ข่าว

แนะใช้ Agri-Map Online ปรับทิศทางการผลิตให้ตรงใจตลาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สศท.2 แนะเกษตรกร ใช้ Agri-Map Online ปรับทิศทางการผลิต ให้ตรงใจตลาด

  

นายคมสัน  จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรจังหวัดพิษณุโลก  โดยการใช้แผนที่เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map)  โดยในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้ศึกษาสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์อุปทาน และมีต้นทุนผลตอบแทนที่คุ้มค่าทดแทนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม

จากการศึกษาในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พบว่า มีสินค้าที่น่าสนใจ 4 ชนิด ได้แก่ 1) อ้อยโรงงาน เนื่องจากมีโรงงานในพื้นที่ภาคเหนือรองรับผลผลิตมากถึง 9 แห่ง มีหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างเป็นระบบ 2) มะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก มีตลาดในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย และตลาดโซนยุโรป ยังมีความต้องการต่อเนื่อง และมีกลุ่มการผลิตต้นแบบศักยภาพสูง ที่อำเภอเนินมะปราง และอำเภอวังทอง 3) กล้วยน้ำว้า มีโรงงานแปรรูปและกลุ่มที่เข้มแข็ง เป็นสินค้าสร้างชื่อของจังหวัด และ 4) พืชผักปลอดภัย มีกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ ภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ เป็นแกนนำหลัก

สำหรับแนวทางพัฒนาพื้นที่ไม่เหมาะสมจังหวัดพิษณุโลก  สศท.2 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานในการบริหารจัดการไว้ 3 ขั้นตอน คือ 1) เตรียมการศึกษาวิเคราะห์ด้านกายภาพ และด้านเศรษฐกิจการเกษตร โดยคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดร่วมบูรณาการข้อมูลและวิเคราะห์ประมวลผลสินค้าที่มีศักยภาพ จำแนกพื้นที่ตามการบริหารจัดการสินค้าเกษตรกรรมเป็นรายอำเภอ รายตำบล และกำหนดกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 2) มีการวางแผนบริหารจัดการเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตด้วยข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัย และ 3) พัฒนาระบบการตลาดสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมบูรณาการ และนำไปวางแผนปฏิบัติตามขอบเขตอำนาจหน้าที่

นอกจากนี้ กรณีพื้นที่ไม่เหมาะสมที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เนื่องจากเกษตรกรปลูกข้าวเพื่อการบริโภค และเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย ดังนั้น ให้มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการผลิต     ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวที่มีความเหมาะสมสูง (S1) และปานกลาง (S2) ควรให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานสินค้าตามแนวทาง และรูปแบบของนาแปลงใหญ่ ซึ่งภาครัฐมีการสนับสนุนให้ดำเนินงานโครงการอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ โดยการใช้แผนที่เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Zoning by Agri-Map หากเกษตรกรท่านใดต้องการทราบข้อมูลการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มเติมสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ Agri-Map Online หรือสอบถามจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในได้ในพื้นที่จังหวัด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ