ข่าว

 เกษตรกรระวัง!โรคไหม้ข้าวลงนา!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

          นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงนี้หลายพื้นที่อากาศช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้าเริ่มหนาวเย็น หมอกลงจัด บางพื้นที่สภาพอากาศแปรปรวน เหมาะต่อการระบาดของโรคไหม้ข้าวโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ข้าวอยู่ในระยะใกล้เก็บเกี่ยว และในพื้นที่ปลูกข้าวใหม่ในระยะกล้าขอให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในทุกภาคของประเทศไทยหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ

 

 เกษตรกรระวัง!โรคไหม้ข้าวลงนา!

 

         ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้

         ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบ ในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ

         ระยะออกรวง (โรคไหม้คอรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

 

 เกษตรกรระวัง!โรคไหม้ข้าวลงนา!

 

        1.คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล คาซูกาไมซิน คาร์เบนดาซิม โพรคลอราซ อัตราตามคำแนะนำในฉลาก

        2.หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี

        3.สำรวจแปลงนา อย่างสม่ำเสมอถ้าพบอาการของโรคไหม้ข้าวควรปฏิบัติดังนี้

              - พ่นเชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับทีลิส) อัตราตามคำแนะนำในฉลาก

              - พ่นเชื้อไตรโครเดอร์มาอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร

        4.ถ้ามีความจำเป็นให้ใช้สารเคมีพ่นเฉพาะบริเวณที่พบการระบาดเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อราแพร่กระจายขยายเป็นวงกว้างออกไป สารเคมีที่แนะนำมี ดังนี้

 

 เกษตรกรระวัง!โรคไหม้ข้าวลงนา!

 

              - อิดิเฟนฟอส 50 เปอร์เซ็นต์ อีซีอัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร

              - บลาสติซิดิน -เอส 2 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร

              - ไตรไซคราโซล 75 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 10-16 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร

        ทั้งนี้ ควรพ่นในแปลงข้าวที่มีประวัติว่าเคยมีโรคระบาดมาก่อน การใช้สารเคมีพ่นซ้ำกันหลายครั้ง เชื้อราจะต้านทานสารเคมีหรือดื้อยา และเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราต้านทานสารเคมี จึงควรเลือกใช้สารเคมีบางชนิดพ่นสลับกัน และใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้และสภาพแวดล้อม

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ