ข่าว

"ฝ่ายค้าน"​ สับเละ แผนปฏิรูปล้มเหลว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ฝ่ายค้าน"​ สับเละ แผนปฏิรูปล้มเหลว หยิบงานประจำเล็กๆ มาทำ อ้างคืองานปฏิรูป

 

"ฝ่ายค้าน"​สับเละ แผนปฏิรูปล้มเหลว หยิบงานประจำเล็กๆ มาทำ อ้างคืองานปฏิรูป "วันนอร์"  ซัดปฏิรูปการเมืองเหลว หลังพบวันเลือกตั้ง บางพรรคแจกเงินกำนัน โกงแบบโจ่งแจ้ง "ส.ส.อนค." ชี้งานปฏิรูปแค่หยิบงานประจำเล็กน้อยมาทำ - รัฐขาดการส่งเสริมแท้จริง ด้าน "นิกร" แนะให้ตั้ง กก.ปฏิรูปใหม่ หลังพบคนแห่ลาออกเพียบ-งานไม่เดิน

 

          เมื่อเวลา 15.45 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม 2562 โดยมีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฐานะกรรมการและเลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้รายงานความคืบหน้าโดยมีสาระสำคัญ​คือ แผนการปฏิรูปประเทศที่ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 จำนวน 11 ด้านพบว่าความคืบหน้ายังอยู่ระหว่างการปรับแผนปฏิรูปให้ตรงกับแผนแม่บทให้มีความเหมาะสม ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป


          จากนั้นเป็นการอภิปรายของ ส.ส. ซึ่งพรรคฝ่ายค้าน ขอเวลาอภิปรายไว้รวม 10 ชั่วโมง โดยสาระสำคัญของการอภิปรายโดยส.ส.พรรคฝ่ายค้าน คือ สะท้อนความล้มเหลวของแผนการปฏิรูปประเทศรวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะขาดการชี้วัด และตอบโจทย์ว่าประชาชนได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง รวมถึงงานปฏิรูปบางเรื่องยังเป็นการนำงานประจำของหน่วยงานราชการมาปฏิบัติ

 

          โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าการปฏิบัติตามแผนการปฏิรูปประเทศตามที่นำเสนอรายงานไม่พบความคืบหน้าและความสำเร็จที่ชัดเจน ซึ่งภาพรวมคือความล้มเหลว จากแผนงาน 14,865 เรื่อง งานปฏิรูป 5 ใน 11 ด้าน อยู่ระหว่างรอพิจารณา ขณะที่ประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง ไม่มีความคืบหน้า อาทิ ประชาธิปไตยธรรมาภิบาล การกระจายอำนาจ การทบทวนกฎหมายที่ล้าหลัง และประชาชนจิตอาสา อย่างไรก็ตามตนทราบว่าในการทบทวนกฎหมายที่ล้าหลังนั้น เตรียมจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งถือว่าเปลืองงบประมาณ ขณะที่ภาคข้าราชการประจำสามารถดำเนินการได้ นอกจากนั้นสิ่งที่ล้มเหลวและไร้ทิศทางสำคัญ คือ ไม่พบการปฏิรูปด้านการเมือง โดยเฉพาะวิธีการเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง รวมถึงการถูกตรวจสอบ ทั้งนี้การนำเสนอรายงานดังกล่าว ครม. ควรให้ความสำคัญต่อสภาฯ ด้วย 

 

          "หลังการเลือกตั้ง เมื่อ 24 มี.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศ ผมถือว่าเป็น ครม.เป็ดง่อย ซึ่งผมเคยอภิปรายไว้ว่าสิ่งที่จะพาประเทศไปสู่วิกฤต และล้มเหลว คือการเลือกนายกฯ คนปัจจุบันให้กลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ขณะที่สภานี้ คือ สภาเป็ดง่อย เพราะด้วยเสียงของ 2 ฝ่าย ห่างกันเพียง 8 เสียง คือ ฝั่งหนึ่งมี 254 เสียง อีกฝั่งมี 246 เสียง ถือเป็นความสนุกในการทำงานแน่นอน" นพ.ชลน่าน อภิปราย

 

          ขณะที่นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าแผนงานปฏิรูปของรัฐบาลตามความคืบหน้าที่รายงานนั้นไม่พบความสำเร็จ ซึ่งตนเชื่อว่าการสร้างเรื่องปฏิรูปนั้น เป็นเพียงการสร้างวาทะกรรมเท่านั้น เพราะไม่มีประเด็นที่เกิดผลสำเร็จในทางปฏิบัติ

 

          ส่วนน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า จากการตรวจสอบโครงการที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศ พบว่าบางเรื่องเป็นเพียงเรื่องเล็ก และเป็นงานประจำของหน่วยงานราชการ อาทิ โครงการปลูกผักปลอดสารพิษ ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาทดำเนินการ โครงการลดขยะในสถานที่ราชการ แจกถุงผ้าเพื่อใช้แทนถุงพลาสติก หรือ โครงการสนับสนุนพลังงานทางเลือก หรือ โซล่าลูปท็อป ที่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าที่ผลิดจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ แต่รัฐไม่สามารถอุดหนุนโครงการดังกล่าวผ่านการซื้อไฟฟ้าจากประชาชนได้ 

 

          "วงจรการปฏิรูปคือตั้งคณะกรรมการออกกฎหมายและตั้งหน่วยงานใหม่ ยิ่งปฏิรูปยิ่งล้มลุกคุกคลานการปฏิรูปมักเป็นเพียงข้ออ้างของการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็มีการปฏิรูปมี 4 คณะใช้งบประมาณ 1.3 พันล้านบาท มี 1 พันข้อเสนอ เมื่อปี2557 รัฐประหารด้วยการอ้างว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งมี 2 สภาปฏิรูปใช้เงิน 1.7 พันล้านบาท กรรมการปฏิรูป 11 คณะเบิกเบี้ยประชุม 300 ล้านบาท มี 1,300 ข้อเสนอ เสียดายแทนความพยายามอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปวางกลไกเงื่อนไขไว้มาก ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูป 5 ปี แผนสภาพัฒน์อีก 5 ปีหวังว่าคราวหน้าจะเห็นความก้าวหน้าที่มากกว่านี้คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป" น.ส.ศิริกัญญา อภิปราย
 

         ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ตนไม่เชื่อว่าเป็นการปฏิรูปประเทศได้ เพราะแผนปฏิบัติไม่ชัดเจน หรือทำอย่างจริงจัง เพราะไม่มีการประเมินผลความก้าวหน้า รวมถึงความสำเร็จ อาทิ แผนปฏิรูปว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมาพบว่าทำให้การปฏิรูปการเมืองถอยหลังเพราะพบการซื้อเสียงเลือกตั้งมากที่สุด ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. อาทิ นำเงินพรรคการเมือง ไปให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บนสถานที่ราชการอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งตนสงสัยว่าคนที่เขียนแผนปฏิรูปคือคนที่โกงการเลือกตั้ง และใช้อำนาจรัฐที่เรียกว่าไม่อายชาวบ้าน เพื่อหวังแค่การชนะเลือกตั้งเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงการปฏิรูปการเมือง ทั้งนี้ที่ระบุว่าต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ตนอยากทราบว่าจะทำได้ชาติไหน อย่างไรก็ตามก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมาตนพบการลงพื้นที่ของอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในจังหวัดต่างๆ ตนสอบถามว่าทำไมถึงทำแบบนั้น ซึ่งได้รับคำตอบคือ หากไม่ลงพื้นที่รอบหน้าจะไม่ได้รับเลือกให้มาเป็น ส.ว. ดังนั้นตนมีคำถามต่อการทำหน้าที่ที่เป็นกลางของส.ว. ด้วย


          ต่อมาเมื่อเวลา 17.10 น. นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อภิปรายด้วยว่า ตนเห็นด้วยหมวดปฏิรูปสามารถปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ทั้งนี้ในแนวทางของการปฏิรูป กำหนดให้มีคณะกรรมการ รายละเอียดงาน อาทิ แผนปฏิรูปเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีผลผูกพันทุกหน่วยงานราชการ รวมถึงติดตามและลงโทษ หากพบว่าไม่มีการดำเนินงานปฏิรูปในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังกำหนดให้รายงานความคืบหน้าของการทำงานด้วย ขณะที่ปัญหาของการดำเนินงานปฏิรูป คือ การตั้งกรรมการที่มาจากภาครัฐมากกว่าภาคประชาชน รวมถึงขาดความหลากหลาย รวมถึงจัดทำแผน ภายใน 60 วัน ที่ขาดความชัดเจนและนำเป้าหมายไปสู่ประชาชน

 

          "กรรมการปฏิรูปลาออกจำนวนมาก ทำให้ทั้ง 11 ด้านมีปัญหา บางคณะมีเพียง 2 คน จากทั้งหมด 12 คน หรือบางคณะหายจนทำงานไม่ได้ นอกจากนั้นงานปฏิรูปมีระบบเสนองบประมาณและฐานการเสนอของบประมาณที่ลักลั่น และมีปัญหาเกือบทุกคณะ ผมขอเสนอแนะว่า ครม.ชุดใหม่ ต้องตั้งกรรมการปฏิรูปที่มีความหลากหลาย รวมถึงรื้อแผนปฏิรูป และให้ประชาชนแสดงความเห็น เพื่อเกิดการมีส่วนร่วมและยอมรับ"​ นายนิกร กล่าว.


logoline

ข่าวที่น่าสนใจ