ข่าว

พริก…พืชหลังนาสร้างรายได้ดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -  รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

          ในสภาวะที่ข้าวเปลือกราคาตกต่ำดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เกษตรกรคงจะต้องมองหาทางเลือกในการประกอบอาชีพทำการเกษตรให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน พริกเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่เกษตรกรน่าจะหันมาพิจารณาเพื่อสร้างทางเลือกในรายได้จากการปลูกพืชผักผสมผสานในไร่นา หลังฤดูกาลทำนาปีหรือจัดสรรพื้นที่บางส่วนปลูกเป็นพืชทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง

          จากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยโดยอาจารย์วีระ ภาคอุทัยและเยาวรัตน์ สรีวรานันท์ พบว่าเกษตรกรที่จังหวัดชัยภูมิปลูกพริกขี้หนู 1 ไร่ให้ผลกำไรไร่ละ 9,868 บาท หรือถ้าเป็นพริกใหญ่ให้ผลกำไรไร่ละ 42,521 บาท ในขณะที่หากเกษตรกรปลูกข้านาปรังจะให้ผลกำไรเพียงไร่ 1,315 บาท นอกจากนี้เกษตรกรที่ปลูกพริกยังมีรายได้จากการใช้แรงงานในครัวเรือนของตนเองเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่งตามมาอีกด้วย

          การปลูกพริกแม้จะมีทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่าพื้นที่เพาะปลูกพริกได้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆจากอดีต และลดลงมาเหรือประมาณ 0.25 ล้านไร่ในปี 2556 พื้นที่ที่เพาะปลูกพริกที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นการปลูกพริกขี้หนูมากที่สุดประมาณร้อยละ 90 ที่เหลือเป็นการปลูกพริกผลใหญ่ พริกยักษ์ และพริกหยวก

          พื้นที่เพาะปลูกพริกที่หายไปส่วนมากเป็นพื้นที่ๆตามหัวไร่ปลายนาหรือเป็นพืชผักสวนครัวตามครัวเรือนในชนบทไทย การลดลงของพื้นที่ปลูกรวมถึงการหายไปของระบบพืชผักสวนครัว ทำให้ในปัจจุบันทุกครัวเรือนในชนบทต้องหาซื้อพริกจากตลาดเช่นเดียวกับครัวเรือนในเมือง อุปทานที่หายไปจึงส่งผลต่อการปรับตัวของราคาพริกที่สูงขึ้นตามมา

 

พริก…พืชหลังนาสร้างรายได้ดี

 

         พริกเป็นพืชผักที่ใช้ผลในการบริโภคทั้งสดและแห้ง ซึ่งวิถีชีวิตของคนไทยมีความผูกพันกับการบริโภคพริกมาอย่างยาวนาน

        นอกจากการใช้บริโภคเป็นส่วนประกอบของอาหารในครัวเรือนแล้ว ปัจจุบันพริก ยังถูกใช้เป็นพืชวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เช่น ซอสปรุงรส และรวมถึงการเป็นส่วนประกอบของวัตถุดิบในการผลิตยารักษาโรค อีกด้วย นอกจากนี้พริกยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่งในกลุ่มของสินค้าพืชผัก โดยในปี 2557 ได้มีการส่งออกพริกไปต่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท

        พริกมีวิตามินซีสูงช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน เป็นแหล่งของกรดแอสคอร์บิก (ascorbic) ช่วยขยายเส้นโลหิตในลำไส้และกระเพาะอาหารช่วยร่างกายขับถ่าย ช่วยลดปริมาณสารคอเลสเตอรอลในร่างกาย ทำให้ปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดลง

        นอกจากนี้พริกยังมีสารสำคัญ ได้แก่แคปไซซิน(Capsaicin) ซึ่งทำให้เผ็ดช่วยให้เกิดอาการตื่นตัวของร่างกาย และได้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่มีรสเผ็ด ผลิตภัณฑ์รักษาโรคเพื่อลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น ซึ่งส่วนมากจะสะกัดจากเม็ดพริกขี้หนูที่ให้ความเผ็ดสูง

        ดังนั้น ภายใต้การปรับโครงสร้างการปลูกพืชหลังการทำนา พริกจึงน่าจะเป็นพืชทางเลือกสำหรับเกษตรกร ซึ่งหากได้มีการรวมตัวกันเพาะปลูกในระดับหมู่บ้านแล้วสร้างระบบการผลิตพริกปลอดภัย (GAP) ย่อมจะมีทางออกด้านการตลาดที่ดี

        อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างงานในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่ต้องย้ายถิ่นไปหางานทำที่อื่น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ