ตัวเองทำแล้วว่าควรทำอะไร แบบไหน อย่างไรแบบพอเหมาะพอควร จึงจะเหมาะกับคำว่าอาชีพเสริมทางการเกษตรไม่ใช่อาชีพหลักทางการเกษตร สิ่งที่ผมเคยได้ยินจากปากของนิวัฒน์อีกอย่างคือ เหนื่อยครับ ถึงแม้จะทำเป็นอาชีพเสริมเพราะเรามีงานหลักประจำที่ต้องทำอยู่ และอีกอย่างการทำการเกษตรเป็นงานละเอียดถึงแม้เป็นแค่งานรอง แต่ก็ต้องใช้เวลาดูแลและบำรุงรักษาเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีในระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ดีเลิศแบบที่ต้องขายแพง แต่แค่ให้ได้ขายในราคาแบบแบ่งๆ กันกินเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนิดๆ หน่อยในครอบครัว 

             และอีกอย่างก็เป็นการเรียนรู้เรื่องการเกษตรไปเรื่อยๆ อย่างล่าสุดก็ลองปลูกข้าวโพดหวานแดง siam ruby queen เพราะเห็นว่าช่วงนี้มีความต้องการของผู้บริโภคและสามารถหาเมล็ดพันธุ์ได้ไม่ยากแม้ว่าราคาจะสูงไปสักหน่อย แต่ก็ได้เรียนรู้เรื่องของแปลกๆ ทำให้มีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น

 

 

     

             ฟังดูแล้วเรื่องการทำอาชีพเสริมทางการเกษตรก็ยังเป็นอีกแนวทางสำหรับคนทำงานประจำที่มีความพร้อมของตัวเองอยู่ในระดับหนึ่ง เสริมรายได้ เสริมความรู้ และเสริมความสุขภายในครอบครัว คงเป็นคำตอบได้อีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่กำลังคิดว่าจะออกจากงานประจำมาทำการเกษตร หรือทำการเกษตรเป็นอาชีพเสริมจะดีกว่า 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ