ข่าว

 “กล้วยไม้” กับความรักไร้พรมแดน ตอน 8

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ศ.ระพี สาคริก

 

 

ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

วันนั้นฉันอยากจะขอพูดถึงรายการสำคัญเพียงอย่างเดียวก่อน เพราะถ้าขืนนำมาเจียระไนกันต่อไปอีก หน้ากระดาษเหล่านี้ก็คงไม่พอจะเขียน

รายการในวันนั้นชีแฮนขับรถพาฉันไปเยี่ยมบ้านกล้วยไม้ของบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งสามีเป็นหมอแต่ภรรยาเป็นบรรณาธิการวารสารกล้วยไม้ของ AOS คนหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากเธอชื่อ "โรเบิรต์ เลยี (Robert Leyhey)" วันนั้นเธอพาเราเข้าไปนั่งคุยที่โต๊ะหมู่ ซึ่งตั้งอยู่ริมสระว่ายน้ำส่วนตัว พร้อมทั้งนำเอาอาหารว่างมาเลี้ยง

ที่นั่นฉันได้พบบรรยากาศของการจัดสวนกล้วยไม้หมู่ ซึ่งวางอยู่ตามมุมสระที่ครอบคลุมด้วยตาข่าย สิ่งสำคัญที่สร้างแรงประทับใจให้แก่ฉันก็คือ บรรดากล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ ซึ่งออกดอกสวยงามอยู่ภายในกลุ่มเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้พันธุ์ธรรมชาติไปจากเมืองไทย แม้แต่ในขณะนี้เวลาจะผ่านพ้นมากว่าสี่สิบปีแล้ว แต่ภาพเหล่านั้นไม่ได้หายไปจากหัวใจฉันเลย

หากเปลี่ยนมาเป็นความรู้และความคิดที่ช่วยเปิดตลาดกล้วยไม้เขตร้อนของไทยในมลรัฐฟลอริดา จนกระทั่งคนไทยในปัจจุบันได้ขายกล้วยไม้ไปยังท้องถิ่นนี้ แม้จะมีหลายคนที่กำลังค้าขายกันอยู่ในปัจจุบันจะไม่ทราบว่าเขาได้ตลาดกล้วยไม้ในมลรัฐฟลอริดามาจากใคร เมื่อไหร่

อีกกรณีหนึ่งหลังจากการเดินทางเยี่ยมมลรัฐฟลอริดาดังได้กล่าวมาแล้วอย่างย่อๆ หลังจากนั้นฉันจะต้องเดินทางผ่านนครนิวยอร์ก ตามที่ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่าตัวเองเป็นคนสนใจคบกับคนที่มีความรู้และคนที่สังคมยอมรับจนเป็นนิสัย ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพื่อหวังจะเรียนรู้ข้อมูลดีๆ จากเขา

ฉันนึกถึงศาสตราจารย์คาล วิธเนอ ผู้ซึ่งเป็นคนรวบรวมข้อเขียนทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์จากผลงานวิจัยเรื่องกล้วยไม้ของนักวิจัยหลายคน โดยตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า “กล้วยไม้กับการสำรวจข้อมูลด้านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์” และเป็นผู้ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานในส่วนการจัดประชุมทางวิชาการของการประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 5 ที่เมืองลองบีช มลรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย

ศาสตราจารย์วิธเนอ ในขณะนั้นเป็นอาจารย์อยู่ในสถาบันการศึกษาที่ชื่อว่า “บรูคลิน คอลเลจ” ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลองไอซ์แลนด์ มหานครนิวยอร์ก

ในขณะที่ฉันเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาหลังจากทำหน้าที่เผยแพร่กล้วยไม้ไทยตลอดสองฝั่งสหรัฐ ประมาณ 30 กว่ามลรัฐ จนกระทั่งฝรั่งยังออกปากว่าพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะทำได้เช่นนี้

วันที่ฉันเดินทางถึงนครนิวยอร์ก ศาสตราจารย์วิธเนอ มารับฉันที่สนามบินด้วยตัวเอง แล้วพาฉันไปค้างที่บ้านรวม 5 วัน ฉันยังมีโอกาสไปทัศนศึกษากับสมาคมคนรักต้นไม้ที่มหานครนิวยอร์ก วันนั้นเขาพาไปเที่ยวชมสวนซึ่งทำบอนไซหรือที่เรียกกันว่า ต้นไม้แคระของญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งมีบ้านเรือนอาศัยอยู่ที่บริเวณ “ลองไอซ์แลนด์” มาเป็นเวลาช้านานแล้ว

เราได้ไปชมการจัดแสดงถึงวิธีทำต้นไม้แคระ โดยใช้ต้นซึ่งปลูกอยู่ในกระถาง ถอดออกจากกระถางแล้วนำมาวางบนแป้นหมุน หลังจากนั้นก็ใช้ศิลปะในการแต่งรากด้วยกรรไกรจนกระทั่งเห็นว่าการตกแต่งรากจะมีผลทำให้ต้นไม้ไม่อาจโตยิ่งไปกว่านั้น แล้วก็นำเอาแท่นพื้นฐานของรากปรับใส่ลงไปในภาชนะ ซึ่งงานศิลปะถ้าจะนำมาบรรยายให้เป็นคำพูดหรือการเขียนย่อมเป็นไปได้ยาก นอกจากการนำมาปฏิบัติบนพื้นฐานความรักให้ทุกคนเห็นได้เอง

ซึ่งวันนั้นฉันอยู่ร่วมกิจกรรมกับสมาชิกของคณะเดินทางจนกระทั่งถึงค่ำจึงกลับบ้านพัก ถ้าจะให้พูดสรุปถึงผลการดูงานในวันนั้นก็คงกล่าวได้ว่าได้รับทั้งความรู้ร่วมกับศิลปะ ซึ่งจะต้องนำเอาวิญญาณความรักของตัวเองออกมานำปฏิบัติเสมอๆ

                                                            .......................................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ