ข่าว

สั่งเลิกเลี้ยงกุ้งเค็มพื้นที่น้ำจืด หวั่นเสียหาย1.6 หมื่นล.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บอร์ดประมงสั่งเลิกเลี้ยงกุ้งเค็มพื้นที่น้ำจืด หวั่นเสียหาย1.6 หมื่นล้าน

             บอร์ดนโยบายประมงแห่งชาติ เห็นชอบยกเลิกการเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด หลังเกษตรกรร้องน้ำหลุดลงพื้นที่เกษตรอื่น เสี่ยงคู่ค้ายกข้ออ้างกีดกันสินค้า ด้านผู้เลี้ยงกุ้งลั่นเสียหายตลอดสายผลิต 1.6 หมื่นล้าน
             แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการระงับใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด เนื่องจากเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพอื่นร้องเรียนต่อกรมประมงและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งระบายน้ำที่มีความเข้มทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย  กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

              ทั้งนี้ กรมประมงได้แจ้งให้ผู้เลี้ยงกุ้งที่ปล่อยน้ำออกนอกพื้นที่ฟาร์มดำเนินการปรับปรุงระบบการจัดการน้ำทิ้งซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรับทราบและดำเนินการปรับปรุงตามที่ได้รับแจ้งเตือน แต่ยังมีบางรายรวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลชนิดอื่นยังมีบางที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งปัญหานี้หากไม่ได้รับการแก้ไขมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตประเทศคู่ค้าจะนำมาใช้เป็นข้อกีดกันทางด้านการค้า กรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

                 นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ประกาศยกเลิกการเพาะเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำจืดไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยให้ผู้ว่าราชการ 60 จังหวัดที่เพาะเลี้ยงออกคำสั่ง แต่ไม่ดำเนินการออกประกาศ 10 จังหวัด ในขณะที่ผลสำรวจของกรมประมงเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ยังมีเกษตรกรผู้ผลิตสัตว์น้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด อยู่ทั้งสิ้น 5,794 ฟาร์มคิดเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยง 82,675.51 ไร่

               ดังนั้นเพื่อให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นไปตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การประมง พ.ศ.2558 กรมประมงจึงทำแผนแม่บทในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ ขึ้นซึ่งได้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ระบุว่ากำหนดให้บังคับใช้พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ฝ่ายเลขานุการฯเห็นควรเปลี่ยนแปลงคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6 / 2553 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 7 / 2559

               โดยให้กำหนดพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เป็นพื้นที่น้ำจืดภายใต้มาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คือ เป็นพื้นที่ที่มีชั้นตะกอนทะเลลึกกว่า 1.5 เมตร (ม.) เนื่องจากชั้นดินที่มีตะกอนทะเลลึกกว่า 1.5 เมตร ดินด้านบนจะเป็นดินที่มีสภาพทางการเกษตรสูง เพราะอิทธิพลจากชั้นตะกอนทะเลจะอยู่พ้นความลึกของรากพืช จึงควรอนุรักษ์พื้นที่เหล่านี้ไว้สำหรับใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม และเป็นพื้นที่ที่ห้ามเลี้ยงสัตว์น้ำตามกฎหมายอื่นกำหนด

                 อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทยระบุว่าจะส่งผลกระทบตลอดสายการผลิต ฟาร์มเพาะลูกกุ้ง ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ภาคการส่งออก อุตสาหกรรมห้องเย็นรวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น การค้าปัจจัยการผลิตและแรงงานจากประมง คาดว่ามีความเสียหายทางเศรษฐกิจ กว่า 16,000 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วยภาคการผลิตจากพื้นที่การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในพื้นที่น้ำจืดประมาณ 82,675.50 ไร่ผลผลิตเฉลี่ย 735 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี คิดเป็นผลผลิตรวมประมาณ 60,765 ตันหรือ 18.99% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศปริมาณ 320,000 ตันต่อปี มูลค่าประมาณ 10,026 ล้านบาท
              การยกเลิกเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำจืดยังกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ เพราะผลผลิตกุ้งขาวที่เลี้ยงในพื้นที่น้ำจืดส่วนหนึ่งจำหน่ายภายในประเทศจึงอาจทำให้ผู้บริโภคในประเทศต้องซื้อกุ้งขาวในราคาที่แพงขึ้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ