ข่าว

"ติดตาบนต้นตอ" แก้ปัญหาโรคส้มตั้งแต่ต้นทาง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมวิชาการเกษตร โดย ศวพ.แพร่ แนะวิธีแก้โรคส้ม พร้อมชูส้มปลอดโรค แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง


            นายอุทัย นพคุณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 (สวพ.1) กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ส้มเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง มีการปลูกเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการปลูกส้มคือปัญหาการทำลายของศัตรูส้มโดยเฉพาะโรคทริสเตซ่าซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และโรคกรีนนิ่งซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโรคทั้งสองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้โดยติดมากับกิ่งพันธุ์ที่ขยายพันธุ์จากต้นแม่ที่เป็นโรค นอกจากนี้ ยังมีโรครากเน่าและโคนเน่า เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอร่า ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในดินและน้ำ     

                ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตรเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ศึกษาวิธีแก้ปัญหาโรคส้ม ตั้งแต่การเริ่มปลูกส้มโดยใช้ต้นพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ที่ไม่เป็นโรคหรือปลอดโรค ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการป้องกันโรคได้อย่างดี อีกทั้งการใช้ต้นส้มที่มีระบบรากที่แข็งแรงทนทานต่อโรครากเน่า โคนเน่า เป็นต้นตอสำหรับติดตาด้วยยอดพันธุ์ดีที่ไม่เป็นโรคหรือปลอดโรคก็จะทำให้ต้นส้มมีระบบรากที่แข็งแรง
              “ส้มปลอดโรค คือ ต้นส้มที่ไม่เป็นโรคหรือปลอดจากโรคทริสเตซ่าและโรค กรีนนิ่งหรือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อหรือท่ออาหารของต้นส้ม จะต้องเป็นต้นพันธุ์ที่ได้จากการติดตาบนต้นตอ พันธุ์ส้มที่นิยมใช้เป็นต้นตอได้แก่ คลีโอพัตราแมนดาริน (Cleopatra mandarin) โวคาเมอเรียน่าเลมอน (Volcamerina Lemon) และแรงเปอร์ไลม์ (Rangpur Lime) ซึ่งต้นตอแต่ละชนิดมีความทนทานต่อโรคต่างกัน” นายอุทัย กล่าว
             สำหรับขั้นตอนการติดตาบนต้นตอ ประกอบด้วย 1. การเพาะเมล็ดต้นตอ โดยวัสดุที่ใช้ในการเพาะเมล็ดต้นตอ คือ ทราย : แกลบดำ อัตรา 1:1 โรยเมล็ดเป็นแถวให้เมล็ดอยู่ลึก 0.5 - 1 เซนติเมตร กลบด้วยวัสดุเพาะ รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้น ทำการย้ายต้นกล้า เมื่อใบชุดแรกแข็งแรงดีและใบเลี้ยงเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ต้นกล้าสูง 3-5 เซนติเมตร ลงในถุงพลาสติกขนาด 3x12 นิ้ว ปฏิบัติดูแลรักษาจนต้นส้มอายุ 4-6 เดือน หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 0.5 เซนติเมตรจึงจะสามารถทำการติดตาได้
            2. ขั้นตอนการติดตา ทำการติดตาสูง 20-30 เซนติเมตร เฉือนต้นตอเป็นรูปโล่และทำบ่าที่ด้านล่างของรอยแผล จากนั้นเฉือนแผ่นตาพันธุ์ดีแบบรูปโล่ โดยตัดหลังปากแผลด้านล่างให้เป็นรูปสิ่ว สอดแผ่นตาจากด้านบนลงด้านล่างให้เข้ากันสนิท พันด้วยพาราฟิล์มให้แน่น ประมาณสองสัปดาห์ตาจะเริ่มแตก ประมาณ 6 เดือนจึงจะสามารถนำไปปลูกได้
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ