ข่าว

 เจาะลึกด้านราคา"พืชเศรษฐกิจ"ปี2561

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เจาะลึกด้านราคา"พืชเศรษฐกิจ"ปี2561 "มะพร้าว-ข้าว-ยาง-ปาล์ม"ร่วงทุกพืช      

 

              อาจกล่าวได้ว่า ปี 2561 กลายเป็นปีแห่งสินค้าพืชเกษตรตกต่ำสุดๆ ก็ว่าได้ จะเห็นว่าพืชเกษตรเกือบทุกตัวล้วนมีปัญหาในด้านราคาแทบทั้งสิ้น จะมีก็เพียงข้าวที่ปีนี้ชาวนาเริ่มจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง หลังข้าวหอมมะลิในฤดูการผลิตปีนี้(2560/61) ราคาพุ่งพรวดไปเกือบ 2 หมื่นต่อตัน อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งรัฐบาลได้ระบายข้าวเก่าเก็บในโครงการรับจำนำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาจนหมด 

             ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรัฐบาลที่ได้พยายามลดพื้นที่นาข้าวหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน อาทิ อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวลดลง ตลอดจนความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะภาคอีสานที่โดนถล่มจากพายุหลายระลอกในช่วงที่ข้าวกำลังออกรวง

             ดั่งที่นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ "รศ.สมพร อิศวิลานนท์" เคยให้เหตุผลไว้ว่าเหตุที่ข้าวปีนี้มีราคาสูงกว่าทุกปี เป็นเพราะผลผลิตน้อยหลังพื้นที่เพาะปลูกในภาคอีสานส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วม ขณะที่ความต้องการบริโภคในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวกลุ่มเฉดสีต่างๆ เช่น ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมมะลิดำ ดีขึ้นอีกราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 20,000 บาท 

             ขณะที่ ข้าวขาวกลับมีราคาต่ำกว่าปีที่แล้วอยู่ที่ตันละ 7,500-7,800 ทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตของประเทศคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม เมียนมาร์ เพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศที่เคยนำเข้าจากไทยอย่าง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ผลิตข้าวเอง แต่เชื่อว่าแนวโน้มในฤดูการผลิตหน้า(2561/62) ความผันผวนของราคาข้าวไม่ต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก ทำให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือชาวนาตามมติคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/2562 วงเงินรวม 97,950.48 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ เป้าหมาย 9 ล้านตัน แบ่งออกเป็นวงเงินสินเชื่อ 35,060 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 62,890.48 ล้านบาท 

           ยางพารา เป็นอีกสินค้าที่ราคาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง แม้คำมั่นของเจ้ากระทรวงพญานาค “กฤษฎา บุญราช” ให้สัญญาหลังเข้ามารั้งตำแหน่งปลายปี 2560 จะทำให้ราคายางพาราขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาทภายใน 3 เดือน แต่จนถึงขณะนี้ราคายังร่วงหล่นอยู่ที่ 3 กิโล 100 เหมือนเดิม เหตุที่ราคายางเป็นเช่นนี้ รัฐบาลอ้างว่าเป็นไปตามกลไกตลาดโลก 

            กระทั่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาทตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง คิดเป็นพื้นที่กรีดยางแล้วรวม 10.03 ล้านไร่ โดยให้เงินช่วยเหลือตามพื้นที่สวนยางเปิดกรีดจริงไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ แบ่งเป็นเจ้าของสวนยางได้ 1,100 บาท/ไร่ และคนกรีดยางได้ 700 บาท/ไร่ โดยให้เริ่มมีการจ่ายเงินในช่วงเดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป

            ขณะเดียวกันก็ได้เร่งให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ดำเนินการก่อสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ในโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรของรัฐบาลตามสูตรของกยท.และกรมทางหลวง ซึ่งขณะนี้มีหลายหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เริ่มดำเนินการแล้ว 

           ในขณะเดียวกันกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ก็ได้จัดทำคู่มือการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (ยางพารา) สำหรับงานท้องถิ่น ออกมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในแนวทางปฏิบัติ โดยในส่วนของการนำยางพาราไปใช้ในการทำถนน ด้วยการนำน้ำยางสดหรือน้ำยางข้นผสมกับสารผสมเพิ่ม (NR-Pleblend) เพื่อปรับปรุงคุณภาพ และปรับเปลี่ยนคุณสมบัติบางประการของน้ำยางพาราให้มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมกำหนด 

            สำหรับในส่วนของราคากลางที่กรมบัญชีกลางออกมาทั้ง 2 ฉบับ คือ หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 4 ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของกระบวนการและราคา โดยประมาณการราคา ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2561 ซึ่งราคาที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับการประมูลงานในแต่ละท้องที่ และการจัดซื้อจัดจ้างทำถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ ก็ขึ้นอยู่กับส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ว่าจะสะดวกดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบใด 

            ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดรัฐบาล โดย กยท.ยังออกมาตรการ “ช็อป ช่วย ชาติ” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประชาชนผู้ซื้อยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย ของบริษัทผลิตล้อที่ซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท. จะได้รับสิทธิ์นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท โดยให้นำคูปองที่ได้รับมาจากตัวแทนบริษัทหรือร้านค้าที่จำหน่ายยางให้แก่ประชาชน มาลดหย่อนภาษีเงินได้ดังกล่าว โดยเริ่มซื้อสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2561-16 มกราคม 2562 รวมระยะเวลา 1 เดือน 

              ปาล์มน้ำมัน ก็เป็นอีกพืชที่ราคาตกต่ำในช่วงขวบปีที่ผ่านมาและตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี สนนราคาขายอยู่ที่ 2.50–2.70 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตปาล์มอยู่ที่ 3.70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสวนทางกับราคาน้ำมันพืชที่ผลิตจากปาล์มราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 40 กว่าบาทต่อลิตร สร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้อชาวสวนปาล์มไปทั่ว ส่งผลทำให้มีการนัดชุมนุมประท้วงอยู่เป็นระยะเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว

             กระทั่งล่าสุดการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบเรื่องมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศเพื่อแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันราคาตกต่ำ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบในปริมาณ 1.6 แสนตัน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า พร้อมกันนี้ มนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยและเครือข่ายชาวสวนปาล์มยังได้เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานเร่งประกาศนโยบายการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 โดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ปีละหลายแสนตัน โดยขณะนี้ทางมาเลเซียได้มีการประกาศใช้บี 10 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

         มะพร้าว เป็นอีกพืชที่ได้รับผลกระทบหลังราคามะพร้าวตกต่ำต่อเนื่องเหลือผลละ 3 บาทกว่าเท่านั้นในปีที่ผ่านมา จากเดิมอยู่ที่ 25-30 บาท ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้แก่ชาวสวนมะพร้าวจำนวนมาก โดยเฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 4.5 แสนกว่าไร่

            ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากการนำเข้ามะพร้าวของกระทรวงพาณิชย์ โดยไม่ได้มีการเช็กสต็อกผลผลิตความสมดุลในประเทศเป็นรายไตรมาสอย่างชัดเจน ทั้งที่ทางคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เคยกำชับให้ดูแลการนำเข้ามะพร้าวตามกรอบ และต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชาวสวน

           เห็นได้จากในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560-พฤษภาคม 2561 ได้มีการนำเข้ามะพร้าว 500 ล้านผล หรือประมาณ 5 แสนตัน มากกว่าการบริโภคของประชากรหลายเท่า ส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวในประเทศราคาร่วงลงในทันที

             แม้ปัจจุบันรัฐบาลสั่งงดการนำเข้ามะพร้าว 3 เดือน ตั้งแต่สิงหาคม-ตุลาคม 2561 แต่จนถึงขณะนี้ราคามะพร้าวไทยจะยังไม่ปรับสูงขึ้น เหตุเพราะว่ายังคงมีมะพร้าวเถื่อนลักลอบเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวจากอินโดนีเซีย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวเป็นอันดับ 9 ของโลก

 

             ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีรองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติให้ชะลอการนำเข้ามะพร้าวตามความตกลงของ WTO และ AFTA ปี 2562 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนจากคณะทำงานระดับจังหวัด ทั้งยังได้มีการเสนอการบริหารจัดการมะพร้าวในปี 2562 มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น โดยการกำหนดสัดส่วนการซื้อมะพร้าว โดยจะต้องมีการซื้อภายในประเทศให้หมดก่อนแล้วค่อยมีการนำเข้าจากต่างประเทศ และให้มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) ภายใต้ความตกลงเกษตรขององค์การการค้าโลก (WTO) ถือเป็นมาตรการที่เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าวได้ แต่จะช่วยแก้ปัญหาราคามะพร้าวร่วงได้แค่ไหนก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ