ข่าว

นักวิชาการเตือนหน้าร้อนปีนี้ เสี่ยงเลี้ยงปลาในกระชัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สันติภาพ รามสูต

             นักวิชาการประมงเตือนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังในช่วงหน้าร้อน เสี่ยงปลาตายยกกระชัง เหตุจากขาดออกซิเจนในน้ำ แนะควรลดปริมาณอาหารปลาให้น้อยลง รวมทั้งระดับน้ำในกระชังจะต้องมีการไหลหมุนเวียน จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องปลาตายได้

            ดร.อัตรา ไชยมงคล นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 6 สงขลา เตือนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังช่วงหน้าร้อน ว่า ในช่วงหน้าร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ปลามีการเจริญเติบโตดี เพราะฉะนั้นการควบคุมในเรื่องอาหารเป็นสิ่งสำคัญ และเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาควรระวังอย่างยิ่งในเรื่องของปลาขาดออกซิเจน ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงกรกฎาคมของทุกปี

           ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนของภาคใต้ พบว่ามีปัญหาในเรื่องปลาตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากระดับน้ำ การหมุนเวียนของน้ำมันค่อนข้างจะนิ่ง น้ำขึ้น-น้ำลงน้อย เพราะฉะนั้นปลากะพงขาวที่เราเลี้ยงในกระชัง ถ้ามีจำนวนมากมันจะมีปัญหาในเรื่องออกซิเจนไม่พอในช่วงหน้าร้อน จึงจำเป็นที่จะต้องลดปริมาณอาหารลง

           ดร.อัตรา กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิในน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ขบวนการเผาผลาญอาหารของสัตว์น้ำมากขึ้น ออกซิเจนในน้ำก็ถูกใช้มากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรระมัดระวังก็คือการให้อาหาร ความหนาแน่นของปลาและระดับน้ำในกระชัง เนื่องจากกระชังเราไม่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ ต้องระมัดระวังในเรื่องของการไหลผ่านของน้ำ ต้องคอยตรวจสอบกระชังว่ามีสาหร่ายเกาะหนาแน่นมากน้อยแค่ไหน จะต้องทำให้น้ำไหลผ่านกระชังมากที่สุด

            และระมัดระวังในเรื่องของการควบคุมปริมาณอาหารไม่ให้มากเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เศษอาหารเหลือ จะได้ไม่เกิดการย่อยสลายและเป็นพิษ ส่งผลต่อเนื่องด้านลบต่อสุขภาพของปลา รวมทั้งระมัดระวังและเฝ้าสังเกตอาการของปลา บางครั้งช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิสูงเกินไป ทำให้ออกซิเจนในน้ำต่ำลง เฝ้าดูอาการ ถ้ามีปัญหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ติดต่อประมงจังหวัด ประมงอำเภอหรือหน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดได้ ผมคิดว่าคนของกรมประมงทุกท่านจะช่วยดูแลเกษตรกรทุกคนอยู่แล้ว

            ในส่วนของเรื่องโรคในหน้าร้อนของสัตว์น้ำ ก็เกิดจากความเครียดเนื่องจากอ๊อกซิเจนในน้ำน้อยหรือเกิดจากของเสียที่ย่อยสลายมากขึ้น ก็ต้องระมัดระวังดูอาการให้ดี ถ้ามีปัญหาอาจจะต้องส่งตัวอย่างให้หน่วยงานของกรมประมงที่เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์น้ำตรวจสอบได้ทันที

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ