ข่าว

 บทเรียนรัฐพัฒนาแหล่งน้ำ ชะลอ4โครงการใต้"ได้ไม่คุ้มเสีย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 บทเรียนรัฐกับการพัฒนาแหล่งน้ำ  ชะลอ4โครงการใต้"ได้ไม่คุ้มเสีย" 

 

            แม้จะให้มีการชะลอการก่อสร้างออกไปก่อนเป็นการชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา สำหรับ 4 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคใต้ ประกอบด้วย โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการคลองประ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยรัฐบาลได้ชะลอการดำเนินก่อสร้างออกไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการร่วมกัน 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน ตามที่เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง เสนอก็ตาม

             ทว่าหากมองอีกด้านหนึ่ง เท่าเป็นการยืดระยะเวลาในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำออกไปอีก ปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ยังอยู่เหมือนเดิม ความเสียหายก็ยังมีเหมือนเดิม

  

               คณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายประชาชน ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายหน่วยงานของรัฐ จะทำหน้าที่ประเมินเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างทางเลือกทางการจัดการน้ำ ศึกษาว่าโครงการทั้ง 4 โครงการ สามารถแก้ปัญหาตามที่ระบุไว้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สรุปแนวทางการจัดการน้ำที่ดีที่สุด ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และวิถีชีวิตประชาชนที่จะได้รับความเดือดร้อน โดยการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มเป้าหมาย มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

               ในขณะที่ทั้ง 4 โครงการได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างแล้ว 2 โครงการคือ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบฯ ซึ่งได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ทำกระบวนการสร้างการรับรู้แก่ชาวบ้านไปหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เห็นด้วย คณะรัฐมนตรีถึงได้เห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ฯ และโครงการคลองประฯ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบ 

              “กำนันและผู้ใหญ่บ้านรู้จักลูกบ้านดี สามารถนำข้อมูลทะเบียนราษฎร์มากางดูได้เลยว่าใครมีชื่อและทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ใด แล้วหากพบว่าคนที่อยู่ต่างพื้นที่หรือผู้ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการมาเกี่ยวข้อง ต้องถามว่ามีเหตุผลใดจึงมาแสดงความคิดเห็น ทำไมจึงต้องไปร่วมประท้วงคัดค้าน มีวัตถุประสงค์ใดแอบแฝงหรือไม่”

              ยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ให้มุมมองในประเด็นการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านให้ยกเลิกการก่อสร้าง 4 โครงการดังกล่าว โดยมองว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ที่ไปประท้วงหน้ากระทรวงเกษตรฯ และทำเนียบรัฐบาลนั้นเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทั้ง 4 แห่งจริงหรือไม่ จึงเสนอให้ใช้กลไกการมีส่วนร่วมภาคประชาชนผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านในแต่ละอำเภอที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้ง 4 โครงการ รวมทั้งอำเภอที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ โดยจัดประชุมหมู่บ้านตามมาตรา 27 ซึ่งตามปกติมีการประชุมทุกเดือนอยู่แล้ว และหากมีวาระเร่งด่วนสามารถเรียกประชุมได้ทันที ให้ลูกบ้านแต่ละพื้นที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นให้ชัดเจนว่า มีผู้เห็นด้วยจำนวนเท่าไร ไม่เห็นด้วยเท่าไร และมีเหตุผลอะไร ซึ่งสามารถดำเนินการได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมาประท้วงที่กรุงเทพฯ 

               ยงยศ ย้ำด้วยว่า เพื่อให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ให้มาประชุมหมู่บ้าน เมื่อได้รับข้อมูลและความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างหรือพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการออกมาเป็นอย่างไร กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่รวบรวมเสนอรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าจะยังดำเนินการก่อสร้างหรือยกเลิกการก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง 

               ประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เผยความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ ว่านอกจากคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างแล้ว ยังเคยมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เร่งรัดการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 3 ปี คือภายในปี 2563 พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการขับเคลื่อนโครงการด้านบริหารจัดการน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย 

               “ขณะนี้การก่อสร้างอยู่ระหว่างการดำเนินงานแต่ก็ต้องชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน ซึ่งอาจจะทำให้งานล่าช้ากว่ากำหนด ปัญหาน้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราชก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ยังคงเป็นปัญหาต่อไป ความเสียหายในแต่ละปียังเกิดขึ้นซ้ำซาก ในฤดูฝนที่ผ่านมาเกิดภาวะน้ำท่วมถึง 3 ครั้ง ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงเรียกร้องให้กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อลดความเสียหายจากน้ำที่เกิดขึ้นในแต่ละปี”

               ทั้งนี้ หากโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึงร้อยละ 90 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง คิดเป็นครัวเรือน
ที่ได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน สามารถเก็บกักน้ำต้นทุนเพื่อกิจกรรมการใช้น้ำในด้านต่างๆ ในฤดูแล้งประมาณ 5.5 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์อยู่บริเวณสองฝั่งคลองระบายน้ำ ประมาณ 17,400 ไร่ มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (อีไออาร์อาร์) เท่ากับร้อยละ 9.84 

               ส่วนอีกโครงการคืออ่างเก็บน้ำวังหีบฯ โดยมีแผนดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 งบประมาณทั้งสิ้น 2,377.64 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2533 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปิดกั้นคลองวังหีบและอ่างเก็บน้ำสาขา ที่บริเวณบ้านนาหลวงเสนและบ้านนาประดิษฐ์ ตลอดจนฝายทดน้ำต่างๆ ในเขต อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก ตามที่ราษฎรได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานแหล่งเก็บกักน้ำเขต อ.ทุ่งสง 

                วังหีบเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุ 20.10 ล้าน ลบ.ม. ได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เมื่อปี 2552 และปี 2557 ต่อมาปี 2559 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบต่อรายงานอีไอเอ ผ่านการสำรวจ ออกแบบมาเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้ดำเนินการการมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดประชุมชี้แจงเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นราษฎรผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2550 จนถึงเดือนธันวาคม 2560 ทั้งหมดรวม 55 ครั้ง สรุปประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ก่อสร้างโครงการวังหีบฯ 

                ส่วนที่เหลืออีก 2 โครงการที่รัฐบาลให้ชะลอออกไปคือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ฯ จ.นครศรีธรรมราช เป็นอ่างฯ ขนาดกลาง มีความจุ 36.57 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 11,200 ไร่ และโครงการคลองประฯ จ.พัทลุง เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมอาคารควบคุมน้ำ สถานีสูบน้ำ และการขุดลอดคลองธรรมชาติ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 49,800 ไร่ และช่วยป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มเข้ามาในคลองประและคลองสาขา ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบ แม้ทั้ง 2 โครงการยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรี แต่ในการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยทั้งสิ้น 

                                         

 

 เกษตรกรมั่นใจ“อ่างฯวังหีบ”แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

           ประเวศ เกศรินทร์ เกษตรกรอายุ 50 ปี หมู่ 1 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง ปลูกยาง 20 ไร่ สวนผลไม้ 7 ไร่ พร้อมเลี้ยงปศุสัตว์ กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2533 เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งน้ำจำนวนมากในฤดูฝนจะไหลลงทะเลฝั่งอันดามันทั้งหมด ไม่มีที่กักเก็บ พอถึงฤดูแล้งน้ำจึงขาดแคลน หากสร้างอ่างฯ แล้ว จะทำให้มีที่เก็บน้ำไว้ให้ราษฎรหมู่ 1 และ หมู่ 5 ต.นาหลวงเสนกว่า 4,000 ครัวเรือน และราษฎรตำบลใกล้เคียงเช่น ต.ชะมาย ต.หนองหงส์ ต.ถ้ำใหญ่ ต.ที่วัง และ ต.นาไม้ไผ่ มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร การปศุสัตว์อย่างพอเพียง

           ประเวศ ระบุอีกว่า ผู้ที่คัดค้านการสร้างอ่างฯ วังหีบนั้น เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนด้านบนประมาณ 70 หลังคาเรือน ที่นายทุนเข้ามาแผ้วถาง จับจองและบุกรุก ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นท่ี่ที่ไม่ได้รับผลกระทบร่วมประท้วงด้วย จึงอยากให้ภาครัฐบาล นักวิชาการ และประชาชนมาสำรวจลงพื้นที่ร่วมกัน จะได้เห็นสภาพพื้นที่สร้างอ่างฯ ที่แท้จริงว่าโดนบุกรุกและเสื่อมโทรมมากน้อยแค่ไหน

             “ประชาชนในพื้นที่กว่าร้อยละ 90 ต้องการให้สร้างอ่างฯ เพราะจะเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวม ประชาชนกว่า 150,000 คน ในเขต อ.ทุ่งสง ตลอดจนหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงานต่างๆ จะได้รับประโยชน์โดยตรง ถ้าหากวันนี้ไม่มีอ่างฯ ต่อไปข้างหน้าอีก 5-10 ปี เมืองทุ่งสงจะเกิดวิกฤติขาดน้ำอย่างแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันมกราคม-พฤษภาคม ถ้าไม่มีน้ำฝน สวนผลไม้ เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน จะยืนต้นล้มตายจำนวนมาก ต้องดึงน้ำจากคลองมาเข้าทำนาลำบากเพราะคลองอยู่ต่ำกว่าที่นา ซึ่งส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนมาปลูกยางพารา สวนทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น” เกษตรกรรายเดิมกล่าว 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ