ข่าว

 ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม“ซีแอลเอ็มวี”ตอน8

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ [email protected]

 

ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

    เส้นทางจากกำปงจามช่วงก่อนเข้าสู่พนมเปญก็ยังคงเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เราได้มีโอกาสกาสแวะพักรถในบริเวณจุดพักที่เป็นตลาดมีลักษณะคล้ายกับตลาดของฝากเล็ก ๆ เลยได้มีโอกาสเดินดูสินค้าเกษตรที่ขายกัน ซึ่งก็มีพวกมะม่วง สับปะรด ส้มโอ แต่ที่จะดูน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือลูกตาลโตนดที่ปอกขายกันสด ๆ ทำให้ผมนึกถึงจังหวัดเพชรบุรีบ้านเรา เดินถามไปถามมาได้ความว่าจริง ๆ แล้วตาลโตนดเป็นพืชอีกชนิดที่ปลูกกันมากในกัมพูชา โดยเฉพาะทางเสียมเรียบ ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยวนครวัดก็คงมีโอกาสได้ผ่านหมู่บ้านที่ปลูกตาลโตนดและทำน้ำตาลขายกัน 

   ถ้าดูจากการขายตาลโตนดสด ๆ ที่ปอกกินกันก็จะดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อแปรรูปอาหารไปเป็นน้ำตาลก้อนและน้ำตาลผงแล้วก็สามารถส่งออกไปขายทางยุโรปได้อีก ซึ่งมีความต้องการของตลาดค่อนข้างสูงเพื่อทำเป็นน้ำตาลที่ใช้ในการชงกาแฟ ดังนั้นต้นตาลโตนดในกัมพูชา จึงเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกกันมาก และสิ่งที่แปลกที่สังเกตเห็นบริเวณข้างทางที่เป็นนาข้าวจะมีเป็นบ่อที่ทำจากท่อซีเมนต์กลมและมีน้ำอยู่ข้างในวางเป็นแนวยาวเป็นระยะ ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ทราบว่าเป็นบ่อดักแมลงสารพัดชนิดที่นำมาทำอาหารขายกันในท้องตลาด ในกัมพูชานั้นแมลงที่กินได้ยังมีอยู่มากในธรรมชาติเป็นอาหารยอดนิยมในกัมพูชา 

    จากนั้นเราได้เดินทางไปพูดคุยกับ ดร.บอราริน บุนทอง นักวิชาการด้านเกษตรและอาหารของ Royal University of Agriculture หรือ RUA ซึ่งได้เล่าเรื่องของการเกษตรในกัมพูชาว่ายังมีพื้นที่ส่วนใหญ่มีความเหมาะสมทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ แต่จะมีการเพาะปลูกแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค แม่น้ำโขงและโตนเลสาบเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญเพื่อการเกษตรและทำประมง การมีพื้นที่กว้างใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นที่มุ่งหวังของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในพืชหลายชนิด แต่ในทางตรงกันข้ามกัมพูชาเองกลับมีพื้นที่ในการผลิตพืชผักเพื่อเป็นอาหารในประเทศค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่พึ่งพาการนำเข้าจากไทยและเวียดนาม ซึ่งพืชผักจากไทยจะมีราคาสูงกว่าที่มาจากเวียดนาม ดังนั้นอาหารประเภทพืชผักในกัมพูชาต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนบ้านเป็นหลัก 

   ซึ่งทางดร.บอราริน ได้พาเราเข้าพื้นที่ไปดูพื้นที่การผลิตผักปลอดภัยในบริเวณรอบ ๆ พนมเปญและเขตติดต่อ ซึ่งทาง RUA มีโครงการสนับสนุนการผลิต แต่มีพื้นที่ปลูกไม่มากนัก โดยใช้น้ำจากฝนและแม่น้ำในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตในระดับครัวเรือนและจะมีตลาดรองรับทั้งหมดจากพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อถึงที่ นอกจากนี้เรายังมีโอกาสไปดูร้านขายสินค้าเกษตรปลอดภัยที่มีการขายแบบเป็นสมาชิกประจำ โดยมีการจัดอาหารให้สมาชิกในราคาสมเหตุสมผล โดยมีกลุ่มผู้บริโภคในพนมเปญที่รักสุขภาพและมีรายได้พอที่จับจ่ายได้เป็นสมาชิกมากกันพอสมควร 

   ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ค่อยมาว่ากันต่อคราวหน้าครับ

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ