ข่าว

ชาวไร่ยาสูบ จี้ ก.คลังเร่งหาทางออกภาษียาสูบระยะยาว อย่าทำพลาดซ้ำสอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตัวแทนภาคีชาวไร่ยาสูบ 3 สายพันธุ์ เดินทางพบหารือการยาสูบแห่งประเทศไทย ทวงถามเงินชดเชยที่ถูกตัดโควตาเป็นปีที่สอง ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ วอนกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตหาทางออกระยะยาว ขึ้นภาษีบุหรี่แบบค่อยเป็นค่อยไป จะได้ไม่ซ้ำรอยปัญหาเดิม


27 สิงหาคม 2563 นายกิตติทัศน์ ผาทอง พร้อมด้วยตัวแทนชาวไร่ยาสูบ 3 สายพันธุ์จากภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอีสาน เดินทางเข้าพบคณะผู้บริหารการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เพื่อหารือถึงความคืบหน้าในการพิจารณาการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่ยาสูบที่ถูก ยสท. ตัดโควตาเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตและ ยสท. ดำเนินการให้เรียบร้อยโดยด่วน ตามที่ทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองามเคยรับปากไว้ในที่ประชุมสภาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม. ว่าจะเร่งให้ความช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ

 

ชาวไร่ยาสูบ จี้ ก.คลังเร่งหาทางออกภาษียาสูบระยะยาว อย่าทำพลาดซ้ำสอง

กิตติทัศน์ ผาทอง

 

“ทางกระทรวงการคลังได้ช่วยสั่งการให้กรมสรรพสามิตและ ยสท. ดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว และก็ใกล้จะเข้าฤดูกาลปลูกยาสูบของปี 2563/64 ในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว เราก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชยของฤดูกาลปลูกปีที่แล้วเลย แต่กลับได้รับหนังสือจากทั้งสองหน่วยงานที่ยังคงตอบแบบโยนงานกันไปมา จึงอยากให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปรีดี ดาวฉาย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่กำกับดูแลการยาสูบฯ ช่วยเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพราะชาวไร่ต้องใช้เงินสำหรับการเตรียมการปลูก และยังต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่หลายคนก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจากการพูดคุยกับท่านผู้ว่าการ ยสท. ก็ได้รู้ว่า ยสท. ได้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพสามิตแล้ว และท่านได้รับปากจะมีติดตามเรื่องเงินชดเชยกับกรมสรรพสามิตให้” นายกิตติทัศน์กล่าว


นอกจากนี้ นายกิตติทัศน์ยังได้แสดงความเห็นด้วยต่อข้อเรียกร้องเมื่อเร็วๆ นี้ของ พญ. เริงฤดี ปธานวนิช จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิชาการด้านการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ว่ารัฐบาลควรจะยกเลิกการขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 40% อัตราเดียวแล้วกำหนดอัตราใหม่ที่เหมาะสมกว่าแทน


“เราขอเสนอให้กระทรวงการคลังยกเลิกแผนการขึ้นภาษีบุหรี่ปีหน้าเป็น 40% อัตราเดียว เพราะตั้งแต่ปี 2560 มานี้ชาวไร่ยาสูบก็ได้รับความเดือดร้อนมามากแล้วจากอัตราภาษีที่สูงมากเกินไป คนก็หันไปสูบยาเส้น-บุหรี่เถื่อนมากขึ้น การสูบบุหรี่ก็ไม่ลดลง เราอยากให้ กท. คลัง หาทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวมากกว่าการเลื่อนภาษีแบบปีต่อปีแบบที่ทำมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนรู้ว่ายังไงรัฐบาลคงต้องขึ้นภาษีอีก ยสท. เองก็เห็นว่าต้องปรับนโยบายภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ และควรร่วมหาทางออกร่วมกันทุกฝ่ายรวมทั้งให้ชาวไร่เข้ามามีส่วนในการพูดคุยด้วย เพราะการขึ้นภาษีทีเดียวจาก 20% เป็น 40% อัตราเดียว ชาวไร่ยาสูบก็จะเดือดร้อนอีกไม่จบสิ้น จึงอยากขอร้องกระทรวงการคลังให้ทบทวนนโยบายการขึ้นภาษีบุหรี่ในปี 2564 และปีต่อๆ ไป หากจำเป็นต้องขึ้นภาษีจริงก็ให้ขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในสภาพสาหัสจากพิษโควิด-19 เช่น ค่อยๆ ขึ้นจาก 20% เป็น 25% ก่อน แล้วค่อยๆ ขยับทีละน้อยจนเป็น 40% เพราะเศรษฐกิจบ้านเราอีกหลายปีกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม ”

 

ชาวไร่ยาสูบ จี้ ก.คลังเร่งหาทางออกภาษียาสูบระยะยาว อย่าทำพลาดซ้ำสอง

สุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ

 


ด้านนายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ เปิดเผยว่า นโยบายภาษีบุหรี่ในปี 2560 ที่ขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดทำให้ราคาบุหรี่ถูกกฎหมายแพงขึ้นเกินกำลังซื้อผู้สูบ จนยอดจำหน่ายบุหรี่ถูกกฎหมายลดลงถึง 15% แต่ในความเป็นจริงผู้สูบบุหรี่กลับไม่ได้ลดลง เพราะหันไปสูบยาเส้นมวนเองและบุหรี่ผิดกฎหมายที่ไม่เสียภาษีหรือมีภาระภาษีและราคาน้อยกว่าบุหรี่หลายเท่าตัว ทำให้รายได้รัฐจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบไม่ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ภาษีดังกล่าวยังถูกแบ่งเป็น 2 อัตราที่ 20% กับ 40% ยสท. จึงต้องเจอการแข่งขันที่ดุเดือด ซึ่งทำให้กระทบยอดจำหน่ายและผลกำไรของ ยสท. อย่างหนักในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา จนทำให้ต้องขอยกเว้นการนำส่งเงินรายได้แผ่นดิน 88% มาเป็นเวลา 2 ปีติดกันแล้วหรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8 พันล้านบาทต่อปี เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยส่วนแบ่งการตลาดบุหรี่ของ ยสท. ในปีงบประมาณ 2562 ตามรายงานประจำปี ยสท. อยู่ที่ 58% คือขายได้ 18,644 ล้านมวน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 18,508 ล้านมวนในปีงบประมาณ 2561 แต่ผลกำไรสุทธิกลับลดลงเหลือ 513 ล้านบาท จาก 843 ล้านบาท ขายได้เพิ่มขึ้นแต่กำไรลดลง ก็เพราะขายได้แต่บุหรี่ราคาซองละไม่เกิน 60 บาท ซึ่ง 79% ของราคาบุหรี่นั้น ยสท. ต้องจ่ายเป็นเงินภาษีเข้ารัฐ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงสุดในอาเซียน

“การขึ้นภาษีเมื่อปี 2560 ไม่ได้ช่วยให้คนไทยลดการสูบบุหรี่ลง ที่สำคัญคือรัฐไม่ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบและยังสูญเสียเงินรายได้จากเงินนำส่งแผ่นดินของ ยสท. ประมาณปีละกว่า 8 พันล้านบาทมา 2 ปีซ้อนแล้ว โดยล่าสุด ยสท. เองยังต้องเริ่มหันมาทำตลาดยาเส้นมวนเองเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สหภาพฯ ได้มีการหารือกับ ยสท. อยู่ตลอดในเรื่องการรับมือกับนโยบายภาษีบุหรี่ในอนาคต เพื่อไม่ให้ ยสท. ต้องเผชิญกับวิกฤติใหญ่เหมือนในปี 2560 โดยพนักงานการยาสูบฯ เองต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษี 40% ในรวดเดียว เพราะจะกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบอย่างรุนแรง คนเดือดร้อนคือพนักงาน ยสท. ชาวไร่ยาสูบ และครอบครัวรวมกันกว่า 130,000 ชีวิต 

 

ชาวไร่ยาสูบ จี้ ก.คลังเร่งหาทางออกภาษียาสูบระยะยาว อย่าทำพลาดซ้ำสอง

 

ดังนั้น ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมยาสูบจะต้องหันหน้ามาคุยกันเพื่อหาจุดร่วมที่จะทำให้อยู่รอดกันได้ ถ้า 40% อยู่ไม่ได้แล้วจะเป็นอย่างไร จำเป็นที่จะต้องขึ้นทีเดียวไหม โดยอาจจำเป็นที่ต้องปรับนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและความเป็นธรรมในการจัดเก็บแก่ทุกฝ่าย ไม่ใช่รอกรมสรรพสามิตคิดอยู่ฝ่ายเดียว เพราะที่ผ่านมาเกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐและประเทศชาติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” นายสุเทพ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ