ข่าว

เลื่อนอ่านฎีกา 6 แกนนำ พธม. บุกทำเนียบ เป็น 13 ก.พ. นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สุริยะใส อดีตผู้ประสานงาน พธม. ป่วยส่งใบรับรองแพทย์แจ้งศาลเป็นความดันสูง ศาลให้โอกาสรออ่านฎีกา 6 แกนนำ พธม. บุกทำเนียบ เช้า 13 ก.พ. นี้

 

               1 ก.พ. 62 ที่ ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.  ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีอดีตแกนนำพันธมิตรฯ บุกทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551 หมายเลขดำ อ.4925/2555 ที่ พ.ต.ต.สุรพงษ์ สายวงศ์ อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี , นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี , นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี อดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1 - 6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์กรณีบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 , 362 และ 365

 

 

 

               โดยวันนี้ ศาลได้เบิกตัว "นายสนธิ" จำเลยที่ 2 มาจากเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งรับโทษจำคุก 20 ปี คดี พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อมาฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมฯ วันนี้ ส่วน พล.ต.จำลอง , นายพิภพ , นายสมเกียรติ์ , นายสมศักดิ์ ที่ได้ประกันตัวระหว่างฎีกาสู้คดี คนละ 200,000 บาท ก็เดินทางมาพร้อมฟังคำพิพากษา ขาดเพียง "นายสุริยะใส" จำเลยที่ 6 ไม่มาศาล เนื่องจากป่วย โดยทนายความนำใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อศาล ซึ่งเมื่อถึงเวลานัด ทนายความจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า "นายสุริยะใส" จำเลยที่ 6 มีอาการป่วย ท้องเสีย และความดันโลหิตสูง จึงไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ พร้อมแสดงใบรับรองแพทย์ต่อศาล ขณะที่ "นายสนธิ" จำเลยที่ 2 ก็ได้แถลงต่อศาล ขอถอนคำร้องขอถอนฎีกาที่ได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา

               ทั้งนี้ "ศาล" พิเคราะห์แล้วเห็นว่า "นายสุริยะใส" จำเลย 6 มีการป่วย ท้องเสีย และความดันโลหิตสูง โดยเข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา และมีใบร้องแพทย์ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 6 มีอาการป่วยจริง ทำให้ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ ส่วนนายสนธิ ศาลก็อนุญาตให้ถอนคำร้องขอถอนฎีกาได้ โดย "ศาล" เห็นควรเลื่อนไปอ่านคำพิพากษาฎีกาอีกครั้ง ในวันที่ 13 ก.พ. นี้ เวลา 10.00 น.

               ขณะที่ "นายพิภพ" กล่าวถึงคดีว่า ไม่มีความกังวลใจอะไร เนื่องจากตนเองและคนอื่นๆ ต่อสู้เพื่อความถูกต้องมาโดยตลอด แม้ว่าผลการตัดสินจะออกมาว่าติดคุกก็จะไปทำงานในคุก เราเป็นนักวิชาการก็เข้าไปคุยกับคนยากจนที่อยู่ในคุกได้ ด้าน "นายสมเกียรติ" กล่าวว่า ตนอยากให้สังคมได้ตื่นตัว เพราะเราต่อสู้เพื่อชาติมาตลอด จะติดคุกหรือไม่ติดคุกรับได้ทั้งนั้น ตนภูมิใจและดีใจมากที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวกับประชาชนนับแสนคน ไม่มีครั้งใดที่ภูมิใจเท่าครั้งนี้

 

 

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 55 บรรยายความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 51 ผู้ชุมนุมกลุ่ม พธม. ซึ่งมีจำเลยดังกล่าวเป็นแกนนำได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อกดดันให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ ต่อมาหลังจากนายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และมีกำหนดวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค. 51 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 51 เวลากลางวัน จำเลยทั้งหกกับพวกก็ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลโดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลทุกด้าน ได้ใช้เครื่องมือทำลายกุญแจประตูทำเนียบ ผลักดันแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในทำเนียบรัฐบาล แล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งนำรถ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลแล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย

               โดยช่วงวันที่ 26 ส.ค. 51 - 3 ธ.ค. 51 ระหว่างที่พวกจำเลยจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาล มีผู้ชุมนุมจำนวนมากเหยียบสนามหญ้า ต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนามหน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งมีการนำถุงดำห่อหุ้มกล้องวงจรปิด เมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้ม ทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกล้องวงจรปิดเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท โดยจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธ

 

 

 

               กระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 58 ว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาจำเลยทั้งหกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี และมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 60 ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยทั้งหกซึ่งมีการศึกษา ย่อมต้องรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมายที่ทำให้เสียทรัพย์ราชการและส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยกระทบต่อเนื่องถึงประโยชน์สาธารณะ และล่วงเลยจากขอบข่ายการแสดงออกทางประชาธิปไตย แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งหกไม่ได้มุ่งเน้นประโยชน์ส่วนตนเพื่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ได้ประทุษร้ายบุคคล อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน โดยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี นั้นหนักเกินไป เห็นควรปรับบทลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ จึงพิพากษาแก้ เป็นจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้งหก คนละ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

 

 

 

เลื่อนอ่านฎีกา 6 แกนนำ พธม. บุกทำเนียบ เป็น 13 ก.พ. นี้

 

 

 

เลื่อนอ่านฎีกา 6 แกนนำ พธม. บุกทำเนียบ เป็น 13 ก.พ. นี้

 

 

 

เลื่อนอ่านฎีกา 6 แกนนำ พธม. บุกทำเนียบ เป็น 13 ก.พ. นี้

 

 

 

เลื่อนอ่านฎีกา 6 แกนนำ พธม. บุกทำเนียบ เป็น 13 ก.พ. นี้

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ