ข่าว

เกษตรเตือนชาวสวนทุเรียนป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งให้ดี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรเตือนชาวสวนทุเรียนป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งให้ดี 

       เกษตรเตือนชาวสวนทุเรียนป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งให้ดี   หลังจีนแจ้งเตือนพบศัตรูพืชติดไปกับผลผลิต เพื่อรักษาคุณภาพทุเรียนส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี

เกษตรเตือนชาวสวนทุเรียนป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งให้ดี 

             นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยส่งออกทุเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 94% ประเทศที่นำเข้าสำคัญได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยในปี 2559 มูลค่าการส่งออก รวมมากกว่า 20,000 หมื่นล้านบาท เฉพาะประเทศจีนนำเข้าทุเรียนจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่งปริมาณสูงถึง 402,600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 17,469 ล้านบาท แต่การส่งออกทุเรียนยังพบปัญหาหลายประการ ตั้งแต่การส่งออกทุเรียนอ่อน การแอบอ้างสิทธิ์สวมสิทธิ์ของประเทศคู่ค้า ตลอดจนการตรวจพบแมลงศัตรูพืชที่ติดไปกับผลทุเรียน โดยสำนักการเกษตรต่างประเทศแจ้งว่าการส่งออกทุเรียนของไทยไปยังประเทศจีนพบปัญหาทุเรียนมาเลเซียแอบอ้างสวมสิทธิ์ทุเรียนของไทยและปัญหาการตรวจพบศัตรูพืชในทุเรียนจำนวนมากโดยเฉพาะเพลี้ยแป้ง ชนิด Planococcus minor (Maskell) และ Planococcus lilacinus (Copckerell) ติดไปกับผลผลิต ซึ่งสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันโรคของประเทศจีน หรือ AQSI แจ้งขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการตรวจพบศัตรูพืชในทุเรียนของไทยก่อนส่งออกไปประเทศจีน

           จากการสำรวจศัตรูพืชที่สำคัญในทุเรียนพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด พบว่าทุเรียนอยู่ในระยะพัฒนาผล-เริ่มแก่ใกล้เก็บเกี่ยว มักพบการระบาดของเพลี้ยแป้งทำความเสียหายแก่ทุเรียน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน และผลแก่ โดยมีมดดำเป็นตัวช่วยคาบพาเพลี้ยไปตามส่วนต่างๆ ของพืช ส่วนที่ถูกทำลายจะแคระแกร็น นอกจากนี้เพลี้ยแป้งจะขับน้ำหวาน (honey dew) ออกมาเป็นเหตุให้ราดำเข้าทำลายซ้ำ ถ้าพบเพลี้ยแป้งเข้าทำลายทุเรียนในระยะผลอ่อนจะทำให้ผลแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต แต่ถ้าเป็นทุเรียนผลใหญ่ถึงแม้จะไม่ทำให้เนื้อของทุเรียนเสียหาย แต่ก็จะทำให้ผลทุเรียนมีรอยตำหนิ ราคาต่ำและเป็นที่รังเกียจของผู้บริโภค

            ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แนะนำให้เกษตรกรให้ความสำคัญในการควบคุมและป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง โดยหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยแป้งปริมาณน้อยบนผลทุเรียนอาจใช้แปรงปัดหรือใช้น้ำพ่นให้เพลี้ยแป้งหลุด หรือการใช้น้ำผสมไวท์ออยส์ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น โดยทั่วไปเพลี้ยแป้งจะแพร่ระบาดโดยมีมดพาไป แนะนำให้เกษตรกรใช้ผ้าชุบสารคาร์บาริล อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ตามกิ่งสามารถป้องกันไม่ให้มดคาบเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่างๆของทุเรียน รวมทั้งปล่อยด้วงเต่าหรือแมลงช้างปีกใส ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติจะช่วยกินเพลี้ยแป้งและลดการทำลายของเพลี้ยแป้งได้มากพอควร และในส่วนของโรงคัดบรรจุจะต้องเข็มงวดเรื่องของการทำความสะอาดผลทุเรียน

          โดยการใช้ลมเป่าเพื่อให้เพลี้ยแป้งที่ติดไปกับผลผลิตหลุดออกจนหมดก่อนการบรรจุลงกล่องเพื่อการส่งออก พร้อมกันนี้ ยังได้จัดงานวันรณรงค์การผลิตทุเรียนคุณภาพและการจัดการศัตรูพืชเพื่อการส่งออก ในแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และแหล่งผลิตอื่นๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้เกษตรกร ผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพและการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อรักษาคุณภาพทุเรียนส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ