ข่าว

ดูวิธีก่อสร้างอ่างฯใต้ภูเขา เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้เกาะพะงัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

ไม่ใช่เรื่องง่ายการหาน้ำดื่ม น้ำใช้ ยิ่งน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ที่อยู่ห่างจากฝั่งหลายสิบไมล์ทะเล นับวันหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร และน้ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากได้มาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว ส่วนหนึ่งยังใช้วิธีนำน้ำเค็มมาผลิตเป็นน้ำจืด ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวและผู้คนผู้มาเยือนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี 

ดูวิธีก่อสร้างอ่างฯใต้ภูเขา เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้เกาะพะงัน น้ำตกธารประเวศ

ปัจจุบันการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเกาะพะงันผลิตได้เพียง 1.75 ล้านลบ.ม./ปี ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาขาดน้ำอย่างรุนแรงในช่วงหน้าแล้ง และคาดว่าในปี 20 ปีข้างหน้าเกาะพะงันมีความต้องการใช้น้ำจืดสูงถึง 6 ล้านลบ.ม./ปี

กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้สนองนโยบายรัฐบาลพยายามหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อมารองรับให้ทันกับความเติบโตของเมืองที่มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นทุกปี โดยมีการศึกษาความเป็นไปได้ถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำใต้ดินและบนดินขนาดเล็กเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค บริโภคของคนในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้มีการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วเตรียมการออกแบบและก่อสร้างต่อไป

ดูวิธีก่อสร้างอ่างฯใต้ภูเขา เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้เกาะพะงัน แบบจำลองอ่างเก็บน้ำใต้ภูเขา

“ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ ตามคณะผู้บริหารกรมชลประทาน นำโดย "ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์" รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ พาไปดูแนวการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งบนเกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ตามโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้เกาะพะงัน โดยจุดแรกเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำธารประเวศ มีหัวงานก่อสร้างอยู่บริเวณบ้านทองนายปาน หมู่ 5 ต.บ้านใต้ ห่างจากตัวอำเภอเกาะพะงันประมาณ 20 กิโลเมตรเป็นอ่างที่กั้นลำคลองธารประเวศเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ที่ผ่านมาเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะไหลลงสู่ทะเลจนหมด ในขณะฤดูแล้งน้ำในลำธารจะแห้งขอดส่งผลให้พื้นที่ภาคการเกษตร อุปโภค บริโภคของคนในบริเวณใกล้เคียงที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

ดร.สมเกียรติเผยข้อมูลระหว่างนำคณะลงพื้นที่ดูความคืบหน้าโครงการ โดยระบุว่ากรมชลประทานได้พิจารณาวางโครงการและลงพื้นที่ศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบในทุกมิติ มีระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 นี้ สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำธารประเวศนั้น มีลักษณะเป็นเขื่อนดินสร้างปิดกั้นคลองธารประเวศ มีความยาว 245.50 เมตร สูง 30 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 1.13 ล้านลบ.ม. มีอาคารประกอบ ได้แก่ อาคารระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของตัวเขื่อน ออกแบบให้ระบายน้ำด้านข้าง โดยมีความยาวของฝาย 20 เมตร สามารถระบายน้ำสูงสุด 70.50 ลบ.ม./วินาที และอาคารระบายน้ำล้นลงลำน้ำเดิม ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของเขื่อน ระบายน้ำผ่านท่อได้ 2.36 ลบ.ม./วินาที 

"โครงการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำให้กับพื้นที่ ต.บ้านใต้ อ.เกาะพะงัน โดยมีปริมาณน้ำที่เก็บกักได้แบ่งเป็นความต้องการน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค 73,780 ลบ.ม. และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 556.770 ลบ.ม. และยังมีการต่อยอดในการจัดภูมิทัศน์เพื่อให้อ่างเก็บน้ำธารประเวศเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเกาะพะงัน สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี” รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าว พร้อมชี้ไปยังจุดแนวก่อสร้างอ่าง

บรรหาร ทองมาก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านทองนายปาน ต.บ้านใต้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ ต.บ้านใต้ ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำน้ำดื่ม น้ำใช้ รวมทั้งน้ำเพื่อใช้ในภาคเกษตรเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำรถบรรทุกน้ำมาให้บริการ ขณะที่พืชผลทางการเกษตรก็ต้องปล่อยไปตามยถากรรม เพราะไม่มีน้ำ จึงเห็นด้วยอย่างมากหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำในบริเวณดังกล่าว เพราะไม่เพียงคนบ้านใต้เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่เป็นอานิสงส์ต่อคนทั้งเกาะ

หลังใช้เวลาเดินสำรวจพื้นที่ก่อสร้างอ่างธารประเวศพอสมควร จากนั้นก็แวะไปไหว้พระบรมรูปเสด็จพ่อ ร.5 และศาลาที่ประทับ ณ ธารเสด็จ ผู้ใหญ่บรรหาบอกว่า รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสต้นหรือเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มาที่นี่ถึง 14 ครั้ง ชาวบ้านที่นี่จึงร่วมกันหล่อพระบรมรูปพระองค์ท่านเพื่อสักการบูชา จากนั้นเดินทางต่อไปยังบ้านโฉลกหลำ บ้านเก่า ต.เกาะพะงัน ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใต้ดิน โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น   ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นกำแพงทึบ อยู่ใต้ผิวดินลึกประมาณ 36 เมตร กำแพงยาวประมาณ 1,161 เมตร โดยกำแพงจะทำหน้าที่ในการเก็บกักน้ำที่มีอยู่ใต้ดินไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลได้ถึงปีละ 1.5-1.8 ล้านลบ.ม. และที่สำคัญจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

“อ่างเก็บน้ำใต้ดินแบบนี้ ที่ญี่ปุ่นมีประมาณ 15 แห่ง ส่วนประเทศไทย เราเคยศึกษาไว้ที่ภูเก็ตจะสร้างแบบเดียวกันนี้ แต่มีปัญหาชาวบ้านเขาไม่เอาด้วย โครงการจึงล้มเลิกไป ส่วนที่พะงันไม่มีปัญหา ชาวบ้านเอาด้วย 100% เพราะไม่กระทบพื้นที่ข้างบน ชาวบ้านก็ใช้พื้นที่ได้ตามปกติ แต่อ่างลักษณะนี้ก็ใช่ว่าจะสร้างได้ง่าย ต้องมีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย ระหว่างนำคณะเยี่ยมชมจุดดำเนินการก่อสร้างโครงการ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนการอุปโภค บริโภคและภาคการเกษตรบนพื้นที่เกาะพะงัน และทั้งสองโครงการถือเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อสร้างความมั่นคงภาคการผลิตให้แก่เกาะพะงันตามยุทธศาสตร์น้ำของรัฐบาล 

....................................................................       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ