ข่าว

"จตุพร" หวั่นม็อบถูกแทรก ก่อปะทะรุนแรง แนะจับตาสถานการณ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จตุพร" หวั่นม็อบถูกแทรก ก่อปะทะรุนแรง จับตาสถานการณ์มีบาดเจ็บ-เลือดตก เกิดป่วนคุมยาก เชื่อถึงจุดเปลี่ยนรัฐบาลก่อนถึง 2 ธ.ค. แนะรัฐเร่งคุยหาทางออก ติง ตร.อย่าใช้แก๊สน้ำตา ชี้อันตราย อดีตเคยทำให้ นปช.ตายกว่า 10 ศพ

วันที่ 25 พ.ย. 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk ระบุให้จับตาการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในวันนี้ โดยมั่นใจว่าถ้าสถานการณ์เกิดรุนแรงเสียเลือดเนื้อย่อมเกิดเปลี่ยนแปลงก่อนถึงเหตุการณ์ 2 ธ.ค.นี้

 

นายจตุพร กล่าวว่า วันนี้กลุ่มราษฎรจะไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อคืนต้องแกงคือเลื่อนไปชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จนฝ่ายความมั่นคงต้องเตรียมรับมือทั้ง 2 แห่ง โดยใช้ตู้คอนเทรนเนอร์วางเป็นจุดสกัด ซึ่งตนเคยเตือนว่าถ้ามองในลักษณะที่ใจใหญ่กว่านั้น ฝ่ายความมั่นคงต้องไม่ติดรั้วลวดหนามที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จนมีภาพไม่น่าดูแพร่ไปทั่วโลก


"เมื่อการเตรียมการป้องกันโดยมองแค่เจตนาดีด้านเดียวแล้ว ถ้าไม่รู้สึกว่าเป็นกังวลก็ควรเปิดทำงานและใช้ชีวิตตามปกติ เพราะความทุกข์จะไปอยู่ที่ม็อบรุกล้ำไปในพื้นที่ อีกทั้งยังมีพลังอนุภาพการสกัดกั้นมากกว่ารั้วลวดหนามด้วย อีกอย่าง การบล็อกขวางผู้ชุมนุมทุกเส้นทางนั้น หากเจ้าหน้าที่ไม่ให้ผ่านก็ยากอยู่แล้ว"

 

 

นายจตุพร กล่าวอีกว่า การแสดงออกทั้งปวงต้องคิดถึงความพอดี และคิดถึงผลเสียทางการเมืองจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าวัดด้วยศาลาวัดใจแล้ว ประตูที่ปิดไว้จะมีอนุภาพมากกว่าที่ปิดไว้ แต่เมื่อมีการแกงไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์แล้ว ฝ่ายความมั่นคงกลับต้องขี่ช้างจับตั๊กแตนอีก และยังไม่เกิดผลดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเคยแนะว่าการแก้ปัญหาควรแก้ด้วยทางการเมืองในหลักยึดความชอบธรรม ซึ่งใครเสียความชอบธรรมก่อนคนนั้นแพ้

 

"ตนเห็นกลุ่มใส่เสื้อเหลืองที่จัดตั้งไว้ พร้อมจะเกิดเหตุปะทะกันได้ทุกเวลา ส่วนผู้ชุมนุมมีการออกข่าวมีชายชุดดำมาสร้างสถานการณ์ อีกอย่างการจับหัวหน้าการ์ดผู้ชุมนุมราษฎร นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ตนเชื่อว่าการชุมนุมวันนี้จะเกิดเรื่อง เพราะโตโต้เป็นเหมือนคนอำนวยการป้องกันการชุมนุม แต่ฝ่ายรัฐเอาตัวไปไว้ที่จังหวัดอุบลฯเสียแล้ว"

 

นายจตุพร กล่าวต่ออีกว่า การรวบหัวหน้าการ์ดก่อนชุมนุมหนึ่งวันนั้น จึงทำให้ศักยภาพการควบคุมฝูงชนลดน้อยลง ดังนั้นการมองการจับกุมหัวหน้าการ์ดจึงมีนัยสำคัญ และฝ่ายความมั่นคงไม่ยกเลิกเตรียมการป้องกันที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงทำให้สถานการณ์เปราะบางมากที่สุด ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นช่วงท้ายของการชุมนุมแล้ว นั่นหมายความว่าจะนำไปสู่หลายสถานการณ์อื่นๆตามมาอีกมากมาย

 

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากัน ทั้งนี้คงมองจากสถานการณ์ว่า กระดานต่อสู้ ขัดแย้งครั้งนี้จะหนีเลือดนองท้องช้างไม่ได้ ประกอบกับผมมั่นใจว่าการชุมนุมมีโรคแทรก เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมระบุมีชายชุดดำแทรกเข้ามาแล้ว ส่วนฝ่ายเสื้อเหลืองก็เตรียมกันไว้ ดังนั้นจึงหนีการปะทะไม่ได้ แล้วหลังวันนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น มีข่าวว่าจะประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องคอยดูกัน"

 

อย่างไรก็ตามในการชุมนุมปี 2557 ผบ.ทบ.ในสมัยนั้นได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั้งประเทศ แล้วต่อมา ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้ายึดอำนาจ และเป็นนายกฯ แล้วเผลอพูดว่า ถ้าตัวเองไม่ประกาศแล้วใครจะประกาศ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พูดว่า ก็ ผบ.ทบ.ไง

 

ขณะที่ ถ้าวันนี้การชุมนุมเกิดสถานการณ์ร้ายแรงขึ้น ถ้าเกิดความโกลาหล และหัวหน้าการ์ดถูกนำตัวไป ตนคิดว่าอย่างไรเสียวันนี้ต้องมีเรื่อง ตนย้ำเสมอการชุมนุมในทางปฏิบัติไม่มีใครกลัวใครอีกแล้ว ยิ่งมีสถานการณ์เปราะบางเช่นนี้ต้องดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในช่วงท้าย


"ผมมีความหวังว่าภาพโกลาหลที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ หลายคนอาจมีความสะใจที่ได้แกงกันได้ แต่ผมดูด้วยความอเนจอนาถว่า ไม่ควรมีสภาพเช่นนี้ในบ้านเมืองเรา เพราะภาพทั้งหมดถูกฉายไปทั่วโลกว่า ประหนึ่งประเทศกำลังจะเกิดเรื่องใหญ่มาก ผมเคยบอกว่าการเกิดเรื่องนั้น ถ้าคิดว่าไม่มีอะไรมันก็ไม่มีอะไร ถ้าคิดว่ามีมันก็มี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความอดทน สติ และความต้องการให้บรรลุเป้าหมาย ถ้าสถานการณ์วันนี้รุนแรง ก็ไม่ถึงวันที่ 2 ธ.ค. ซึ่งจะต้องมีเหตุกันก่อน"

 

 

ในสถานการณ์ละเอียดอ่อนนี้ ตนขอส่งเสียงเตือนทุกฝ่ายต้องระมัดระวังที่สุด เมื่อบอกตำรวจเป็นหลัก และทหารพูดชัดถ้ามีการร้องขอจะออกมา หากสถานการณ์ปกติแล้ววันนี้ต้องมีการยึดอำนาจแต่สถานการณ์ยังไม่สุกงอมเพียงพอ ถ้าถึงจุดสุกงอมก็เกิดรัฐประหาร แม้มีน้อยแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี ถ้าต้องการยึดอำนาจวันนี้ก็ใช้กำลังได้แล้ว แต่สถานการณ์ยากจะสงบราบคาบเหมือนครั้งช่วง นปช.ชุมนุมเมื่อปี 2557

 

"สถานการณ์ปัจจุบันจะเกิดแตกแยกรุนแรง ความชิงชังจะพัฒนาสู่ขั้นสูงตามลำดับ การปรองดองของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เริ่มจะไม่สมานฉันท์กันแล้ว และจากนี้ไปตนเชื่อว่าจะเกิดเรื่องได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงหวังว่าเสียงของตนอาจทำให้เกิดความรู้สึก และไม่มีใครจะได้รับบาดเจ็บล้มตายกันอีก เรื่องแก๊สน้ำตานั้น ช่วง นปช. 2553 มีผู้ชุมนุมล้มตายกว่า 10 ศพจากสาเหตุนี้ ดังนั้นฝากว่าตำรวจว่าควรหลีกเลี่ยงการใช้แก๊สน้ำตา"

 

ส่วนถ้าเกิดเหตุการณ์ปะทะแล้วจะเป็นอย่างไรนั้น ตนเชื่อว่าถ้าไม่เกิดรัฐประหารแล้ว ความรับผิดชอบต้องตกกับรัฐบาล เพราะมีหน้าที่อำนวยความปลอดภัยให้ประชาชนที่แสดงจุดยืนทางการเมือง อีกทั้งเมื่อรัฐบาลรักษาความสงบแห่งชาติ ดูแลตำรวจและกองทัพ จึงต้องรับผิดชอบ

 

"ผมไม่เชื่อทฤษฎีว่า มีคนตายแล้ว รัฐบาลจะแพ้ อยู่ไม่ได้ เพราะพวกผมตายกันร่วมร้อย จนเกินจะรับไหวจึงยอมยุติชุมนุม อีกอย่างขบวนการทหาร และฝ่ายความมั่นคงนั้น มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐอยู่ในทุกอนุการชุมนุม ยิ่งคลุมหน้าใส่แว่นดำยิ่งแล้วใหญ่ ดังนั้นการข่าวของรัฐบาลจึงมีมากที่สุด ทั้งแฝงตัว ดักฟังโทรศัพท์ เพราะมีอุปกรณ์ฝ่ายความมั่นคงสามารถดูดเสียงการประชุมได้ทั้งๆที่ปิดเครื่องมือถือไว้ก็ตาม ซึ่งการข่าวไม่มีใครรู้ดีไปกว่ารัฐแล้ว ดังนั้นจึงมีการป้องกันสำนักงานทรัพย์สินฯ ทั้งที่ถูกแกงมาตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว ถามว่ารัฐรู้ได้อย่างไร ก็เพราะเทคโนโลยีการดักฟังของรัฐนั่นเอง จึงต้องป้องกันระวังไว้อีกทางหนึ่งด้วย"

 

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรมีมาตรการอื่นใดนอกเหนือจากสันติวิธี การใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมนั้น หลังจากการชุมนุมจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะมีคดีมากมายจนจำไม่ไว้ แต่ขณะชุมนุมทุกคนไม่กลัวตาย ดังนั้นการแก้ปัญหาควรเกิดขึ้นขณะชุมนุม รวมทั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องไม่มีการใช้รั้วลวดหนามล้อมและวางตู้คอนเทรนเนอร์กีดขวางผู้ชุมนุม

 

"ทุกความขัดแย้งสามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี ถ้าสถานการณ์วันนี้จบลงแบบไหน จะมีความรุนแรงหรือไม่ สิ่งนั้นจะเป็นเครื่องอธิบายว่าสถานการณ์จะเดินไปถึงวันที่ 2 ธ.ค.หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามทุกชีวิตวันนี้ไม่ควรจบลงด้วยความตายในการชุมนุม ส่วนผมยังอยู่ในสถานะคัดท้ายต่อไป เพราะปัญหาชาติอยู่ที่ทุนผูกขาดครอบงำประเทศ"

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ