ข่าว

"หมอเดว" ดึงสติ อย่าหัวร้อนต่อหน้าเด็ก อาจนำไปสู่ "Socialphobia"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอเดว" แนะใช้สติมากกว่าอารมณ์ ลดการใช้ความรุนแรงต่อหน้าเด็ก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเด็ก 4 ประการ หรือนำไปสู่ "Socialphobia" วอนผู้ใหญ่ในสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน

จากกรณี สาวรายหนึ่งโพสต์ข้อความ และคลิปผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถูกคู่กรณีด่าทอเสียหาย บนท้องถนน ต่อหน้าลูกที่นั่งอยู่ในรถ เหตุเบรกรถกระทันหัน  จนคลิปดังกล่าวถูกแชร์ในโลกโซเชียลจำนวนมาก ล่าสุด น.ส.วรวลัญซ์ เพชรสัมพันธ์ สาวเจ้าของคลิป ได้เดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย  เนื่องจากหวาดกลัวจะเกิดอันตรายต่อตนเอง และลูก

คลิปดังกล่าว เผยภาพเสียงชายหัวร้อน กำลังด่าทอ สาวเจ้าของคลิปอย่างรุนแรง โดยภายในรถ มีเด็กนั่งอยู่ด้วย ทำให้เด็กเกิดอาการหวาดผวา พูดออกมาว่า คุณแม่เขาไม่ได้ตั้งใจ ทำอย่างนี้กับแม่หนูแบบนี้ได้ยังไง ใจดำจัง พร้อมร้องไห้ออกมา

ชายหัวร้อน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ด้านรศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หรือ "หมอเดว" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผอ.ศูนย์คุณธรรม ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์ว่า สังคมที่ผู้ใหญ่นิยมใช้ "ความรุนแรง" ในอดีตเวลาพูดถึงละครที่มีความรุนแรง จะถูกตั้งคำถามว่ามีผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กหรือไม่ เรื่องดังกล่าวมันก็มีแต่เป็นผลกระทบโดยอ้อม โดยกลายเนื่องจากไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิต

แต่ในขณะเดียวกันหากเด็กสัมผัส "ความรุนแรง" ในวิถีชีวิตประจำวันเองเลย เช่นในกรณีที่อยู่ในรถ แล้วเห็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เป็นต้นแบบที่ดี ใช้ความรุนแรง ผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อเด็กสามารถเกิดขึ้นได้ใน 4 รูปแบบคือ ประเด็นที่ 1 เด็กอาจจะใช้พฤติกรรมลอกเลียนแบบ "พฤติกรรมความรุนแรง"เพราะเห็นผู้ใหญ่กระทำ ซึ่งการลอกเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงสามารถเกิดได้ทั้ง การใช้วาจาและการลงไม้ลงมือ ตามประสบการณ์ที่เห็น ประเด็นที่ 2 หากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเองแต่เป็นคนนอกที่เข้ามากระทำจะส่งผลให้เด็กเกิด "ความหวาดผวา" ต่อสังคม การมองโลกในแง่ร้าย การมองสังคมในแง่ลบ อาจฝั่งเข้าไปในจิตใจของเด็ก ยิ่งเด็กยิ่งเล็กเท่าไหร่อย่าคิดว่าไม่มีผลกระทบ เด็กยิ่งเล็กจะยิ่งฝั่งจิตฝั่งใจและแก้ยาก ซึ่งเกิดการกระทบจิตใจ หรือที่ใช้เรียกว่า "Social phobia" คือมีความหวาดระแวงสังคมมองเห็นว่าสังคมนี้ไม่น่าอยู่

หมอเดว

ประเด็นที่ 3 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือเด็กคิดว่าการกระทำความรุนแรงดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของบ้านเมืองนี้ ไม่ต้องเคารพกฎหมาย ไม่ต้องว่ากันด้วยจิตสำนึก ไม่ต้องขอโทษคุยกันดีๆคิดว่าการลงไม้ลงมือ ยิ่งเห็นบ่อยสัมผัสได้จากข่าวสาร สัมผัสได้แม้แต่ในวิถีชีวิตจริงๆ ภาพเหล่านี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม และประเด็นสุดท้ายที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมคือการที่เด็กลดความรู้สึกอยากมีเมตตา
ซึ่งทั้ง 4 ลักษณะนี้ที่อาจจะเกิดกับเด็กสังคมต้องกลับมาดูที่ สำนึกของคนที่เป็นผู้ใหญ่ว่ากำลังทำอะไรให้เด็กดูอยู่ ควรนึกถึงเด็ก ที่ดูพฤติกรรมของผู้ใหญ่อยู่ในแต่ละวันไม่เพียงแค่ลูกหลานตนเอง แต่ควรนึกถึงผู้ใหญ่ด้วยกันเองด้วย

"หมอเดว" กล่าวอีกด้วยว่า สังคมนี้ให้อภัยกัน ไม่ได้เลยหรือ ทำไมต้องใช้ความรุนแรง เพราะการกระทำ "ความรุนแรง" นอกจากจะส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างยังส่งผลกระทบต่อผู้กระทำความรุนแรงอีกด้วยเนื่องจาก คนที่กำลังใช้ความรุนแรงเมื่อเสพติดความรุนแรงขึ้นมา คนแรกที่จะเสียหายคือผู้กระทำเอง เนื่องจาก สารเคมีที่หลั่งออกมาในร่างกายของผู้กระทำ"ความรุนแรง" ไม่ใช่สารแห่งความสุข แต่เป็นสารแห่งความตึงเครียดที่สามารถทำร้ายร่างกายของผู้กระทำความรุนแรง ยังไม่นับรวมถึง การใช้พลังทำลายล้าง ไปใช้กระทำสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจจะกระทบ กับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้กระทำความรุนแรงเองด้วย
หากกระทำความรุนแรงให้เด็กเห็นในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะสอนลูกหลานอย่างไรเมื่อตนเองเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง แม้จะสอนให้ลูกหลานไม่กระทำความรุนแรงแต่ผู้ใหญ่เป็นผู้กระทำตัวเองคิดเองว่าสิ่งไหนมีอานุภาพต่อเด็กมากกว่ากัน

ส่วนกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคลิปสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนกับเด็กที่นั่งอยู่ในรถคือ "ความหวาดผวา"ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเป็นรูปแบบไหนขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก กลไกทางจิตพื้นฐานและต้นต้นทุนชีวิตของเด็กที่แตกต่างกัน แต่ที่แน่ๆคือการอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงจะส่งผลให้เด็กเกิดความผวาและหวาดกลัว ซึ่งอาจจะเกิดเป็นภาพจำที่ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่อาจจะทำให้เกิด Post-traumatic stress disorder (PTSD)  ลักษณะอาการเหมือนช็อคกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการเยียวยา และขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและวุฒิภาวะของเด็ก รวมไปถึงพื้นฐานทางอารมณ์ ซึ่งอาจทำให้เด็กลอกเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ไปใช้ในเหตุการณ์เดียวกันได้อีกด้วย

"หมอเดว"กล่าวย้ำอีกด้วยว่าหัวใจสำคัญวันนี้ ที่ขอเถอะให้สังคม ใช้สติให้มากขึ้นลดการใช้อารมณ์ หากมีอะไรที่พลั้งพลาดขึ้นมาก็ขอโทษกัน ต้องรู้จัก ตรวจสอบอารมณ์ และควบคุมอารมณ์ หากอยู่ในสภาวะที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในเหตุการณ์ ขอเรียกร้องจิตสำนึกของผู้ใหญ่ ช่วยเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกหลานเยาวชน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ