ข่าว

"แบน"สารเคมีกำจัดวัชพืช เสียงสะท้อนจากเกษตรกร...ตัวจริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลกระทบ"แบน"สารเคมีกำจัดวัชพืช เสียงสะท้อนจากเกษตรกร...ตัวจริง

 

เข้าทำนอง คนร้องไม่ได้ใช้ คนใช้(เกษตรกรส่วนใหญ่)กลับไม่มีปากเสียง สำหรับมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ 3-1/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ไฟเขียวให้ใช้สารเคมีอันตรายอย่าง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และการจำกัดการใช้ไกลโฟเสทต่อไป  เพียงแต่ให้จำกัดการใช้แทน โดยหลังจากนี้จะให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ดูแลการนำเข้าและการใช้ กลับไปจัดทำหลักเกณฑ์การจำกัดการใช้ภายใน 2 เดือน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก่อนจะประกาศบังคับใช้ต่อไป 

"แบน"สารเคมีกำจัดวัชพืช เสียงสะท้อนจากเกษตรกร...ตัวจริง

 

ภายหลังการประชุม สมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ออกมาชี้แจงผลการพิจารณาในวันนั้น โดยคณะกรรมการได้พิจารณาจากข้อมูลที่คณะอนุกรรมการเสนอเข้ามา ทั้งข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งจากฝ่ายผู้สนับสนุนและคัดค้านอย่างรอบคอบแล้ว จึงเห็นว่ายังมีเหตุผลไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้  

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมประมาณ 100 คน นำโดยเครือข่ายต้านพาราควอต ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยมี กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับหนังสือแทน โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อได้แก่ 1.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติและพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 

2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาหาวิธีการทดแทนตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค 3.ในช่วงก่อนการยกเลิกหากพบมีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรเสนอให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะรับเป็นเจ้าภาพในการเสนอข้อเท็จจริงใหม่ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอีกครั้ง เพราะด้วยวิธีปฏิบัติแล้วไม่สามารถยกเลิกได้ในทันที พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลต้องการให้ทุกชีวิตปลอดภัย โดยเห็นสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  

และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันอีกครั้งภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะให้เวลาในการเปลี่ยนแปลงภายในปี 2562 จะต้องได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ต้องกลับไปดูตรงต้นทางด้วยว่าเกษตรกรว่าอย่างไร ต้องการอะไร มันอยู่ที่ทุกคนเคารพกติกา ควบคุมได้ ป้องกันตนเองได้ ไม่ใช้มากเกินไป ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ในหลายประเทศ   

ในมุมมองของ ระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย เห็นด้วยว่าสมควรแบนพาราควอต เนื่องจากพื้นที่นาข้าวไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีอันตรายชนิดนี้ จะใช้ก็เพียงตามคันนาเท่านั้น เพราะวัชพืชขึ้นปกคลุมกำจัดยาก แต่หากมีสารตัวอื่นทดแทนที่ไม่เป็นอันตรายก็จะดี แต่ต้องราคาไม่แพงไปกว่าพาราควอต หรือหากใช้ชีวภัณฑ์จากธรรมชาติก็จะดีมาก เพราะการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกทุกอย่างจะต้องปลอดสารเคมี

“ผมไม่ได้ปฏิเสธสารเคมี ไม่ได้ปฏิเสธยาฆ่าหญ้า แต่หากจะให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกได้ ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในคุณภาพอาหารไทย วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตอาหารจะต้องปลอดสารเคมี เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นไปได้ยาก สรุปก็คือเห็นด้วยหากแบนสารพาราควอตหรืออาจจำกัดการใช้เฉพาะกับพืชบางตัว” นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทยให้มุมมอง

แม้ระวีเห็นด้วยในการห้ามใช้สารพาราควอต เนื่องจากพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีชนิดนี้ในการทำลายวัชพืช ทว่ายังมีพืชบางตัวมีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ยางพารา และไม้ผล บางครั้งยังมีความจำเป็น เนื่องจากการใช้แรงงานคนอาจมีปัญหาในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานด้วย    

"แบน"สารเคมีกำจัดวัชพืช เสียงสะท้อนจากเกษตรกร...ตัวจริง

ขณะที่ อุทัย สอนหลักทรัพย์  ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.)ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าชาวสวนยางพารายังจำเป็นต้องใช้สารพาราควอตในการกำจัดวัชพืช เหตุเพราะว่ามีประสิทธิภาพสูง ราคาถูกและยังไม่มีสารตัวใดมาทดแทนได้ ที่มีอยู่ในท้องตลาดก็มีราคาแพงกว่าพาราควอต 4-5 เท่า แต่ประสิทธิภาพสู้พาราควอตไม่ได้ แถมยังต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่าพาราควอตด้วย ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น

“เห็นด้วยถ้ารัฐบาลให้มีการควบคุมหรือจำกัดการใช้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแบนหรือยกเลิกไปเลย เพราะเกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้ ถ้าไม่มีพาราควอตจะมีสารอะไรมาทดแทนที่ถูกและดีเหมือนพาราควอต  เพราะมันจะยิ่งเพิ่มต้นทุนให้แก่เกษตรกร พวกคุณที่ไปประท้วงเย้วๆ เคยลงไปดูไปคลุกคลีชาวสวนยางบ้างหรือไม่ว่าเขาคิดอย่างไร  ใช้สมองคิดกันหน่อย ยิ่งตอนนี้น้ำมันแพงแต่ทำไมยางยังถูก เห็นบอกว่าถ้าน้ำมันแพง ยางจะแพงตาม นักวิชาการออกมาชี้แจงหน่อยได้ไหม” อุทัยกล่าวอย่างมีอารมณ์

อุทัยยอมรับว่าหากมีการแบน เกษตรกรชาวสวนยางมีปัญหาแน่นอนในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการกำจัดวัชพืช โดยเฉพาะยางปลูกใหม่ ในขณะที่แรงงานก็มีปัญหา ทั้งค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น อย่าง จ.ระยอง ตอนนี้ค่าแรงอยู่ที่ 330 บาทต่อวัน และยังหาแรงงานยากด้วย จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบอย่าตัดสินใจท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ทวีศักดิ์ สุทิน อดีตนายกสมาคมการค้าและผู้ผลิตปุ๋ยไทย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากรัฐบาลมีมติให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต โดยไม่มีสารทดแทนชนิดอื่นที่ปลอดภัยมาใช้เกษตรกรใช้ เนื่องจากมองว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชอย่างพาราควอตยังมีความจำเป็นต่อเกษตรกร แม้ว่าจะมีอันตรายแต่หากรู้จักวิธีการใช้ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งสารตัวนี้ไม่ใช่เพิ่งมีมาใช้กัน แต่ใช้กันมานานเป็นสิบๆ ปีแล้ว ทำไมเพิ่งมาเรียกร้องกันตอนนี้

“ยาฆ่าหญ้ายังมีความจำเป็นต่อเกษตรกร ถามว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพไหม ก็อันตรายนะหากใช้ไม่ถูกวิธี แล้วมีสารอะไรที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาทดแทนหรือไม่ ทางออกถ้ายกเลิกจะต้องมีสารมาทดแทน ถ้าไม่มีคงวุ่นวายแน่นอน หรือไม่ก็ให้จำกัดการใช้” ทวีศักดิ์ย้ำทิ้งท้าย

       

 

                                                               

 ยก“พาราควอต”ยาสามัญประจำฟาร์ม  

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่น ปี 2557 สาขาไร่นาสวนผสม ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ว่าหากรัฐยกเลิกการใช้พาราควอตจะส่งผลกระทบภาคเกษตรทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ทำระบบเกษตรกรปลอดภัย (GAP) ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมี ดังนั้น การยกเลิกเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิตและปริมาณผลผลิตที่ได้รับ

"แบน"สารเคมีกำจัดวัชพืช เสียงสะท้อนจากเกษตรกร...ตัวจริง

“สมาพันธ์ยืนยันเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรของไทย ด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice)”

สุกรรณ์ยอมรับว่าเขาเห็นด้วยที่จะให้มีการควบคุมหรือจำกัดการใช้ โดยใช้เฉพาะพืชทีี่มีความจำเป็นเท่านั้น แต่ไม่เห็นด้วยให้มีการยกเลิกโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นสารที่เกษตรกรใช้มานาน รู้ดีในประสิทธิภาพเทียบไม่ได้กับสารเคมีตัวอื่น และมีราคาถูก ทำให้มีผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง ที่สำคัญก็จะมีพาราควอตปลอมระบาดมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรใน จ.ฉะเชิงเทรา ว่าเริ่มมีพาราควอตปลอมระบาดในพื้นที่แล้ว

ส่วนการควบคุมการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น เขาเสนอว่าผู้จำหน่ายจะต้องมีใบอนุญาตโดยเฉพาะสารเคมี 3 ตัวนี้ ร้านค้าทั่วไปไม่สามารถจำหน่ายได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ผู้ซื้อหรือผู้ใช้จะต้องมีใบรับรองการอบรมหลักสูตรวิธีการใช้สารเคมีเหล่านี้จากทางราชการ จึงสามารถซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้การได้

“อยากให้พาราควอตเป็นยาสามัญประจำฟาร์ม เพราะมันเป็นพิษต่อคนน้อยมาก ผมอยู่กับมันมากว่า 40 ปีแล้ว ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ก็เห็นด้วยให้มีการควบคุมการขายและจำกัดการใช้ ร้านค้าทั่วไปจะขายไม่ได้จะต้องขายอยู่ในร้านคิวช็อปเท่านั้น และที่ตั้งร้านก็จะต้องอยู่ในศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้ง 882 ศูนย์ทั่วประเทศ มีการดูแลอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสารควบคุม ส่วนบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องส่งเจ้าหน้าที่มาประจำร้านและเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้อย่างถูกต้อง มีการจัดอบรมวิธีการใช้ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย หากบริษัทใดไม่ทำตามระเบียบก็ให้ยกเลิกสัญญาได้ทันที” เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวย้ำ

  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ