ข่าว

ยึด“โคราชโมเดล”แก้น้ำท่วม-แล้ง"อีสาน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย- โต๊ะข่าวเกษตร

                  ผลกระทบจากกรณีปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากในพื้นที่ภาคอีสานนับแต่อดีตจนปัจจุบัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวทางที่จะสังคายนาระบบการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด โดยเริ่มต้นวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา หรือโคราชโมเดล เป็นต้นแบบการพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอ

                  จากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ จึงมอบหมายให้กรมชลประทาน โดย สำนักงานชลประทานที่ 8 เริ่มวางแผนและพัฒนาระบบน้ำให้มีความเชื่อมโยงเครือข่ายในทุกพื้นที่ภาคอีสานให้มีความเหมาะสมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรฯ อย่างยั่งยืนและมั่นคง สอดคล้องกับโรดแม็พของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบการพัฒนาการเกษตรในเชิงบูรณาการทั้งระบบ เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรฯ แบบแปลงใหญ่ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยดึงศักยภาพและความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่มาเป็นตัวตั้งในการเลือกปลูกพืชผลทางการเกษตร      

 

ยึด“โคราชโมเดล”แก้น้ำท่วม-แล้ง"อีสาน!    

 

                 โดยในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน จึงได้มีการวางระบบปรับปรุงการกระจายน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตตามแนวทางโรดแม็พของกระทรวงเกษตรฯ ได้ทันที ซึ่งปี 2560 สำนักชลประทานที่ 8 มีแผนปรับปรุงระบบกระจายน้ำ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมแปลงใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 31,500 ไร่ ให้มีลักษณะเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น มีความปลอดภัยในการบริโภค ส่งผลให้สินค้าทั้งหมดเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

                  ชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคอีสาน ต้องมีการวางแผนเรื่องน้ำให้เป็นระบบ ไม่ใช่ทำเป็นช่วงๆ เหมือนถนน หากไม่วางโครงข่ายที่ชัดเจนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องวางโครงสร้างระบบการทำงานให้เป็นแบบบูรณาการ และอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยจะต้องทำความเข้าใจและเข้าถึงประชาชน ก่อนที่จะเดินหน้าร่วมกันพัฒนาไปร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง

                    “การวางระบบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จะมีการบริหารจัดการน้ำในส่วนของน้ำในอ่างเก็บน้ำ และน้ำในส่วนเป็นปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงมาในลำน้ำหลัก ซึ่งจะใช้อาคารเป็นตัวกักเก็บน้ำ ตัวบังคับน้ำและจัดการจราจรน้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำลำเชียงไกรเป็นลุ่มน้ำที่เคยมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครั้งเดินทางมาตรวจราชการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในปัญหาเรื่องน้ำเป็นการเร่งด่วน”

                    ชิตชนกเผยต่อว่า สำหรับในส่วนของการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร ถือเป็นแบบอย่างการวางระบบการจัดการลุ่มน้ำที่ดีที่สำนักชลประทานที่ 8 ได้วางระบบการบริหารการจัดการน้ำใหม่ทั้งระบบ เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำใหญ่และลุ่มน้ำย่อย เพื่อให้เป็นไปตามกรอบแผนโรดแม็พของรัฐบาลภายในระยะเวลา 2 ปี โดยสำนักชลประทานที่ 8 ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านและได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากชาวบ้านทุกคนที่ดีใจกับการทำงานอย่างเป็นระบบ จึงก่อเกิดการประสานความร่วมมือที่ดีระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ

 

ยึด“โคราชโมเดล”แก้น้ำท่วม-แล้ง"อีสาน!

 

                   “ไม่ใช่เรื่องเดียวที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังเดินหน้าพัฒนาด้านการเกษตรให้เป็นระบบในพื้นที่ภาคอีสาน ช่วงปลายปี 2559 พบว่า 5 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา มีอ่างเก็บน้ำ 3 อ่าง สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 30% ส่วนอีก 2 อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 50-60% ซึ่งน่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำในอนาคต และ 1 ใน 5 อ่างก็คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่เป็นอ่างเก็บน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร สำหรับประชาชนใน จ.นครราชสีมา ที่กำลังมีการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว จึงได้ให้นโยบายแก่สำนักชลประทานที่ 8 ไปศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบชลประทานอย่างยั่งยืน”

               ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 8 ย้ำด้วยว่า จากการศึกษาโครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยวิธีการสูบน้ำเอามาปล่อยลงที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งจะต้องสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาไว้ที่เขื่อนมวกเหล็ก และสูบขึ้นไปไว้ที่บนเขา เพื่อพักน้ำ และจะมีการเจาะอุโมงค์บนภูเขา อ.ปากช่อง ยาวประมาณ 28.4 กิโลเมตร ทะลุมาลงที่เขื่อนลำตะคอง เหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคองจะมีการทำคลองเปิดประมาณ 300 เมตร และจะปล่อยไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคองต่อไป ใน 1 ปี คาดว่าจะสูบน้ำได้ประมาณ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค มีต้นทุนการผลิตน้ำลูกบาศก์เมตรละ 5 บาท โครงการนี้จะใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท และกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี

              นอกจากนี้ สำนักชลประทานที่ 8 ยังมีการดำเนินการในการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารหลักในลำน้ำทั้งในส่วนของลำน้ำหลัก ลำน้ำรอง ลุ่มน้ำย่อย ซึ่งกรมชลประทานจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้มีความเหมาะสมในการบริหารจัดการระบบน้ำในทุกพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญที่สุด คือ การหาแนวทางในการบริหารจัดการปริมาณน้ำมากน้ำน้อยให้เกิดประโยชน์ โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชาด้านการบริหารจัดการน้ำมาเป็นแนวทางในการทำงานของรัฐบาล อันจะนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรไทยให้ประชาชนมีชีวิตความอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ