Lifestyle

5 วิธี ฮีลใจ จากความ ผิดหวัง ทาง 'การเมือง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความ 'ผิดหวัง' ทาง 'การเมือง' ไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ และจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ในช่วงที่สถานการณ์ การเมือง กำลังคุกรุ่น ระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลายคนเกิดอาการ ผิดหวัง จากสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย จนไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ และแสดงออกในสิ่งที่ผิดแปลกไปจากพฤติกรรมปกติ อาทิ ด่าทอ ก้าวร้าว เกรี้ยวกราด เป็นต้น หรือบางคนอาจเป็นมากเข้าขั้นป่วยซึมเศร้าทีเดียว

 

 

 

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า อาการ ผิดหวัง จาก การเมือง Political Stress Syndrome : PSS ไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ และจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้มีอาการทางกาย จิตใจ และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีลักษณะสำคัญ 3 ข้อ

 

  1. อาการทางกาย เช่น ตึงขมับหรือต้นคอ นอนไม่หลับ ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม แน่นท้อง ชาตามร่างกาย ฯลฯ
  2. อาการทางใจ เช่น หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย สิ้นหวัง ฟุ้งซ่าน หมกมุ่น ฯลฯ
  3. ปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น โต้เถียงกับผู้อื่นหรือคนในครอบครัวโดยใช้อารมณ์ อาจนำไปสู่ใช้กำลังจนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง เป็นต้น

 

 

สำหรับ 5 วิธี ฮีลใจ จากความ ผิดหวัง ทาง การเมือง สามารถทำได้ดังนี้

 

  1. หยุดเสพข่าวสารทางการเมือง แล้วกันมาเสพสิ่งบันเทิงเริงใจ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือ อาจจะหยิบหนังสือเล่มโปรดมาอ่านอีกครั้ง วันไหนที่ต้องเจอกับอะไรแย่ๆ การเสพสิ่งบันเทิงเริงใจก็ทำให้มีรอยยิ้ม เติมความสุขได้ง่ายๆ
  2. อยู่กับธรรมชาติ เมื่อรู้สึกเศร้า ไม่ควรขังตัวเองไว้ในบ้าน แต่พยายามออกไปพบเจอโลกภายนอก ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ท่ามกลางแสงแดดและต้นไม้ใบหญ้า เพราะแสงแดดช่วยเพิ่มวิตามินดี กระตุ้นการหลั่งสารเซโรโทนิน ในสมองทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้สารเคมีไฟโตไซด์ ที่พืชปล่อยออกมายังมีสามารถช่วยให้จิตใจสงบอีกด้วย
  3. ระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจออกไปกับคนที่สนิทใจ แม้บางครั้งพวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถช่วยอะไร แต่อย่างน้อยคุณก็ไม่ต้องแบกรับความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้คนเดียวอีก แต่ถ้าใครกังวลว่าการระบายออกไปจะทำให้คนฟังเครียดตามไปด้วย ลองหันมาระบายความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้น ลงบนกระดาษหรือผืนผ้าใบ วิธีนี้อาจช่วยทำให้ใจโล่งขึ้น สงบนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่านได้เหมือนกัน
  4. หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่กระตุ้นความเศร้า เราต้องสังเกตว่า ช่วงเวลาใดที่รู้สึกไม่สบายใจ เป็นทุกข์ เหมือนอารมณ์ถูกฉุดกระชากให้ดิ่งลงเหว เมื่อพบต้นเหตุ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าเหล่านั้น แม้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่การที่เราตระหนักถึงต้นเหตุก็จะช่วยรั้งสติและลดผลกระทบที่มีต่ออาการซึมเศร้าลงได้บ้าง
  5. เรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงลบ เพราะอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า หากปล่อยปละให้เติบโตขึ้น อาจจะพัฒนาไปถึงขั้นคิดร้ายต่อตัวเองได้ เราต้องรู้เท่าทันและเรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลงความคิดในเชิงลบ ก่อนที่จะลุกลามบานปลายและสายเกินแก้ เช่น

 

  • ฝึกมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่มีอยู่ หรือเป็นอยู่
  • ฝึกสติ รู้ทันความคิดของตัวเอง พิจารณาด้วยเหตุผล ไม่ด่วนสรุป
  • เรียนรู้ที่จะรับฟังคำวิจารณ์ ฝึกปฏิเสธ และยืนหยัด
  • จดบันทึกอารมณ์ ความรู้สึก และความคิด
  • ฝึกยิ้ม

 

การปรับเปลี่ยนความคิดเชิงลบเป็นกระบวนการที่ไม่ได้เกิดง่าย ทุกอย่างต้องอาศัยการฝึกฝน ปรับเปลี่ยนทีละเล็กละน้อย ซึ่งอาจจะรู้สึกฝืนในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่จะส่งผลดีในระยะยาวอย่างแน่นอน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ