ข่าว

กยท.หนุนถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กยท.หนุนถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ กระตุ้นใช้ยางสร้างเสถียรภาพด้านราคา

 

               สถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันค่อนข้างทรงตัว โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ในระดับราคาประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลยางพาราของประเทศ ได้พยายามทุกวิถีทางในการกระตุ้นราคาและรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้มั่นคง โดยเดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐสร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ หวังเพิ่มเสถียรภาพด้านราคา สร้างความมั่่นคงให้เกษตรกรชาวสวนยาง 

              เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ย้ำถึงการดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยนอกจากจะต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิที่เปิดกรีดแล้ว จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีจำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 รายด้วย โดยคิดเป็นพื้นที่ 9,448,447 ไร่ หลังจากนี้ กยท.จะเร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบสิทธิ์โครงการระดับตำบล และคณะกรรมการบริหารโครงการ ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด พร้อมทั้งประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ และเปิดรับแจ้งเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนตรวจสอบคุณสมบัติพร้อมให้การรับรอง คาดว่าจะสามารถเข้าสู่กระบวนการจ่ายเงินได้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม เป็นต้นไป

             ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. กล่าวถึงการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ โดยเร่งสร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ (Para Rubber Soil Cement) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการนำยางพาราธรรมชาติ ทั้งในรูปแบบน้ำยางสด และน้ำยางข้น มาดัดแปรโครงสร้างเพื่อให้ยางพาราสามารถนำมาใช้ร่วมกับวัสดุดิน ปูนซีเมนต์ ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี โดยได้มีการก่อสร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์จริง รวมไปถึงติดตามการตรวจสอบ ประเมินผลค่าต่างๆ จนประสบผลสำเร็จด้วย ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา มีการนำน้ำยางข้นมาใช้ทำถนนแล้วมากกว่า 47,000 ตัน หรือคิดเป็นน้ำยางสดกว่า 95,000 ตัน 

              ทั้งนี้ในปัจจุบัน กรมทางหลวงได้จัดทำรูปแบบมาตรฐานแนวทางการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา หรือถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ปฏิบัติหรือใช้ในการอ้างอิงมาตรฐาน เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดราคากลาง อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะสามารถประกาศราคากลางได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งถนนยางพาราจะมีค่าความอ่อนตัวสูงกว่า จึงทนทานต่อความร้อนได้มากกว่า ประมาณร้อยละ 48 และยังมีคุณสมบัติช่วยลดการลื่นไถลของยานพาหนะ จากการทดสอบค่าการลื่นไหลของถนนยางพารามีน้อยกว่าถนนทั่วไป ในขณะที่มีความฝืดมากขึ้น มีความต้านทานการเกิดร่องล้อ จึงช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้น

                 “การสร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศไทยได้ โดยในการทำถนนยางพาราระยะทาง 1 กิโลเมตร ความกว้างถนน 12 เมตร (ตามมาตรฐานของกรมทางหลวง) ความหนา 5 เซนติเมตร ต้องใช้ปริมาณเนื้อยางแห้ง 3.6 ตัน หรือใช้น้ำยางข้นในปริมาณ 6 ตัน มาเป็นส่วนผสม ซึ่งจะช่วยผลักดันการใช้ยางพารามากถึงร้อยละ 20-30 ของยางพาราที่มีอยู่ และจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 30-50 และยังเป็นการใช้ประโยชน์จากยางพาราได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นหากหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนการก่อสร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ จะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. กล่าว

         

                ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงในส่วนของกรมชลประทาน ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ โดยได้จัดสรรงบประมาณภายในโครงการไทยนิยมยั่งยืนกว่า 3,548 ล้านบาท มาใช้ซ่อมแซม ปรับปรุงถนนคันคลองชลประทาน ให้เป็นถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ ภายในปีนี้กรมชลประทานมีแผนซ่อมแซมปรับปรุงถนนคันคลองชลประทาน ที่เป็นถนนลูกรังรวมระยะทางทั้งสิ้น 400 กิโลเมตร ต้องการใช้น้ำยางพาราประมาณ 7,200 ตัน ซึ่งขณะนี้สนับสนุนน้ำยางพาราจากเกษตรกรไปแล้วจำนวน 3,500 ตัน 

               “กรมชลประทานได้นำงบไทยนิยมยั่งยืนมาซ่องมปรับปรุงคันคลองชลประทาน ซึ่งต่อไปนี้จะปรับเปลี่ยนเป็นถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ทั้งหมด แต่จะทยอยดำเนินการ ในปีนี้ปรับปรุงถนนดินลูกรังเป็นถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์รวมระยะทาง 400 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องใช้น้ำยางสดประมาณ 7,000 ตัน” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวย้ำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ